อนุสรณ์ ชี้แนวโน้ม ศก.ดิจิทัล 2024 ก้าวกระโดดด้วย AI วิเคราะห์ความเสี่ยง 11 ข้อ

อนุสรณ์ ชี้แนวโน้ม ศก.ดิจิทัล 2024 ก้าวกระโดดด้วย AI วิเคราะห์ความเสี่ยง 11 ข้อ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัลปี พ.ศ.2567 หรือ ค.ศ.2024 จะก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดด้วยการขับเคลื่อนของเทคโนโลยี Generative AI หรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถทำงานสร้างสรรค์ได้ด้วยการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดย AI โดยการแข่งขันกันนำเสนอการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Generative AI ในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ของบริษัทไฮเทคจะพลิกผัน หรือ Disrupt ธุรกิจอุตสาหกรรมเดิมพลิกโฉมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เพราะจะมีทางเลือกใหม่ สินค้าใหม่ บริการใหม่เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย บางกิจการจะถูกเข้ามาแทนที่ ถดถอย และหายไปจากตลาด บางกิจการจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดพร้อมผลิตภาพ และกำไรสูงขึ้น เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งเป็นแหล่งรวมงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ หากควอนตัมคอมพิวติ้ง (Quantum Computing) สามารถนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้จะทำให้การประมวลผลรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพขึ้นไปอีกในระยะ 1-2 ปีข้างหน้านี้ เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนอีกมากมาย

อีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัเทสลา ได้แสดงความเห็นสอดคล้องกับ บิล จอย ผู้ร่วมก่อตั้ง Sun Microsystem ว่า หุ่นยนต์ที่มีการเรียนรู้อัตโนมัติด้วยการเลียนแบบการทำงานโครงข่ายประสาทของมนุษย์ (Neurons) และสมองกลอัจฉริยะปัญญาประดิษฐ์ อาจสร้างปัญหาต่ออารยธรรมของมนุษย์ในอนาคตได้หากไม่มีวางยุทธศาสตร์ และกำกับควบคุมให้เหมาะสม ขณะที่การกำกับมากเกินไปก็ไปลดทอนพลังแห่งความก้าวหน้าสร้างสรรค์ได้ ผู้คนจำนวนไม่น้อยกังวลว่า หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้จะมาแย่งงานแรงงานมนุษย์ไปจนถึงกังวลถึงขั้นว่าจะทำให้ภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์หรือไม่ การกังวัลถึงขั้นว่า ปัญญาประดิษฐ์และสมองกลอัจฉริยะ จะทำลายอารยธรรมมนุษย์และทำลายล้างมนุษย์นั้น เป็นความวิตกกังวลที่มากเกินไป และไม่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

Advertisement

ภาวะที่เราเรียกว่า Technological Singularity คือ ภาวะที่การพัฒนาของเทคโนโลยีได้เติบโตอย่างทวีคูณจนทำไปสู่สถานการณ์ที่ ปัญญาประดิษฐ์ และสมองกลอัจฉริยะ ฉลาดกว่ามนุษย์ และอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ และ Brookings Institution เคยคาดการณ์ว่า ระบบอัตโนมัติ และระบบหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนตำแหน่งงานรวม 25% แต่จะเกิดตำแหน่งงานใหม่ๆขึ้นมาเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกัน McKinsey & Company (2023) ระบุว่า Generative AI อาจจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 2.6 ถึง 4.4 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ช่วยทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจหรือ Business Model ใหม่ๆ แรงงานมนุษย์สามารถลดชั่วโมงทำงานลงได้หากระบบการผลิตถูกออกแบบไม่ให้ค่าตอบแทนลดลงเพราะผลิตภาพ (Productivity) เพิ่มขึ้นใช้เวลาในการทำงานน้อยลง ทำให้มนุษย์มีเวลาไปพักผ่อน และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ หรือสร้างนวัตกรรมต่อยอดได้

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า ภายใน ปี ค.ศ.2030 ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกจะเพิ่มเป็นมากกว่า 8 พันล้านราย คิดเป็น 90% ของประชากรโลก ในปัจจุบันนี้มีประชาชนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ประมาณ 5 พันกว่าล้านราย ทำให้ช่องว่างดิจิทัลยังมีอยู่มาก อุปสรรคสำคัญ คือ การเข้าถึงได้ในราคาถูก และง่ายต่อการใช้งาน ช่องว่าง และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงดิจิทัลจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระบบทุนนิยมโลกเพิ่มขึ้นอีก เมื่อโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้ถูกพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้การผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ และการทำงานจากการควบคุมทางไกล ส่งผลต่อระบบการบริหารงานคลังสินค้าครบวงจรระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อเกิดขึ้นแบบไร้รอยต่อ ทำให้ระบบซัพพลายเชนแบบเดิมล้าหลังไปทันที

ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมนั้นสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลได้เหมือนกัน แต่ระดับบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอาจแตกต่างกัน อุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสารมวลชน อุตสาหกรรมบันเทิง กลุ่มนี้จะเปิดรับในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วกว่าอุตสาหกรรมการศึกษา อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์ ผู้นำตลาดดั้งเดิมมักไม่เร่งรีบนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จากการที่ได้ลงทุนไปในเทคโนโลยีแบบเดิมไปมาก และยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มากพอ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นตัวถ่วงรั้ง หรือแรงฝืดต่อการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ส่วนผู้แข่งขันรายใหม่ที่ยังไม่ได้มีการลงทุนทางกายภาพเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีแบบเดิมก็มักจะเร่งรัดในการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ แรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล คือ แรงผลักดันที่มาจากลูกค้าและสังคม ย่อมเกิดความเสี่ยงหรือความวิตกกังวลและโอกาสเกิดขึ้นเมื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล

Advertisement

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ได้วิเคราะห์ถึงโอกาส ความเสี่ยง และความวิตกกังวลจากระบบเศรษฐกิจ และสังคมดิจิทัล ว่า ประการที่ 1 ความเสี่ยง และความวิตกกังวลในอนาคตที่มีพลวัตสูง และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนกระทั่งมีผลต่อการปรับตัวของกิจการ การดำเนินชีวิตและพฤติกรรมผู้บริโภค ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับพลวัตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วย่อมได้รับผลกระทบอย่างมาก ขณะที่ผู้ที่สามารถปรับตัวได้ และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ Generative AI จะเกิดโอกาสอย่างมากในทางธุรกิจ สร้างงานใหม่ สร้างนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นมากมาย และเปลี่ยนแปลงสังคม และคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้น ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยี และแพลตฟอร์มต่างๆ จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างมหาศาล พร้อมกับความเหลื่อมล้ำของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากหากไม่มีกฎระเบียบ ระบบกำกับดูแล หรือระบบภาษีที่เท่าทันต่อพลวัตเหล่านี้

ประการที่ 2 ความเสี่ยงและความวิตกกังวัลเรื่องการว่างงานของแรงงานมนุษย์ ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ สมองกลอัจฉริยะเอไอจะส่งผลต่อโครงสร้างของตลาดแรงงานมากขึ้นตามลำดับ กิจการจำนวนมากเริ่มนำเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต อย่างเช่น หุ่นยนต์ และสมองกลอัจฉริยะ และอาจส่งผลให้เลิกจ้างงานพนักงานโดยเฉพาะงานผลิตซ้ำต่างๆ ที่มูลค่าต่ำ แต่ก็ไม่ใช่ทุกตำแหน่งจะเผชิญกับความเสี่ยง ด้วยเทคโนโลยีเดิมก่อนการเกิดขึ้นของ Generative AI งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ยังไม่สามารถนำระบบอัตโนมัติหรือ AI มาใช้แทนได้มากนัก แต่ในอนาคตจะทดแทนได้มากขึ้น ความเสี่ยงเรื่องนี้จะกระทบต่อประเทศไทยไม่มากเนื่องจาก ไทยจะมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่จะมีคนบางกลุ่มไม่มีทักษะมากพอ

สำหรับการทำงานในระบบการผลิตแบบใหม่ ซึ่งภาครัฐต้องทำการ Upskill และ Reskill อย่างมียุทธศาสตร์และเป็นระบบ นอกเหนือจากการดำเนินการผ่านระบบการศึกษาที่เป็นทางการ คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2576 เมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ไทยจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมากกว่าเดิม และจะต้องใช้งบสวัสดิการสำหรับผู้ชราภาพสูงทะลุ 1 ล้านล้านบาท ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญ และมีความจำเป็นต้องลดภาระทางการคลังด้วยการดำเนินการในนโยบาย 3 ด้านดังต่อไปนี้ คือ พัฒนาระบบการออมเพื่อชราภาพให้ขยายขอบเขต และเข้มแข็งขึ้น ยืดอายุการเกษียณ การปฏิรูประบบแรงงาน และ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ควรมีการศึกษานโยบายการเปิดเสรีแรงงานและควรพิจารณาการรับผู้อพยพผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีคุณภาพหรือไม่

