ชีวมวลอัดเม็ด…แหล่งพลังงานใหม่ ดันเป้า Net Zero เร็วขึ้น

ชีวมวลอัดเม็ด...แหล่งพลังงานใหม่ ดันเป้า Net Zero เร็วขึ้น

ชีวมวลอัดเม็ด หรือ Wood Pellet กำลังเป็นแหล่งพลังงานใหม่ที่ทั่วโลกต้องการ เพราะจะทำให้เป้าหมายของทั่วโลกที่มุ่งสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ของประเทศต่างๆ สำเร็จเร็วขึ้น

โดยเชื้อเพลิงประเภทนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ให้ผลักดันมานานหลายปีแต่ยังไม่ฮอตฮิตในไทยมากนักจนถึงยุคของ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดี พพ. ได้รับการยืนยันว่าจะเดินหน้าอย่างเต็มที่และเข้มข้น

อธิบดีวัฒนพงษ์ให้ข้อมูลว่า เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด หรือ Wood Pellet เป็นผลิตภัณฑ์ได้จากการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ซังข้าวโพด เหง้ามันสำปะหลัง กะลาปาล์ม เปลือกไม้ เศษไม้หรือขี้เลื่อยจากโรงงานแปรรูปไม้หรือเฟอร์นิเจอร์ มาย่อย ลดความชื้น และนำมาอัดเป็นเม็ดหรือแท่ง ช่วยให้มีความหนาแน่นที่สูงขึ้น ได้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีความชื้นต่ำ มีค่าความร้อนสูง ลดปัญหาและค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ เหมาะสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตความร้อนในภาคอุตสาหกรรมหรือโรงไฟฟ้า โดยเชื้อเพลิงชีวมวลยังมีข้อดีคือมีปริมาณกำมะถันต่ำ ไม่เกิดสภาวะก๊าซเรือนกระจก แทบจะไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศเลยกรณีมีการปลูกทดแทน

การผลิตชีวมวลอัดเม็ดมีขั้นตอน ดังนี้ 1.การเตรียมวัตถุดิบ 2.การอบเพื่อลดความชื้น 3.การบดละเอียด 4.การอัดเม็ด 5.การทำให้เย็น 6.การร่อนและคัดแยก 7.การจัดเก็บและบรรจุภัณฑ์

Advertisement

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีการเพาะปลูกข้าว อ้อย ยางพารา ปาล์ม ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเหล่านี้ทำให้เกิดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ได้แก่ แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย ลำต้นข้าวโพด ซังข้าวโพด เศษไม้ยางพารา และเหง้ามันสำปะหลัง รวมทั้งมีการส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วต่างๆ เช่น ยูคาลิปตัส กระถินณรงค์ กระถินยักษ์ เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นชีวมวลอัดได้

สำหรับประเภทของชีวมวลอัดเม็ดที่ซื้อขายในตลาดทั่วไปเรียกว่า White Pellets ส่วนชีวมวลที่ผ่านกระบวนการทอร์ริแฟคชั่น (Torrefaction Process) จะเรียกว่า Black Pellets มีค่าต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อให้เชื้อเพลิงชีวมวลที่ได้มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงและเข้ากันได้กับเชื้อเพลิงถ่านหิน ในการเพิ่มขึ้นของค่าความร้อน ปริมาณคาร์บอน อีกทั้งยังมีการกำจัดความชื้นและสารระเหยที่ดีขึ้น หลังจากชีวมวลผ่านกระบวนการทอร์ริแฟคชั่น

อธิบดีวัฒนพงษ์ระบุว่า ข้อมูลศักยภาพชีวมวลที่เกิดขึ้นในแปลงเก็บเกี่ยวของไทยปี 2566 พบว่ามีปริมาณ 38.98 ล้านตัน/ปี คิดเป็นค่าพลังงานความร้อน 13,169 ktoe ยังไม่รวมกับชีวมวลที่จะได้จากการปลูกไม้โตเร็วเพิ่มเติมและการเก็บเกี่ยวจากเศษกิ่งไม้ที่เกิดจากการตัดแต่งไม้ยืนต้นหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น ลำไย ลิ้นจี่ เป็นต้น ดังนั้น จึงเพียงพอต่อการนำมาผลิตเป็นชีวมวลอัดเม็ด

Advertisement

โดยสถานการณ์ความต้องการและแนวโน้มสำหรับชีวมวลอัดเม็ดของโลก พบว่าปัจจุบันมีความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมและด้านความร้อนจากข้อมูลของ International Trade Data, FAO พบว่ายังมีความต้องการเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นโอกาสดีของประเทศไทยหากภาครัฐมีการส่งเสริมการใช้ชีวมวลอัดเม็ดและเปิดตลาดการส่งออกการผลิตชีวมวลอัดเม็ดไปยังต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกชีวมวลอัดเม็ดไปประเทศเกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น และไทยได้มีการประกาศมาตรฐานเชื้อเพลิงชีวมวลแข็งอัดเม็ด (มอก.2772-2560) ขณะนี้ยังไม่ได้มีการบังคับใช้สำหรับการผลิตหรือซื้อขายภายในประเทศ แต่ในระยะต่อไปจำเป็นต้องมีการบังคับใช้ข้อบังคับเพื่อให้การผลิตชีวมวลจากแหล่งต่างๆ มีความเป็นมาตรฐานทั้งในเรื่องของค่าความร้อน ความชื้น ความหนาแน่น ปริมาณขี้เถ้า และซัลเฟอร์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการกำหนดราคาซื้อขาย

