ฝ่าสุญญากาศการเมือง ดันโรงงานลงทุน 2.9 แสนล้าน

ฝ่าสุญญากาศการเมือง ดันโรงงานลงทุน 2.9 แสนล้าน

ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณถดถอย ล่าสุด ต้องเผชิญวิกฤตแบงก์ในสหรัฐและยุโรป บวกกับสถานการณ์การเมืองไทยที่ประกาศยุบสภาหมาดๆ เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา การบริหารประเทศเข้าสู่ภาวะสุญญากาศหลายเดือนหลังจากนี้ กดดันเศรษฐกิจไทยให้ปีนี้ต้องพึ่งการลงทุนจากเอกชนเป็นลำดับต้นๆ

ตัดภาพกลับไปที่การลงทุนไทยปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานว่า มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งปีสูงถึง 664,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ถือเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด

ขณะที่จำนวนโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

Advertisement

นอกจากนี้การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นที่ใกล้จะลงทุนจริงมากที่สุดก็มีแนวโน้มที่ดี มีโครงการที่ออกบัตรส่งเสริม 1,490 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% และมีมูลค่าเงินลงทุน 489,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เป็นสัญญาณที่ดีว่า ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าจะมีการลงทุนจริงที่มากยิ่งขึ้น

การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มีมูลค่า 433,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% โดยจีนมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 77,381 ล้านบาท รองลงมาเป็นญี่ปุ่น มูลค่า 50,767 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา มูลค่า 50,296 ล้านบาท ไต้หวัน 45,215 ล้านบาท และสิงคโปร์ 44,286 ล้านบาท ตามลำดับ

การลงทุนดังกล่าวคาดหมายว่าจะคึกคักปีนี้ และจีนคือ นักลงทุนที่มาแรงแซงทุกโค้ง

Advertisement

จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความเห็นว่า ปี 2566 กรมโรงงานฯจะขับเคลื่อนการลงทุนผ่านการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ภายใต้นโยบาย MIND ใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการ ยกระดับศักยภาพ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อาทิ นโยบายยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเครื่องจักรให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2566 มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ มาตรการภาษีกระตุ้นการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ง่าย สิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์ และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี)

ทั้งหมดนี้ คือความท้าทายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการผลักดันภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ขณะเดียวกันโรงงานอุตสาหกรรมในไทยจะต้องมุ่งสู่การพัฒนาสีเขียวอย่างยั่งยืน (กรีนอีโคโนมี) องค์ประกอบสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (บีจีซีอีโคโนมี) โดยกรมโรงงานฯร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรมผลักดันให้โรงงานทุกแห่งเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมสีเขียว โดยผลการดำเนินงานปัจจุบัน สามารถส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวแล้ว จำนวน 42,779 โรงงาน ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2566 คิดเป็น 66.71% จากเป้าหมาย 80% ในปี 2566

สำหรับเป้าหมายต่อไปที่กรมโรงงานฯจะดำเนินการ อาทิ ปรับปรุงเกณฑ์การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ในปี 2566 ลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ เป้าหมาย 2.3 ล้านตัน ปี 2570

อธิบดีจุลพงษ์ระบุว่า ปี 2566 กรมโรงงานฯ ตั้งเป้ายอดตั้งและขยายโรงงานมูลค่าการลงทุนกว่า 2.9 แสนล้านบาท และการประกอบกิจการโรงงานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2,300 ราย จากปี 2565

สอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน เร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563-2565 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะโครงการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ

นอกจากนี้จะดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย

ขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ พัฒนาแรงงานทักษะสูง ขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ พร้อมติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในช่วง 2.5-3.5%

แนวโน้มการเปิดโรงงาน ปี 2566 คาดการณ์อุตสาหกรรมที่เติบโตต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งอยู่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอส-เคิร์ฟ)

ขณะที่การปิดโรงงาน ปี 2566 คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มลดลงจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภายในประเทศหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่อนคลาย

การขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่จะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินและการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัว สะท้อนความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

เปรียบเทียบยอดการตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรม ปี 2565 (1 มกราคม-31 ธันวาคม 2565) มูลค่าการลงทุน 286,385.80 ล้านบาท จำนวน 2,833 โรงงาน เกิดการจ้างงานใหม่ 123,441 คน

เม็ดเงินลงทุนอยู่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอส-เคิร์ฟ) จำนวน 676 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 118,312.83 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 41.31%

โดย 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 46,015.00 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 16.07% รองลงมา ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 36,466.24 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 12.73% และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 23,270.40 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 8.13% ของมูลค่าลงทุนรวมทั่วประเทศ

ในพื้นที่อีอีซี มีการตั้งโรงงานใหม่และการขยายกิจการ มูลค่าการลงทุนรวม 58,020.39 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 20.26% ของมูลค่าการลงทุนรวมทั่วประเทศ

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนรวมสูงสุดในอีอีซี คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก มูลค่าการลงทุน 9,265.63 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 3.24% รองลงมา ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 8,304.87 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 2.90% และกลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 5,360.95 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 1.87% ของมูลค่าการลงทุนรวมทั่วประเทศ

สำหรับประเภทโรงงานที่การลงทุนโดดเด่นในการตั้งโรงงานใหม่ คือ การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพโพลิแลกติกแอซิด ที่มีวัตถุดิบจากน้ำตาลทรายดิบ จำนวน 1 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 19,810.00 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 10.66% ของมูลค่าการลงทุนตั้งโรงงานใหม่ทั่วประเทศ

ขณะที่ประเภทโรงงานที่ลงทุนโดดเด่นในการขยายกิจการโรงงาน คือ การผลิตประกอบ และซ่อมอุปกรณ์ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ อาทิ หัวอ่านข้อมูลคอมพิวเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 9 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 16,995.36 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 16.90% ของมูลค่าการลงทุนขยายกิจการทั่วประเทศ

สำหรับตัวเลขเลิกกิจการโรงงานปี 2565 มีจำนวน 1,099 โรงงาน อัตราการเลิกจ้างงาน 30,296 คน มูลค่าการลงทุนของโรงงานที่เลิกกิจการ 35,945.83 ล้านบาท

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุด คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากพืช จำนวน 96 โรงงาน โดยส่วนใหญ่มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 50 คน และเงินลงทุนไม่เกิน 50 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การลงทุนไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันดึงการลงทุนของประเทศต่างๆ ล่าสุด กรมโรงงานฯอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูล มาตรการ แนวทางการส่งเสริมการลงทุน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมสรรพากร

เบื้องต้นได้ประสานข้อมูลกับบีโอไอ เพื่อบูรณาการข้อมูล ประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมการลงทุน มาตรการสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยกรมโรงงานฯจะนำมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติราชการในปีต่อไป อธิบดีจุลพงษ์แจกแจง

ส่วนประเด็นทุนจีนสีเทาจนทำให้เกิดข้อกังวลต่อประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันคำขอลงทุนจากจีนผ่านบีโอไอขึ้นเป็นอันดับ 1 นั้น อธิบดีจุลพงษ์ให้ความเห็นว่า กรมโรงงานฯ
มีการกำกับดูแลโรงงานครอบคลุมทั้งไทยและต่างชาติ ขอย้ำว่านักลงทุนทั้งหมดจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของไทย ทั้ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ.2514 ตลอดจนกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

กรมโรงงานฯมีการตรวจสอบการประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง สั่งการ ส่งเสริม และสนับสนุนการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน อธิบดีจุลพงษ์สรุุป

แม้จะอยู่ในช่วงสุญญากาศทางการเมือง แต่กรมโรงงานก็ไม่เกียร์ว่าง ลุยขับเคลื่อนผลักดันการลงทุนต่อไป ในช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลเก่าและรัฐบาลชุดใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image