ประการที่ 3 จะเกิดผลงานสร้างสรรค์ขึ้นมากมายจาก Generative AI ผลงานจำนวนไม่น้อยที่สร้างสรรค์โดย Generative AI ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยแรงงานมนุษย์ หรือ หากใช้แรงงานมนุษย์ต้องใช้เวลานานมาก ขณะเดียวกัน Generative AI จะมีผลกระทบต่อตำแหน่งงานในงานสร้างสรรค์ต่างๆ มากขึ้น จากบทความวิจัย “GPTs are GPTs: An Early Look at the Labor Market Impact Potential of Large Language Models” (2023) โดย Tyna Eloundou, Sam Manning, Pamela Mishkin, Daniel Rock. ประเมินว่า ประมาณ 80% ของแรงงานในประเทศสหรัฐอเมริกาจะต้องถูกกระทบ โดย Generative AI ( กรณีศึกษา ศึกษาเทคโนโลยี Chat GPT) อย่างน้อย 10% ของเนื้องานที่ต้องทำนอกจากนี้ 19% ของแรงงานในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นจะต้องถูกกระทบโดย Generative AI อย่างน้อย 50% ของเนื้องานที่ต้องทำ ไม่ว่าท่านจะมีความคิดทางเศรษฐกิจแบบไหน อำนาจนิยม ชาตินิยม เสรีนิยมหรือสังคมนิยมแบบไหนก็ตาม เชื่อว่า ทุกคนมีความรู้สึกร่วมกันว่า Generative AI ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่ไม่มีกฎระเบียบควบคุมอาจส่งผลกระทบทางลบต่อผู้ใช้แรงงานในทุกระดับรวมทั้งงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ขั้นสูง

งานที่ถูกกระทบมากจาก Generative AI จะเป็นงานประเภท Non-Routine Cognitive Analytical Tasks และงานประเภท Routine Cognitive Tasks Disruption จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในระบบการผลิตและเศรษฐกิจรอบนี้จะต่างจากรอบก่อนๆ ที่เป็นระบบเครื่องจักรอัตโนมัติ คอมพิวเตอร์ และหุ่นยนต์พื้นฐาน งานถูกกระทบมักจะเป็นงานประเภท Physical Routine Tasks ประเทศไทยต้องศึกษาว่า ระหว่างการเก็บภาษีหุ่นยนต์ ภาษีการใช้ Generative AI กับ การออกระเบียบเข้มงวดเรื่องการเลิกจ้าง แนวทางแบบหลังน่าจะเป็นไปได้มากกว่าในการสร้างความเป็นธรรมของระบบการจ้างงานในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะการเก็บภาษีจะไปสกัดกั้นความก้าวหน้าของนวัตกรรมได้และอาจชักนำให้บรรดาบริษัททั้งหลายหาช่องทางใหม่ๆในการหลีกเลี่ยงภาษีและก่อให้เกิดการบิดเบือนในระบบเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ประกาศใช้กฎหมายภาษีหุ่นยนต์ฉบับแรกของโลกและยังมีการจัดเก็บภาษีการจ้างงานแบบเหมาช่วง (Outsource) อีกด้วย

ประการที่ 4 ความเสี่ยงต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและประเด็นเรื่องความมั่นคง

ประการที่ 5 สามารถทำให้เกิด Mass Customization ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีทางด้านข้อมูลสามารถรวบรวมข้อมูลลูกค้า ประวัติการทำธุรกรรมต่างๆอย่างละเอียด พฤติกรรมในการใช้ชีวิต การบริโภคสินค้าและการใช้บริการ ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาสร้างโปรไฟล์และอัลกอริทึมคาดการณ์เพื่อเข้าพฤติกรรมในอดีตและอนาคตของผู้บริโภค ผู้บริโภคบางคนมองว่าศักยภาพของ AI เป็นเหมือนเครื่องมือที่เปิดให้ปรับเปลี่ยนบริการและสินค้าตามความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalization) จำนวนมากๆได้พร้อมกัน เรียกว่า สามารถทำ Mass Customization ได้นั่นเอง

ประการที่ 6 วิถีชีวิตแบบดิจิทัลและผลข้างเคียงเชิงพฤติกรรม สังคมและเศรษฐกิจแบบดิจิทัลทำให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพกันลดลง แอฟพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ สื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย และ เกมเสมือนจริงต่างๆ กระตุ้นความสนใจและช่วยให้ผู้คนในสังคมมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องจนผู้ใช้อยู่กับหน้าจอวันละหลายชั่วโมง ทำให้การปฏิสัมพันธ์แบบพบปะสังสรรค์แบบดั้งเดิมลดลง การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง มีพฤติกรรมเสพติดสื่อสังคมออนไลน์และอยู่หน้าจอนานเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพและขาดการทำกิจกรรมอย่างอื่นในชีวิต ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้กิจกรรมประจำวันสะดวกยิ่งขึ้นและออกแรงน้อยลงไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อของใช้ให้ส่งถึงบ้านไปจนถึงเดินทางโดยอาศัย Google Map ขณะเดียวกันเป็นผลให้คนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปจนทำให้เกิด สิ่งที่เรียกว่า AI and Automation Bias ขึ้นได้ในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆทั้งการบริหารกิจการและในชีวิตประจำวัน

