โตโยต้ารุกคืบเครื่อง‘ไฮโดรเจน’ ‘โมริโซะ’ลุยเอง‘ฟูจิ สปีดเวย์’

นับเป็นความก้าวหน้าไปอีกขั้น สำหรับ ค่ายโตโยต้า ในการพัฒนา เครื่องยนต์พลังงานไฮโดรเจน ตามเป้าหมายลดคาร์บอน ไม่ใช่เพียงแค่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ที่ดูเหมือนค่ายรถยนต์จากจีนจากพัฒนาแซงหน้าค่ายญี่ปุ่นไปอย่างรวดเร็ว ด้วยกลยุทธ์ต้นทุนการผลิตต่ำ 

แต่ค่ายโตโยต้า กำลังพยายามก้าวเหนือขึ้นไปอีกขั้น พัฒนาเครื่องยนต์พลังงานไฮโดรเจนอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะหวังว่าจะนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้ในเร็ววันนี้ ในขณะที่อีกด้าน ค่ายโตโยต้าเองก็กำลังซุ่มผลิตรถอีวีคุณภาพมาตรฐานโตโยต้า เพื่อมาแข่งขันกับรถอีวีจากจีนอย่างขะมักเขม้นเช่นกัน

โตโยต้าและค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ใช้กิจกรรมมอเตอร์สปอร์ต เป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ สำหรับทดสอบพลังงานทางเลือกในรูปแบบใหม่ๆ สำหรับยานยนต์ในอนาคต ไม่ใช่แค่อีวี หรือแม้กระทั่งไฮโดรเจนเท่านั้น

เมื่อวันที่ 25 ..2024 ที่ผ่านมา บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย นำคณะสื่อมวลชนไทย เดินทางไปที่ สนามฟูจิ สปีดเวย์ (Fuji SpeedWay) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อชมการแข่งขันรถยนต์รายการใหญ่ที่สุดรายการหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น จัดระหว่างวันที่ 25-26 ..2024 ในรายการ เอเนออส ซุปเปอร์ ไทคิว ซีรีส์ 2024 เอ็มพาวเวอร์ บาย บริดจสโตน (ENEOS Super Taikyu Series 2024 Empowered by BRIDGESTONE)

Advertisement
อากิโอะ โตโยดะ

งานนี้ ทีมโออาร์ซี รุกกี้ เรซซิ่ง (ORC ROOKIE RACING) นำทีมโดย นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น หรือชื่อที่ใช้ในการแข่งขันว่า โมริโซะ (MORIZO) นำทีมลงแข่ง ในสนามที่ 2 (มีทั้งหมด 7 สนาม) ในรายการ “Round 2 Fuji SUPER TEC 24 Hours Race” คือการแข่งขัน 24 ชั่วโมง รถทัวริ่ง และรถสปอร์ตเพื่อการผลิตที่จัดขึ้นทุกปีที่สนามแห่งนี้

การแข่งขันครั้งนี้ เป็นเหมือนบททดสอบ การพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น และของโลกก็ว่าได้ เพราะค่ายรถญี่ปุ่นแต่ละค่ายต่างนำยานยนต์ใช้พลังงานหลากหลายออกมาโชว์ และทดสอบให้เห็นถึงสมรรถนะกันอย่างเต็มที่ 

สำหรับสนามนี้เป็นสนามที่ 2 เป็นการแข่งขันขับมาราธอน ต่อเนื่อง 24 ชม. แต่ละคันมีนักแข่งสลับสับเปลี่ยนเพื่อทำระยะทางให้ได้มากที่สุด และต้องพยายามให้สามารถอยู่ได้ถึงจบการแข่งขัน

