ส.ว.ร้อนๆ มาแล้วจร้า โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในที่สุดผลการเลือกตั้ง ส.ว.ก็ไปออกมาแล้วในรอบแรก

ยังความตื่นตาตื่นใจให้กับประชาชนและสื่อในระดับหนึ่ง กับผลการเลือกตั้งนี้ เพราะมีเรื่องให้วิเคราะห์และสัมภาษณ์กันมากมายในหน้าสื่อ

สุดท้ายผลการเลือกตั้ง ส.ว.ในรอบนี้ก็เป็นเหมือนดังที่บทความเก่าของผมเมื่อ 7 พ.ค.2567 ในมติชนที่ได้ทำนายไว้ว่า

“และการเลือกตั้ง ส.ว.ในรอบนี้จะไม่ได้ทำหน้าที่สำคัญ คือ สร้างความชอบธรรมให้กับระบอบการเมืองที่เป็นอยู่”

Advertisement

ส่วนผลสุดท้ายว่า บทบาทของ ส.ว.ในรอบนี้จะเป็นอย่างไรในการเมืองรัฐสภาก็คงต้องดูกันต่อไป

เพราะหากไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญจนเป็นผลสำเร็จ ส.ว.ชุดนี้นอกจากจะทำหน้าที่ไปเรื่อยๆ ในสมัยการเลือกตั้งนี้ และจะยังทำหน้าที่ต่อในการเลือกตั้งในสมัยหน้าอีกด้วย

ซึ่งผมเชื่อว่า ส.ว.ชุดใหม่นี้จะอยู่ต่อแน่ๆ เพราะ ส.ว.ชุดใหม่นี้ไม่ได้มีทรรศนะและจุดยืนในเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ

Advertisement

และนั่นคือเรื่องที่สำคัญที่สุด มากกว่าเรื่องของการถกเถียง หรือแซะกันเฉพาะเรื่องภูมิหลัง ส.ว.ว่าแต่ละคนนั้นมาจากกลุ่มอาชีพที่อ้างว่าเป็นตัวแทนจริงไหม

อีกส่วนที่มีความน่าสนใจตามที่ว่ากันหน้าสื่อก็คือ ระบบการเลือกไขว้ กับ เรื่องของผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา
ที่ผลการเลือกตั้งมีลักษณะชวนให้สงสัยได้ว่าตกลงมีการจัดตั้ง หรือฮั้วกันได้ไหม เพราะคะแนนมีลักษณะกระจุกตัวในบางพื้นที่ และมีลักษณะของคะแนนที่กระจุกตัวอยู่ในระดับห้าถึงหกสิบคะแนน และก็มีอีกชุดคะแนนที่อยู่ประมาณยี่สิบ เกาะกันไปเช่นนี้ทุกกลุ่ม

ความน่าสนใจอยู่ที่จนถึงวันนี้ การวิเคราะห์ยังเป็นไปได้แค่ในระดับของการคาดเดาว่าทั้งหมดนี้มาจากการฮั้วกัน หรือการจัดตั้ง แต่ถ้าดูหลายๆ สัญญาณจะพบว่าเรื่องนี้คงไม่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญออกมาการันตีตั้งแต่ไก่โห่แล้วว่าการเลือกตั้งรอบนี้ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญ

ซึ่งถ้าเป็นจริงคำถามที่ท้าทายก็คือ การตีโจทย์การเลือกตั้งรอบนี้โดยพลังทางสังคมต่างๆ นั้นเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เฉพาะฝั่งส้มเท่านั้น (เพียงแต่เขาไม่พูด)

คำถามจึงไปอยู่ที่ว่า ใครทำได้ “ถึง” กว่ากัน (หมายความว่าเราจะสามารถหาความจริงได้ด้วยได้ตกลงแล้วขนาดเลือกไขว้เสียขนาดนี้แล้วยังได้มาขนาดนี้ คำถามคือ ถ้าประชาชนจะรวมตัวกันสร้างเครือข่ายเช่นนี้บ้าง พวกเขาจะต้องสร้างขบวนการที่ใช้ทรัพยากรระดับไหนที่มากกว่าในรอบนี้)

แต่ก่อนที่จะไปหาความแม่นยำในระดับนั้น คำถามที่มีกับความเป็นจริงทางการเมืองต่อหน้าเราในรอบนี้ก็คือ เราจะเข้าใจ “เครือข่ายทางการเมืองรูปแบบใหม่” ที่ปรากฏขึ้นนี้ได้ลึกซึ้งแค่ไหน

หมายถึงว่าผลของการเลือกตั้ง ส.ว.นี้ เหมือนหรือแตกต่างไปจากผลการเลือกตั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่นที่ผ่านมาอย่างไร ทั้งในแง่แบบแผน โครงสร้าง และพลวัต

หมายถึงว่า เราจะเข้าใจมันในฐานะที่เป็น “บ้านใหญ่” หรือ “พรรค/บ้านสี” หรือมันคือปรากฏการณ์ใหม่ที่เราไม่เข้าใจ

