เปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด เพิ่มมูลค่า-เข้าถึงแหล่งทุน

เปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด เพิ่มมูลค่า-เข้าถึงแหล่งทุน

จากเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น จึงเป็นที่มาของนโยบายการเปลี่ยนที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นโฉนดที่ดิน ซึ่งยังคงกฎกติกาเดิมไว้ คือต้องใช้พื้นที่เพื่อการทำเกษตรกรรมเท่านั้น แม้จะสามารถเปลี่ยนมือได้แต่ยังอยู่ในการตรวจสอบของ ส.ป.ก.เช่นเดิม

ล่าสุด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ได้พิจารณาหลักการเปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ภายใต้การดำเนินงานของ ส.ป.ก. โดยเห็นชอบหลักการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ คือ

1.การจัดที่ดินยังคงเป็นไปเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามศักยภาพของพื้นที่ 2.สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด โดยกรณีที่ต้องการประกอบกิจกรรมทางการเกษตรจะต้องถือครองได้ไม่เกิน 50 ไร่ กรณีทำกิจกรรมด้านปศุสัตว์ถือครองได้ไม่เกิน 100 ไร่ 3.ต้องปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตามสัดส่วนที่ ส.ป.ก.กำหนด 4.สามารถใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ทุกแห่ง โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) และ 5.ต้องถือครอง ส.ป.ก.4-01 และทำประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี

Advertisement

ทั้งนี้ มีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407.67 ไร่ โดย ส.ป.ก.จะเป็นนายทะเบียนในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่างๆ เอง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทำหน้าที่พิจารณารายละเอียดการเปลี่ยนเอกสารสิทธิเป็นโฉนด หรือเข้าทำประโยชน์ และตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายและระเบียบ

โดยทั้งหมดต้องเป็นไปตามกฎหมาย 4 ฉบับคือ 1.พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 2.ระเบียบ คปก.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอน หรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่า หรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564 3.ระเบียบ คปก.ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ.2535 และ 2540 และ 4.ระเบียบ คปก.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้กู้ยืมเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2554

Advertisement

ผลสรุปที่ได้จากคณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุดจะนำไปหารือใน คปก.ในวันที่ 24 ตุลาคมอีกครั้ง หากได้รับความเห็นชอบจะสามารถดำเนินกับพื้นที่ที่มีความพร้อมได้ทันที โดยโฉนดฉบับแรกจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มกราคม 2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับเกษตรกร และ ส.ป.ก.จะดำเนินการออกเอกสารสิทธิในรูปแบบโฉนดที่ดินให้ครอบคลุม 70 จังหวัดภายใน 1 ปี ดังนั้น ขั้นตอนการดำเนินงานจะต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 นี้

ปัจจุบัน ส.ป.ก.มีการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ให้เกษตรกรประมาณ 3 ล้านคน เป็นพื้นที่ 36 ล้านไร่ จากจำนวนทั้งหมด 40 ล้านไร่ สำหรับในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ส.ป.ก.มีแผนจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรเพิ่มเติมอีก 3.85 หมื่นคน จากปัจจุบันที่มีคำขอเข้ามาทั้งหมดประมาณ 3 แสนคน

คุณสมบัติของเกษตรกรที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.ตามระเบียบ คปก.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2535 กำหนดว่า 1.ผู้ขอรับสิทธิต้องมีสัญชาติไทย บรรลุนิติภาวะ หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว (ไม่จำต้องบรรลุนิติภาวะ) 2.มีความประพฤติดี 3.มีร่างกายสมบูรณ์ สามารถประกอบการเกษตรได้ และ 4.จะต้องไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือของบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยแต่ไม่เพียงพอแก่การประกอบเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพด้วย

ดังนั้น ผู้ที่มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.จึงต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ใช่เพียงเกษตรกรก็มีสิทธิได้รับการจัดสรรที่ดินดังกล่าว

ส่วนกรณี ส.ป.ก.4-01 หากเกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้ตามเงื่อนไข ส.ป.ก.มีสิทธิยึดพื้นที่คืน แต่ในกรณีที่เปลี่ยนเป็นโฉนดแล้ว เมื่อทำผิดเงื่อนไขไม่ทำกิจกรรมทางการเกษตร ส.ป.ก.จะมีสิทธิยึดพื้นที่คืนได้อีกหรือไม่นั้น คปก.จะต้องพิจารณา
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้จะต้องยึดผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับเป็นหลัก ที่สำคัญการเปลี่ยนเป็นโฉนดครั้งนี้จะส่งผลให้มูลค่าที่ดิน ส.ป.ก.เพิ่มมากขึ้น โดยเกษตรกรจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างหลากหลาย ทั้งธนาคารที่เป็นของรัฐและเอกชน จากเดิมที่มีเพียงธนาคารรัฐบางแห่งที่ยินยอม และนำมากู้เงินกับกองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น

สำหรับพื้นที่ ส.ป.ก.4-01 และพื้นที่ที่ได้รับมอบมาจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ปัจจุบันถูกพัฒนาเป็นกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกร เช่น รีสอร์ต โรงแรม สนามกอล์ฟ เป็นต้น ส.ป.ก.จะสำรวจและจำแนกออกจากพื้นที่เกษตร โดยพิจารณาเกณฑ์การพิจารณาพื้นที่เหล่านี้อีกครั้ง กรณีที่เป็นพื้นที่สมบูรณ์อยู่ต้องคืนให้กับกระทรวงทรัพยากรฯไป แต่การพิจารณาเปลี่ยนเป็นโฉนดภายใต้กฎหมายทั้ง 4 ฉบับจะช่วยคัดกรองการถือครองของกลุ่มนายทุนด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบโครงการตรวจสอบและดำเนินการกรณีเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินถึงแก่ความตายในเขตปฏิรูปที่ดิน ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 22.5 ล้านบาท เพื่อให้ ส.ป.ก.นำไปใช้จ่ายเพื่อเร่งรัดและติดตามให้ทายาทเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่ถึงแก่ความตายมาแจ้งขอรับสิทธิการจัดที่ดินแทนที่ (รับมรดก) ซึ่งยังไม่มาแสดงตนอีก จำนวน 171,434 ราย ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ตามมติ คปก.ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ที่เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2566

รวมถึงได้เห็นชอบโครงการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรลูกหนี้เงินกู้กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามนโยบายรัฐบาล ระยะเวลา 3 ปี ตามระเบียบ คปก.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การให้กู้ยืมเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2554 โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้ เงินต้นเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท สถานะเป็นลูกหนี้ปกติ สามารถขอผ่อนผันการชำระเงินต้นรายงวดและงดเว้นดอกเบี้ยเงินกู้ของเงินรายงวดที่ครบกำหนดชำระ โดยระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567

หลังจากครบระยะแรกจะมีการประเมินผลเพื่อที่จะนำไปสู่การปรับปรุงและดำเนินการระยะ 2 และ 3 ต่อไป มีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไขโครงการนี้ จำนวน 17,806 ราย คิดเป็นต้นเงินที่พักชำระหนี้รวม 630 ล้านบาท และเป็นดอกเบี้ยที่งดเว้นรวมปีละ 25.2 ล้านบาท ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าเงื่อนไขสามารถยื่นลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ที่ ส.ป.ก. จังหวัดทุกจังหวัดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image