Advertisement

ผลการแข่งขันสำหรับรถหมายเลข 32 โออาร์ซี รุกกี้ จีอาร์ โคโรลล่า ไฮโดรเจน คอนเซ็ปต์ (ORC Rookie GR Corolla H2 concept) เครื่องยนต์ไฮโดรเจน สามารถวิ่งได้ถึง 24 ชม. 2 นาที 21.246 วินาที ระยะทางรวมทั้งสิ้น 332 รอบ ใช้ไฮโดรเจนเหลว 166 กิโลกรัม 

การเซตเครื่องครั้งนี้ วิศวกรกำหนดให้หากปริมาณเชื้อเพลิงเต็มถัง รถจะสามารถรองรับเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแบบเหลวได้ 15 กิโลกรัม จะสามารถวิ่งได้ครบ 30 รอบ (อ้างอิงตามสมมุติฐาน อัตราการบริโภคเชื้อเพลิงที่ 0.5 กิโลกรัมต่อรอบ)

เป้าหมายสำหรับรถยนต์หมายเลข 32 ORC ROOKIE GR Corolla H2 Concept คือการบรรลุระยะทางมากกว่า 30 รอบ หลังจากเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และสามารถวิ่งจนครบ 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องเปลี่ยนปั๊มพลังงานเชื้อเพลิง

แม้ว่ารถจะบรรลุเป้าหมายที่ 31 รอบ แต่ก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับระบบเบรก ABS อันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน ส่งผลให้ต้องหยุดเข้าพิต 3 ครั้งและใช้เวลาอยู่ในพิตประมาณ 8 ชั่วโมงเลยทีเดียว

ครั้งนี้มีการพัฒนาระบบเครื่องยนต์ไฮโดรเจนหลายด้าน เช่น เปลี่ยนเชื้อเพลงจากเดิมเป็นไฮโดรเจนในรูปแบบก๊าซมาเป็นไฮโดรเจนเหลว ข้อดีทำให้ความหนาแน่นต่อหน่วยปริมาตรสูงขึ้น และยังใช้งานไฮโดรเจนเหลวที่แรงดันต่ำได้

การออกแบบถังเก็บจากเดิมเป็นถังแบบกลม เปลี่ยนมาเป็นทรงกระบอกวงรี ประหยัดพื้นที่ และจัดเก็บได้มากขึ้น

ถังไฮโดรเจนเปลี่ยนแบบจากกลมเป็นกระบอกวงรี

ระยะเวลาการเติมพลังงานลดลง ตอนใช้ก๊าซจะใช้เวลาประมาณ 5 นาที เมื่อเป็นของเหลวใช้เวลาเติมเพียง 1 นาที ตอกจากนี้ปริมาตรเติมได้มากขึ้น วิ่งได้ระยะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าเมื่อเทียบกับก๊าซ

รวมถึงลดข้อจำกัดวัสดุใช้ผลิตถังบรรจุไฮโดรเจน จากเดิมเป็นถังคาร์บอนไฟเบอร์หนาๆ และหนัก เปลี่ยนมาใช้โลหะหนาน้อยลงค่อนข้างมาก

จุดสำคัญรถที่ใช้แข่ง นอกจากใช้พลังงานไฮโดรเจนไม่ปล่อยมลพิษแล้ว ยังติดตั้งอุปกรณ์กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ระบบอัตโนมัติ คอยดูดซับ CO2 ที่อยู่ในอากาศรอบๆ ตัวรถ ใส่ไว้ในถังเก็บ จากนั้นนำไปกำจัดต่อไป

การแข่งขันครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จครั้งสำคัญ ตามเป้าหมายการพัฒนาเครื่องยนต์จากพลังงานทางเลือกอื่นๆ นอกจาก น้ำมัน ไฟฟ้า 

ดูเหมือนว่า พลังงานไฮโดรเจน น่าจะเป็นทางเลือกใหม่ของยนตรกรรมยานยนต์ของโลกในอนาคตอันใกล้ สามารถผลิตออกมาใช้งานได้จริงในเร็ววันนี้