ประการที่ 7 สื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ก้าวเข้าแทนที่สื่อแบบดั้งเดิม สื่อใหม่เหล่านี้สามารถกุมอำนาจกำหนดมุมมองและสร้างกระแสความคิดที่มีอิทธิพลทางสาธารณะได้ เทคโนโลยีสื่อดิจิทัล และ Generative AI ที่สามารถเลียนเสียง หน้าตาและพฤติกรรมของบุคคลได้อย่างสมจริงจะทำให้เราแยกข้อเท็จจริงกับเรื่องลวงได้ยากขึ้น การให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือการบิดเบือนข้อมูลสามารถเกิดขึ้นได้และดูสมจริงอย่างยิ่งซึ่งเรียกกันว่า Deep Fake ความสามารถของเทคโนโลยี AI ช่วยให้ปลอมเสียงและวิดิโอเหมือนเป็นของจริง เราต้องหาวิธีในการปัญหาและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับ Deep Fake เหล่านี้ การส่งต่อ ข่าวปลอม (Fake News) เกิดขึ้นได้ง่าย โดยทางยูเนสโก (UNESCO) ได้จำแนกออกมาว่า ประกอบไปด้วย ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) เป็นข้อมูลข่าวสารเท็จที่จงใจสร้างขึ้น ข้อมูลผิด (Misinformation) เป็นข้อมูลผิดผลาดไปเองโดยไม่ได้ตั้งใจบิดเบือนซึ่งอาจเกิดจากความผิดผลาดในการแสวงหาข้อมูลมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย (Malinformation) เป็นข้อมูลข่าวสารลวง สร้างขึ้นมาจากพื้นฐานข้อมูลจริงบางอย่าง เจตนาของข้อมูลแบบ Disinformation ก็ดี ข้อมูลแบบ Malinformation ก็ดี ล้วนจงใจสร้างขึ้นเพื่อโจมตีใส่ร้ายทำลายเป้าหมายให้เกิดความเสียหาย

ประการที่ 8 การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจแบบดิจิทัลทำให้เกิดการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลของบุคคลจำนวนหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์จากสภาวะดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สร้างแพลตฟอร์มและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำธุรกรรม การดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ การลงทุนต่างๆโดยไม่ถูกจำกัดโดยพรมแดนของรัฐชาติ ไม่ถูกจำกัดโดยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และสามารถเสนอบริการหรือผลิตสินค้าข้ามกิจการอุตสาหกรรมต่างๆได้ ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ จากงานวิจัยของ Goldman Sachs มีการประเมินเบื้องต้นบ่งชี้ว่า ความก้าวหน้าใน Generative AI มีศักยภาพในการขับเคลื่อนผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคอย่างมีนัยสำคัญ

มีการประเมินว่า Generative AI สามารถเพิ่ม GDP ทั่วโลกได้ 7% (เกือบ 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) และเพิ่มผลผลิตเพิ่มขึ้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ในช่วงระยะเวลา 10 ปี อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้านี้อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการจ้างงานด้วย โดยประมาณสองในสามของอาชีพในสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับการทำงานอัตโนมัติในระดับหนึ่งโดย AI แม้ว่าระบบอัตโนมัติอาจแทนที่ภาระงานบางส่วนในบางอาชีพ แต่แนวโน้มในอดีตบ่งชี้ว่างานใหม่มักจะถูกสร้างขึ้น ซึ่งชดเชยผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ตนมีความเห็นว่า การใช้ระบบอัตโนมัติมากเกินไปอาจไปลดจีดีพีได้ แทนที่จะไปเพิ่ม เพราะในหลายกรณี แรงงานมนุษย์มีผลิตภาพมากกว่าหุ่นยนต์ การที่เกิดสภาวะการใช้ระบบอัตโนมัติมากเกินความเหมาะสมก็เนื่องจากหลายประเทศมีความลำเอียงในระบบภาษี ใช้หุ่นยนต์ได้ลดหย่อนภาษี ใช้แรงงานมนุษย์ต้องจ่ายสมทบเงินประกันสังคม

