“โบรกฯ”ประเมินราคาน้ำมันระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำ กดดันหุ้นพลังงาน-โรงกลั่น

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความเคลื่อนไหวหุ้นกลุ่มพลังงานว่า ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งในภาพรวมถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มโรงกลั่นที่ผลประกอบการออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับมุมมองของแต่ละบริษัทในปี 2562 ยังออกมาไม่ดี ทำให้ภาพรวมของการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้จึงน่าจะตึงตัว นอกจากนี้แล้วในส่วนภาพรวมตลาดหุ้น ประเมินว่าตลาดซึมตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 3/2561 ที่ออกมาค่อนข้างแย่ โดยแนวโน้มตลาดหุ้นในช่วง 1-2 วันนี้น่าจะแกว่งตัวในกรอบแคบจากแรงกดดันปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งยังไม่เห็นปัจจัยบวกเข้ามาช่วยพยุงตลาด โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือข้อพิพาทการค้ามีความคืบหน้าหรือไม่อย่างไร การพิจารณาร่างงบประมาณของอิตาลี เบร็กซิท และปัญหาระหว่างยูเครน-สหภาพยุโรป (อียู)

รายงานข่าวจากบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ว่า ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 54 – 59 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 64 – 69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ คาดว่าจะได้รับแรงหนุน หลังกลุ่มโอเปกมีแผนที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในปี 2562 เพื่อรักษาสมดุลของตลาดน้ำมันดิบ ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังหมดช่วงปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาลของโรงกลั่น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดัน จากการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปีหน้าที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ และการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ประกอบกับอุปทานน้ำมันดิบในสหรัฐมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งว่า จากการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มองภาพรวมหุ้น PTT เป็นกลาง โดยผู้บริหารมองว่าราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2562 อยู่ในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขยับขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ที่เฉลี่ย 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หนุนด้วยการคว่ำบาตรอิหร่าน และปัญหาความไม่สงบในเวเนซุเอลา ลิเบียและไนจีเรีย รวมถึงค่าการกลั่นสิงคโปร์มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็น 6.8-7.2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ที่ 6.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยเฉพาะน้ำมันกลุ่มตะวันออกกลางที่ความต้องการจะสูงขึ้น ก่อนการเริ่มบังคับใช้มาตรการ IMO ตั้งแต่ต้นปี 2563 และส่วนต่างปิโตรเคมีส่วนใหญ่มีทิศทางปรับตัวลงกดดันจากอุปทานในตลาดที่จะสูงขึ้น จากภาษีการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และความเสี่ยงจากกระแสการลดใช้พลาสติกของโลก

โดยประเมินทิศทางกำไร PTT ทรงตัว เนื่องจากถูกกดดันจากต้นทุนก๊าซที่สูงขึ้น และกำไรสต็อกน้ำมันของธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีที่ลดลง แม้ว่าจะมีประเด็นบวกจากปริมาณการขายธุรกิจน้ำมันและก๊าซเพิ่มตามฤดูกาล การไม่มีแผนหยุดซ่อมโรงแยกก๊าซกำไรปกติของบริษัทลูกขยายตัว และการที่บริษัทลูกเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image