เมื่อมีผู้ผลิตรายใหญ่ ไม่เฉพาะโตโยต้า แต่ล่าสุดมีความร่วมมือจากค่ายซูบารุ และมาสด้า รวมถึงท่าทีจากค่ายอื่นๆ ต่างเร่งเดินหน้าพัฒนากันอย่างเต็มที่ด้วยขณะนี้เช่นกัน

นายพล

 

ไฮโดรเจนก้าวไปอีกขั้น

หมายเหตุ บทสัมภาษณ์ นาโออะกิ อิโต (ITO) ผู้อำนวยการโครงการ แผนกพัฒนารถ GR วิศวกรเครื่องยนต์ไฮโดรเจนที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้

การแข่งขันในปีนี้ มีการปรับปรุงด้านใดบ้าง

ITO: เปลี่ยนจากถังเชื้อเพลิงทรงกระบอกวงกลมเป็นทรงกระบอกวงรี และการใช้ไฮโดรเจนเหลวมีข้อดีอยู่ 2 ข้อด้วยกันคือ ข้อแรกเมื่อเปลี่ยนจากก๊าซเป็นของเหลวจะทำให้ความหนาแน่นของพลังงานต่อหน่วยปริมาตรสูงขึ้น ข้อดีข้อที่สองคือสามารถใช้งานไฮโดรเจนเหลวที่แรงดันต่ำได้ ทำให้ออกแบบถังให้มีรูปทรงแตกต่างจากเดิมได้ จากข้อดีสองข้อนี้ เราสามารถบรรจุเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้มากขึ้น 2.5

แรงดันเปลี่ยนจากเท่าไรเป็นเท่าไร

ITO: เท่าเดิม แต่สิ่งที่สองที่เราทำคือ ทำให้ปั๊มจ่ายไฮโดรเจนมีความคงทนมากขึ้น ปั๊มนี้เป็นชิ้นส่วนที่ยากสุดสำหรับเครื่องยนต์ไฮโดรเจน ปีที่แล้ว เราต้องเปลี่ยนปั๊ม 2 ครั้ง สำหรับการวิ่ง 24 ชม. เพราะคงทนไม่พอ แต่ปีนี้เราเปลี่ยนมาใช้ปั๊มที่มีความคงทนเพิ่มมากขึ้น ปีนี้เราตั้งเป้าจะไม่เปลี่ยนปั๊มเลย

แรงดันไม่ต่างคืออะไร เพราะจากก๊าซเปลี่ยนเป็นของเหลว

ITO: เปลี่ยนจากก๊าซเป็นของเหลว จะทำให้ความดันเปลี่ยนไป เพราะถ้าเป็นก๊าซจะมีแรงดัน 70 เมกะปาสคาล แต่ของเหลวมีแรงดันไม่ถึง 1 เมกะปาสคาล คือต่างกันโดยสิ้นเชิง

ความหนาของถังต่างกันเท่าไร

ITO: จากเดิมต้องใช้ถังคาร์บอนไฟเบอร์สำหรับบรรจุก๊าซ แต่เราใช้ถังโลหะสำหรับของเหลว คือไม่ต้องคำนึงถึงความหนา แต่เปลี่ยนวัตถุทำถังแทน

แต่จะหนักกว่าไหม

ITO: ใช่ ต้องใช้โลหะสำหรับไฮโดรเจนเหลว แต่สำหรับก๊าซ ถึงแม้จะใช้คาร์บอนไฟเบอร์ก็ต้องมีความหนาระดับหนึ่ง แน่นอนว่าถ้าใช้โลหะจะหนักกว่า