ประการที่ 9 เกิดข้อมูลมหาศาลและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ข้อมูลขนาดใหญ่และฐานความรู้ดิจิทัลเร่งให้เกิดการเรียนการสอนออนไลน์ หรือ MOOC (Massive Open Online Courses) เติบโตอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง และสามารถให้ AI วางแผนการอบรมออนไลน์และช่วยสอนได้ แพลตฟอร์มดิจิทัลและระบบนิเวศเปลี่ยนโฉมการดำเนินธุรกิจ โดยทำให้ฝ่ายต่างๆ ได้แก่ บริษัทลูกค้า และ ผู้มีส่วนได้เสียอื่นเชื่อมต่อกันสนิทและทำให้การสื่อสารและการทำธุรกรรมไม่มีขีดจำกัดลดลงอย่างมาก

ประการที่ 10 ชีวิตที่สุขสบายขึ้น ชีวิตอัจฉริยะ และยืนยาวขึ้น Neuralink โครงการของ อีลอน มัสก์ พัฒนาการฟังชิปคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างการเชื่อมต่อระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ทำให้มนุษย์ใช้สมองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด บ้านอัจฉริยะและสำนักงานอัจฉริยะทำให้ชีวิตของมนุษย์สะดวกสบายขึ้นอย่างมาก ขณะที่ เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงทำให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาว เมื่อนำข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้กับด้านสุขภาพช่วยให้ AI ค้นพบยาชนิดใหม่และการรักษาที่แม่นยำ ความรู้ทางด้านพันธุกรรมขั้นสูงและโครงสร้างยีน ทำให้มนุษย์ปรับแต่งโครงสร้างยีนเพื่อป้องกันและรักษาโรคพันธุกรรมได้ ประสาทเทคโนโลยีและสมองกลทำให้รักษาภาวะความบกพร่องของสมองได้

ประการที่ 11 การเพิ่มความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล หรือ Digital Transformation เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบ Smart Grid และพลังงานหมุนเวียนทำให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและมีการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในภาคอุตสาหกรรม AI ช่วยลดการสูญเสียตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การเลือกวัสดุ ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจแบบแบ่งปันได้ง่ายขึ้นภายใต้เทคโนโลยีใหม่

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวต่อว่า นโยบาย Digital Economy ควรมีเป้าหมายในระดับประเทศที่ชัดเจน ได้แก่ การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่ง GDP ที่จะเพิ่มได้นั้น ไม่ได้เกิดจากที่รัฐเป็นผู้ให้บริการ แต่รัฐต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ ที่อยู่บนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลดังกล่าว ดังนั้น นโยบาย Digital Economy จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะต้องคิดและเขียนออกมาให้ได้ตรงตามเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ การเพิ่ม GDP ให้กับประเทศไทย ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มผลิตภาพทั้งระบบ และต้องให้เกิดความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำไม่เพิ่มขึ้น รวมทั้ง การทำให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) ในระยะยาว

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า รูปแบบการทำงานในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอีก ระบบการทำงานแบบไฮบริด (คือการทำงานในสำนักงานผสมผสานกับการทำงานจากที่ไหนก็ได้) จะแพร่หลายมากขึ้น ระบบบริหารจัดการแบบใหม่ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ระบบค่าจ้างต้องเปลี่ยนแปลงตามแนวโน้มระบบการทำงานแบบใหม่นี้ด้วย ท่ามกลางพลวัตความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล การเกิดขึ้นของ Metaverse การเกิดขึ้นของ Generative AI และ การ Tokenized ระบบการเงินและเศรษฐกิจทำให้ระบบการเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานและระบบการจ้างงานเปลี่ยนไป

“ขณะนี้ มีแนวโน้มของการทำให้เกิด Tokenization ในหลายประเทศ ผลของ การ Tokenization ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงินเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดว่าเราควรจะมีแนวทาง นโยบายและการบริหารจัดการอย่างไรในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำกันอย่างเอาจริงเอาจัง การ Tokenized Economy จะต้องมีกระบวนการแปลงสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรดักต์ทางการเงิน เช่น หุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ รวมถึงสินทรัพย์การลงทุนอย่างเช่นอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน ต่างๆให้สามารถครอบครองความเป็นเจ้าของผ่านโทเคนดิจิทัลและสามารถที่จะซื้อขายหรือโอนให้กันผ่านบล็อกเชนได้ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงินและเศรษฐกิจลงอย่างมาก การทำธุรกรรมหลายอย่างไม่ต้องผ่านคนกลาง โดยเฉพาะต้นทุนการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศจะลดลงมากที่สุด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image