เพราะเรายังหมกมุ่นกับเรื่องของการเข้าใจว่าระบบบ้านใหญ่เป็นเรื่องท้องถิ่น แล้วระบบพรรคเป็นเรื่องส่วนกลาง เพราะยังเอาไทยรักไทย/เพื่อไทย เป็นตัวตั้ง เอาประชาธิปปัตย์เป็นตัวตั้ง เอารวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐเป็นตัวตั้ง

ลืมเอาภูมิใจไทยเป็นตัวตั้งในการทำความเข้าใจว่าเส้นแบ่งของพรรคกับของบ้านใหญ่นั้นไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

ขาดความเข้าใจเครือข่ายทางการเมืองในรูปแบบใหม่ๆ

ลืมจนตื่นเต้นแต่กับเรื่องของเครือข่ายออนไลน์แยกขาดจากเครือข่ายออฟไลน์หรือไม่

การทำความเข้าใจเครือข่ายระบบราชการ เครือข่ายท้องถิ่น การเชื่อมประสานกับพรรค ระบบเหล่านี้มีมานาน แต่เราขาดความเข้าใจและศึกษาอย่างลึกซึ้ง เราจึงมองการเลือกตั้งเป็นเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่สี่ปีพูดกันทีศึกษากันที

ขณะที่เครือข่ายอำนาจเหล่านี้แผ่กระจายลงในท้องถิ่น และมีพลวัตสูงมาก การเชื่อมโยงที่เน้นแต่ในช่วงการเลือกตั้ง-ชั่วครั้งคราวจึงไม่เพียงพอที่จะได้มาซึ่งอำนาจในสถาบันการเมืองอย่างที่เป็นอยู่

ล่าสุดนิด้าโพล ยังสำรวจเรื่องคนที่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี คือ อนุทินได้ที่ เจ็ดด้วยคะแนน ร้อยละ 2.05 และพรรคภูมิใจไทยไม่ติดสักโผ !!! แต่สิ่งที่พบในผลการเลือกตั้งทั้งในระดับประเทศนี้ทำให้คงต้องคิดอะไรกันใหม่อีกมากหละครับ รอบนี้

ประการต่อมาก็คือ เรื่องของการตั้งคำถามที่กว้างขึ้นในเรื่อง ส.ว. ซึ่งผมอยากจะชวนคิดกันต่อว่าในช่วงที่ผ่านมา ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ตั้งคำถามกับ ส.ว.ในแง่ของความชอบธรรม

คำถามในเรื่องของความชอบธรรมนั้นยังมีประเด็นที่ทำให้เราคิดต่อไปได้อีก

จากความเข้าใจเดิมที่เรามองไปว่าเมื่อเราพูดเรื่องความชอบธรรมมันหมายถึงสองเรื่องใหญ่คือ ที่มาของความชอบธรรมที่หลายมุมอาจมองว่าไม่ชอบธรรมเอาเสียเลย ด้วยความชอบธรรมอาจรวมไปถึงเรื่องของการใช้อำนาจบังคับ ใช้ปืนจ่อหัว

มาสู่เรื่องของความชอบธรรมในความหมายที่ว่ามันเป็นเรื่องของการยอมรับว่าสถาบันทางการเมืองเหล่านั้นสามารถตัดสินใจในแบบที่แตกต่างจากเรา และยังคงอยู่ได้โดยไม่ได้ใช้อาวุธ หรืออำนาจดิบบังคับเรา

และอีกมิติหนึ่งก็คือ สถาบันทางการเมืองเหล่านั้น ถ้าเราไม่ได้มองแค่ในเชิงปริมาณ คือ มีมากน้อย เราจะมีมุมมองเรื่องความชอบธรรมของสถาบันทางการเมืองในมุมอื่นได้อย่างไรบ้าง

ในงานวิจัยล่าสุดของ James L.Gibson. ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน-เซนต์หลุยส์ ที่นำเสนอภายใต้การสนับสนุนของสภาวิจัยทางสังคมศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา (SSRN)
เขาได้ทำการประเมินความชอบธรรมในเชิงสถาบันของวุฒิสภาของสหรัฐไว้อย่างน่าสนใจ (J.L. Gibson. Assessing the Institutional Legitimacy of the U.S. Senate: Introducing a New Measure of Diffuse Support. SSRN4547128. 21 August 2023)

ข้อค้นพบสำคัญสามประการของกิปสันก็คือ หนึ่ง การตั้งคำถามเรื่องของความชอบธรรมของวุฒิสภานั้นมีความสำคัญและคนศึกษาเรื่องนี้น้อย

สอง เขาพบว่าวุฒิสภาของสหรัฐนั้น หากจะศึกษาเรื่องความชอบธรรมเชิงสถาบัน ควรศึกษาเทียบเคียงกับเรื่องของความชอบธรรมเชิงสถาบันของศาลสูงสหรัฐ ซึ่งทั้งสองสถาบันมีความชอบธรรมไม่ต่างกันนัก