ความต่างระหว่างการใช้พลังงานไฮโดรเจนเหลวกับก๊าซต่างกันอย่างไร

ITO: ลองนึกถึงโตโยต้า มิไร ใช้ไฮโดรเจนก๊าซ เราจะได้พลังงานจากไฮโดรเจนเหลวมากกว่า 1.7 เท่า นอกจากนี้สิ่งที่สามคือเราติดตั้งอุปกรณ์กู้คืน CO2 เป็นเทคโนโลยีที่เราพัฒนาให้ดีกว่าเดิม ปีที่แล้วเราใช้เซตเครื่องยนต์จะดูดลมเข้ามาผ่านฟิลเตอร์ แล้วฟิลเตอร์จะดูดซับ CO2 เมื่อให้ความร้อนกับฟิลเตอร์ CO2 ถูกดูดซึมจะระเหยออกมา แต่จำเป็นต้องสลับเปลี่ยนออยล์คูลเลอร์นี้ เพื่อให้ความร้อนกับฟิลเตอร์ให้ปล่อย CO2 ออกมาเก็บในถังนี้ แต่วิธีการนี้ต้องให้คนมาคอยสลับเปลี่ยน ปีนี้ เราพัฒนาเป็นระบบอัตโนมัติ ใช้ฟิลเตอร์ขนาดใหญ่มากขึ้น โดยแยกพื้นที่ทำงานของฟิลเตอร์ออกเป็นสองส่วน ครึ่งหนึ่งเป็นครึ่งดูดซับ CO2 ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งเป็นพื้นที่ให้ CO2 ระเหยเมื่อได้รับความร้อน พร้อมกับหมุนฟิลเตอร์ช้าๆ ทำให้เป็นระบบอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องสลับเปลี่ยนด้วยคน ยิ่งขับมากเท่าไร ยิ่งดูดซับ CO2 เข้าถังได้มากเท่านั้น

เพื่ออะไร

ITO: เพราะรถไฮโดรเจน รถ EV รถ FCEV สามารถสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ก็จริงอยู่ แต่เราต้องการทำให้ปราศจาก CO2

CO2 ในถังทำอะไรได้บ้าง

ITO: CO2 ถูกเก็บในถัง และมีเทคโนโลยีหนึ่งที่เรียกว่า Direct Air Capture สามารถกักเก็บ CO2 ในโรงงานขนาดใหญ่ได้ ถังของเราก็ทำงานในรูปแบบเดียวกัน เมื่อเก็บมาแล้วก็สามารถผ่านกรรมวิธีที่จะปลอดคาร์บอนได้

เครื่องนี้ต้องการอากาศเฉพาะออกซิเจนเข้าไปในเครื่องใช่ไหม

ITO: ไม่ใช่

วิ่งได้กี่กิโลถึงจะเต็มถัง

ITO: ประมาณ 10 แล็บ (รอบ)

ต้องเปลี่ยนทุก 10 แล็บหรือไม่

ITO: ต้องแข่งขันเป็นหลัก จะถอดเมื่อเข้าพิต

ถังเชื้อเพลิงใหม่วิ่งได้กี่ กิโล?

ITO: 30 แล็บ

กี่กิโล

ITO: หนึ่งแล็บ 4.5 กิโล ก็ราว 135 กิโล

ถ้าไม่มีระบบดูดซับนี้ เครื่องยนต์นี้จะปล่อย CO2 ออกมาเท่าไร

ITO: ไม่ได้ปล่อย CO2 เราต้องการติดตั้ง เพราะถ้าต้องการปลอดคาร์บอน ไม่เพียงแต่ไม่ปล่อย CO2 แต่ต้องการดูดซับจากอากาศด้วย ถ้าไม่มีการดูดซับ CO2 แล้ว คงจะไม่เกิดยุคความเป็นกลางทางคาร์บอนได้จริง เราอยากให้รถมาช่วยทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วย

ดูดซับ CO2 ด้วยเทคโนโลยีอะไรเมื่อออกมา ทำไมถึงดูดซับได้เฉพาะ CO2

ITO: ในฟิลเตอร์นี้มี amine (อะมิน) อยู่ บริษัท คาวาซากิ เฮฟวี่ อินดัสตรี บริษัทที่ร่วมกันทำงานสร้างยุคไฮโดรเจนด้วยกันมาร่วมกันทำงานในครั้งนี้