อธิบดีวัฒนพงษ์ระบุว่า อุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ BCG ที่มีแนวโน้มเติบโตตามกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐของประเทศทั่วโลกมากขึ้นในอนาคต เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นต้น

ข้อมูลเบื้องต้นจากสมาคมผู้ค้าชีวมวลไทย ปัจจุบันมีผู้ผลิตชีวมวลอัดเม็ด 17 โรงงาน ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ รองลงมาได้แก่ ภาคกลางและภาคอีสานตอนล่าง คิดเป็นกำลังการผลิต 30,000 ตันต่อเดือน หรือคิดเป็นปริมาณ 360,000 ตันต่อปี

โดยแนวทางในการส่งเสริมชีวมวลอัดเม็ดของประเทศไทย ประกอบด้วย 1.ควรมีการวางแผนร่วมกันระหว่างผู้ปลูก ผู้ใช้ และภาครัฐอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การปลูก การตัด การแปรรูป และการนำไปใช้ จะทำให้ภาคเอกชนมีเชื้อเพลิงชีวมวลใช้อย่างต่อเนื่อง มีความมั่นคงทางด้านเชื้อเพลิง และเกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอนและสม่ำเสมอ 2.ส่งเสริมการปลูกไม้เพื่อการนำไปผลิตเป็นชีวมวลอัดเม็ด และการส่งออกชีวมวลอัดเม็ดไปต่างประเทศต้องมีหนังสือรับรองว่าเป็นไม้ที่ได้มาอย่างถูกกฎหมายจาก FSC (Forest Stewardship Council) นอกเหนือจากการผลิตชีวมวลอัดเม็ดจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

3.ส่งเสริมให้มีความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดภายในประเทศเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ ถ่านหิน ก๊าซแอลพีจี และน้ำมันเตา โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานสูง

4.ภาครัฐให้การสนับสนุนการลงทุนบางส่วนในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องจักร ได้แก่ หัวเผา หม้อไอน้ำ สถานที่จัดเก็บเชื้อเพลิงชีวมวล เป็นต้น เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการ โดยที่ผ่านมากรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ดำเนินการ “โครงการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนในภาคความร้อน 2565-2566” เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น เช่น การซื้อเครื่องสับไม้ การเปลี่ยนหัวเผาและสายพานลำเลียง การติดตั้งระบบบำบัดมลพิษ เป็นต้น โดย พพ.ให้การสนับสนุนเงินลงทุนร้อยละ 30 วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อโครงการ

5.ส่งเสริมผู้ประกอบการในประเทศให้ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาเครื่องจักรอุปกรณ์ และเพิ่มการมองเห็นถึงโอกาสในการลงทุนการผลิตชีวมวลอัดเม็ด และ 6.ผลักดันและประกาศเป็นนโยบายเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวมวลในภาคความร้อน (Renewable Heat Incentive หรือ RHI)

อธิบดีวัฒนพงษ์ระบุว่า ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำร่องในการใช้ชีวมวลอัดเม็ดในโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าในอัตราส่วนไม่เกิน 2% ร่วมกับเชื้อเพลิงถ่านหิน ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง พบว่าสามารถเดินเครื่องได้เป็นปกติ อนาคตจะร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น พัฒนาต่อไป โดย กฟผ.จะได้รับประโยชน์ด้านการวิเคราะห์เชิงวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์ของโรงงานผลิต biomass pellet เช่น ขนาดและคุณสมบัติของชีวมวลอัดเม็ดที่เหมาะสมต่ออุปกรณ์เผาไหม้ของโรงไฟฟ้า สัดส่วนที่เหมาะสมต่อการผสมชีวมวลกับถ่านหิน รวมถึงได้รับคำแนะนำในการปรับปรุงอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลร่วมกับถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า

ปัจจุบันทั่วโลกต้องการชีวมวลอัดเม็ดต่อเนื่อง เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล หวังมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและเน็ตซีโร่ ชีวมวลอัดเม็ดถือเป็นแหล่งพลังงานใหม่ที่ช่วยให้แต่ละประเทศบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น และเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถรับมือกับมาตรการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ของประเทศคู่ค้า เช่น กลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

“ประเทศไทยมีความจำเป็นในการแสวงหาแนวทางในการเพิ่มการผลิตชีวมวล ทั้งจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและการปลูกสวนป่าหรือไม้โตเร็วเพื่อนำมาผลิตชีวมวลอัดเม็ด ใช้ในประเทศและส่งออก ตลอดจนผลักดันผู้ประกอบการในการลงทุน และภาครัฐออกมาตรการเพื่อสนับสนุนและช่วยลดภาระของผู้ประกอบการไทย” อธิบดีวัฒนพงษ์ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image