และสาม เรื่องที่เห็นได้อย่างชัดเจนของความชอบธรรมของวุฒิสภาก็คือ การสนับสนุนต่อสถาบัน
การเมืองนั้นๆ หรือความชอบธรรมของสถาบันทางการเมืองนั้นแม้ว่าอาจจะคิดและตัดสินใจต่างกับเรานั้นมีหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญก็คือความมุ่งมั่นทุ่มเทของประชาชนที่มีต่อคุณค่าของประชาธิปไตยในภาพรวม นั่นหมายความว่าความรู้สึกที่ประชาชนมีต่อประชาธิปไตยนั้นเป็นอย่างไร เขาก็มีความรู้สึกต่อสถาบันทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะในกรณีนี้วุฒิสภาเช่นนั้น ซึ่งเรื่องนี้กิบสันเหมือนจะให้ความสำคัญมากกว่าข้อค้นพบของเขาเองว่า คนผิวขาวดูจะให้ความสำคัญ หรือสนับสนุนการมีอยู่ของวุฒิสภามากกว่าคนผิวดำ และสีผิวอื่นๆ

ข้อค้นพบย่อยที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของกิบสันก็คือ คนที่สนับสนุนวุฒิสภานั้นกลายเป็นว่าพวกที่ยืนยันตนว่ามาจากพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามกันกลับมีมากที่สุด คือ พวกเดโมแครตก็พวกรีพับลิกันก็สนับสนุน แต่ความแตกต่างกับพวกนี้ไม่ได้ประกาศตนชัดๆ ว่าอยู่พรรคไหนสักเท่าไหร่

อีกความเชื่อมโยงหนึ่งระหว่างความชอบธรรมของสถาบันทางการเมืองของศาลสูงของสหรัฐ กับ วุฒิสภาของสหรัฐก็คือ ประชาชนชื่อมโยงความชอบธรรมองศาลสูงกับความเชื่อมั่นในเรื่องของการปกครองด้วยหลักนิติรัฐนิติธรรม คือเชื่อว่ากฎหมายศักดิ์สิทธิ์ คุ้มครองพวกเขาและสิทธิเสรีภาพของพวกเขาได้ และเรื่องนี้ก็มีส่วนที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในการที่วุฒิสภานั้นมีผลต่อกระบวนการออกกฎหมาย และการปกครองด้วยกฎหมาย แม้ว่าความชอบธรรมเชิงสถาบันของคนอเมริกันต่อวุฒิสภาจะแตกต่างกันในทางผิวสีมาก
กว่าเรื่องของการเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับพรรคการเมือง

ส่วนความชอบธรรมของวุฒิสภาที่ชัดกว่าเรื่องของความชอบธรรมของศาลสูงในมุมของประชาชนคือ เรื่องของคุณค่าประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงว่าวุฒิสภาเมื่อตัดสินใจอะไรแล้วมันจะต้องมีระดับของความพร้อมรับผิด หรืออธิบายที่มาที่ไปได้ต่อเสียงข้างมากได้ ว่าทำไมจึงตัดสินใจเช่นนั้น (some degree of accountability to the majority) แต่ความแตกต่างของความชอบธรรมเชิงสถาบันของวุฒิสภากับศาลสูงในสหรัฐอีกประการที่สำคัญก็คือ ความชอบธรรมของวุฒิสภานั้นอาจถูกทำลายลงในระดับหนึ่งได้ด้วยมิติของการต่อต้านวิธีคิดและปกครองโดยเสียงข้างมาก เช่น การไม่เชื่อว่าคนแต่ละคนนั้นมีเสียงเท่ากันและมีอำนาจเท่ากัน

รวมไปถึงการแตะถ่วงการตัดสินใจโดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เช่น ฝ่ายค้านในสภาให้นานที่สุด เช่น การอภิปรายไปเรื่อยๆ เพื่อให้การตัดสินใจสำคัญนั้นยืดเยื้อออกไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คงต้องมาขบคิดในสังคมไทยก็คือ ความชอบธรรมเชิงสถาบันของศาลรัฐธรรมนูญของไทย และวุฒิสมาชิกของไทยนั้นอาจไม่ได้เชื่อมโยงกับคุณค่าของประชาธิปไตย และการเชื่อมโยงเชิงหลักนิติรัฐนิติธรรมในลักษณะเดียวกับของสหรัฐอเมริกา ที่มาของทั้งสองสถาบันทางการเมืองก็ไม่ได้มาจาก
กระบวนการเดียวกับในสหรัฐอเมริกา

ประเด็นไม่ได้อยู่แค่การมองว่ากระบวนการได้มาของสองสถาบันทางการเมืองนี้ยึดโยงกับประชาชนแค่ไหน ใครตั้ง และโหวตไขว้ หรือไม่ไขว้

แต่มันเป็นเรื่องของเป้าหมายและจินตนาการทางการเมือง รวมทั้งเรื่องราวในแต่ละวันที่สถาบันทางการเมืองทั้งสองสถาบันนี้นั้นทำงานอยู่ ว่าพวกเขาอยู่ไปเพื่ออะไร และทำงานเพื่อพาสังคมไปสู่การเมืองแบบไหน ยอมรับอย่างโปร่งใสได้ไหมว่าในการตัดสินใจและการตัดสินนั้นทำไปเพื่ออะไร

และคุณค่าอะไรคือ สิ่งที่พวกเขาเคารพบูชา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image