ระบบนี้สามารถใช้กับเครื่องยนต์อื่นๆ ได้ไหม

ITO: ยังไม่เคยคิดถึงขั้นนั้น แต่ในหลักการทำได้ ถ้าเป็นรถ ICE ไหนก็คงจะติดตั้งได้

ถ้าติดตั้งในท่อไอเสียของรถ ICE ทั่วไปเพื่อลด CO2 ได้ไหม

ITO: อย่างที่บอก ถ้าโดนความร้อน CO2 จะระเหยออกมา ดังนั้น จะไม่ติดตั้งตรงจุดที่มีความร้อน

 

ไขข้อข้องใจเครือข่าย

โตโยต้า มอเตอร์ สปอร์ต

หมายเหตุ ทัตสึยะ มิโยะชิ ผู้อำนวยการ แผนกพัฒนารถ GR และยาซึโนริ ซึเอะซะวะ หัวหน้าวิศวกร แผนกพัฒนารถ GR บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (โตโยต้า) สำหรับ ยาซึโนริ ซึเอะซะวะ เคยทำหน้าที่คอยช่วยเหลือในการเข้าแข่งขันที่บุรีรัมย์ เมื่อธันวาคม 2566 และปีก่อนหน้านั้น ทั้งสองให้สัมภาษณ์ถึงโครงสร้าง GR Company (จีอาร์ คอมพานี GR ย่อมาจากคำว่า Gazoo Racing (กาซู เรซซิ่ง) บริษัทในเครือโตโยต้า เน้นพัฒนารถยนต์สมรรถนะสูงโดยเฉพาะ และ Rookie Racing Team (รุกกี้ เรซซิ่ง ทีม) ทีมแข่งส่วนตัวของประธานโตโยต้า ลงแข่งในชื่อ MORIZO (โมริโซะ)

จุดประสงค์ในการจัดตั้ง GR Company คืออะไร

มิโยชิ : GR Company จะพัฒนารถรุ่น GR มีบทบาทพัฒนารถให้ดีขึ้นผ่านการเข้าร่วมแข่งขันมอเตอร์สปอร์ต เพราะสนามแข่งขันที่มีเงื่อนไขในการขับขี่เข้มงวดมากกว่า จะได้ข้อมูลที่ไม่สามารถได้จากสนามทดสอบหรือห้องทดสอบในบริษัท เพราะเงื่อนไขในการขับขี่เข้มงวดมากกว่า จะทำให้เราได้พัฒนาเทคโนโลยีและรถ GR ให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ และรถที่พัฒนาจะช่วยเพิ่มแฟนรถยนต์ชอบการแข่งขันและชอบมอเตอร์สปอร์ตมากขึ้น

การก่อตั้งบริษัทใหม่นี้ มีกิจกรรมอะไรบ้าง

มิโยชิ : ที่ผ่านมาเราเข้าร่วมมอเตอร์สปอร์ตหลากหลาย เช่น WEC (World Endurance Championship), WRC (World Rally Championship) ในระดับโลก และ Super Formula, Super GT ในญี่ปุ่น ทำให้สร้างแฟนในกลุ่มมอเตอร์สปอร์ตเพิ่มมากขึ้น ได้เข้าร่วมแข่งขัน Super Taikyu ครั้งแรกปี ค..2021 เพื่อทดสอบรถเครื่องยนต์ไฮโดรเจนและ GR-86 ใช้เชื้อเพลิงชนิดพิเศษ เพื่อพัฒนารถให้ดีขึ้นจากข้อมูลของสนามแข่ง Super Taikyu นอกจากนี้ เรายังพัฒนา GR-86 และ Yaris เพื่อเข้าแข่งขัน One Make Race เพื่อเพิ่มแฟนระดับรากหญ้าเพิ่มมากขึ้น เพิ่มฐานแฟนมากขึ้น กล่าวคือไม่เพียงแต่ชนะการแข่งขัน แต่ต้องการให้มีแฟนรากหญ้ามากขึ้น เพิ่มผู้ใช้รถมอเตอร์สปอร์ตมากขึ้น 

GR Company กับ Rookie Racing Team เกี่ยวข้องกันอย่างไร

มิโยชิ : Rookie Racing Team จะเข้าแข่งขันและบำรุงรักษารถแข่งในสนามแข่งต่างๆ เช่น Super Taikyu ภายใต้ชื่อทีม Rookie Racing Team ขณะที่ GR Company จะร่วมกับ Rookie Racing Team ในการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น Corolla เครื่องยนต์ Hydrogen จะถูกนำไปขับขี่ในสนามแข่งเพื่อพัฒนารถให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ใน Rookie Racing Team มีทั้งนักแข่งมืออาชีพ และนักแข่ง Gentleman ทั่วไปเช่น MORIZO (อากิโอะ โตโยดะ ประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น) เพื่อทดสอบรถ GR ของเรา

ตอนนี้มีอะไรได้จากการพัฒนารถในสนามแข่งมาใช้จริงในรุ่นใหม่บ้างหรือไม่

มิโยชิ : แน่นอนว่าเทคโนโลยีของรถไฮโดรเจนโคโรลล่ายังไม่ออกสู่ตลาดก็จริงอยู่ ขอยกตัวอย่าง GR-86 STQ Class กำลังพัฒนาอยู่ หรือรถรุ่นอื่นนอกเหนือจาก GR-86 ก็กำลังอยู่ระหว่างพัฒนา เราได้เทคโนโลยีมาดูผลสะท้อนกลับกับชิ้นส่วน หรือบางจุดของรถยนต์ออกสู่ตลาดแล้ว เพื่อให้รถเหล่านั้นดีขึ้น ใช้ง่ายขึ้น

การเลือกรถรุ่นที่จะมาทำ เวอร์ชั่น GR มีเกณฑ์อย่างไร

ซึเอะซะวะ : เช่น GR-Corolla หรือ GR-Yaris ต่างก็เป็นรถรุ่นเดิมอยู่แล้ว รถรุ่น Corolla หรือ Yaris เราได้พัฒนาเกรดพิเศษคือ GR ขึ้นมาให้เป็นเกรดเฉพาะ มีความพิเศษเหมาะกับมอเตอร์สปอร์ต คือเครื่องยนต์มีกำลังมากขึ้น สมรรถนะตัวถังแกร่งมากขึ้น ช่วงล่างหรือแชสซีส์สมรรถนะดีขึ้น หรือรุ่น Yaris ก็มีเกรด 4WD ออกมา เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมี GR-Supra หรือ GR-86 เป็นรถรุ่นที่มีเฉพาะเกรด GR ก็มี

MORIZO ลงมาร่วมพัฒนากับตัวรถมากขึ้นกว่าเดิม เข้าไปร่วมในขั้นตอนไหนบ้าง ช่วยกันพัฒนารถ GR หรือไม่

มิโยชิ : ท่านเข้ามาร่วมตั้งแต่รถต้นแบบ เพราะเป็น Master Driver จะร่วมกันวิเคราะห์รถ ท่านจะขับรถจนพัง แล้วเรากลุ่มวิศวกรก็เข้ามาซ่อม พอซ่อมเสร็จท่านก็จะขับจนพังอีก ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อพัฒนารถให้ดีขึ้น

รถเครื่องยนต์ไฮโดรเจนเหลว จะเข้ามาแทนรถไฮโดรเจนก๊าซหรือไม่ แล้วในการแข่งขันต่างๆ จะใช้รถรุ่นนี้แทนใช่หรือไม่

มิโยชิ : ปีที่แล้วตอนแข่ง ฟูจิ 24 ชั่วโมง เป็นครั้งแรกเราส่งรถโคโรลล่า ไฮโดรเจนเหลวลงแข่ง หนึ่งปีผ่านไป เราได้วิวัฒนาการให้รถโคโรลล่าไฮโดรเจนเหลวดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีรถไฮโดรเจนก๊าซอีกต่อไป เพราะไฮโดรเจนเหลวหรือไฮโดรเจนก๊าซ ต่างมีข้อดีของตัวเองคิดว่าต้องพัฒนาให้แต่ละตัวดีขึ้นกว่าเดิม

ความคืบหน้าการทำกีฬามอเตอร์สปอร์ตให้เป็นที่แพร่หลายในทวีปเอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้วย

มิโยชิ : เมื่อปีที่แล้วและปีก่อนหน้า เราได้ส่งรถลงแข่งที่บุรีรัมย์ และสนามแข่งอื่นๆ ทำให้ GR Company ได้รับรู้ว่ามีแฟนตัวยงจำนวนมากในกีฬามอเตอร์สปอร์ตของไทย นอกจากนั้น Super Taikyu นี้ ได้ถูกยกระดับเป็น Super Taikyu Mirai Organization (STMO) โดย MORIZO ก็เข้ามาเป็นประธานขององค์กรด้วย ท่านได้ให้สัมภาษณ์ว่าต้องการให้กีฬามอเตอร์สปอร์ตแพร่หลายในเอเชียมากขึ้น เพราะว่าชาวไทยช่วยให้กีฬามอเตอร์สปอร์ตเป็นที่แพร่หลาย ท่านจึงให้สัมภาษณ์เช่นนั้น คิดว่าคงจะมีกิจกรรมต่างๆ ในเอเชียมากขึ้น แน่นอนว่าจะจัดการแข่งขันอย่างไร หรือเข้าร่วมการแข่งขันที่ไหน อาจจะให้ทีมของเอเชียมาแข่งที่ญี่ปุ่น ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน แต่ท่านมีความมุ่งมั่นเช่นนั้น

ความแตกต่างของ Gazoo Racing Team กับ Rookie Racing Team ต่างกันอย่างไร

มิโยชิ : Gazoo Racing Team จะเข้าแข่งขัน WEC (World Endurance Championship), WRC (World Rally Championship) ในระดับโลกในฐานะตัวแทนของโตโยต้า ขณะที่ Rookie Racing Team จะเข้าแข่งขันในสนามแข่ง Super Taikyu เพื่อร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของโตโยต้า และ Rookie Racing Team ยังเข้าแข่งขัน Super GT หรือ Super Formula เอง นั่นคือข้อแตกต่างของ Gazoo Racing Team ของ .โตโยต้ากับ Rookie Racing Team  MORIZO มีคนเดียว แต่ท่านก็เป็นประธานคณะกรรมการของบริษัทโตโยต้า เป็นเจ้าของทีม Gazoo Racing Team ด้วย และท่านก็ยังเป็นเจ้าของและนักแข่งของ Rookie Racing Team ในฐานะทีมส่วนตัว (Private Team) อีกด้วย แน่นอน การที่ MORIZO มีหลายบทบาท เป็นสิ่งเป็นประโยชน์ต่อบริษัทมาก ทำให้สามารถลองทดสอบเทคโนโลยีใน Super Taikyu ได้

ทีมไทยแลนด์มีศักยภาพจะมาลงแข่ง Super Taikyu ได้หรือไม่ ยังขาดอะไร ต้องรออะไร

ซึเอะซะวะ : ปีที่แล้วและเมื่อปีก่อนหน้า เราได้ไปแข่งที่ประเทศไทย โตโยต้าประเทศไทยก็ได้ส่ง Gazoo Racing Team Thailand มีรถโคโรลล่าเข้าร่วมแข่งขัน เราคิดว่ามีความสามารถมากพอจะนำรถรุ่นต่างๆ นั้นมาแข่งที่นี่ได้ อาจต้องปรับแต่งเล็กน้อย ให้เหมาะกับข้อบังคับของการแข่งขันในสนามแข่งที่นี่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image