คิดเห็นแชร์ : การบรรจบของการค้า vs ความยั่งยืน คุณพร้อมที่จะเปลี่ยนแล้วหรือยัง?

คิดเห็นแชร์ : การบรรจบของการค้า vs ความยั่งยืน
คุณพร้อมที่จะเปลี่ยนแล้วหรือยัง?

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals :SDGs)” หรือวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) เป็นกรอบทิศทางการพัฒนาของโลกที่ทุกประเทศต้องดำเนินการร่วมกัน ตั้งแต่กันยายน ค.ศ.2015-สิงหาคม ค.ศ.2030 (ปี 2558-2573 รวม 15 ปี) เพื่อบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป็นการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง SDGs มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย ครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ มิติด้านสังคม มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านสันติภาพและสถาบัน และมิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา จะเห็นได้ว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงแค่มิติด้านสิ่งแวดล้อม แต่ให้ความสำคัญกับทั้ง 5 มิติ ที่เกี่ยวโยงกันอย่างรอบด้าน

นโยบายด้านการค้า มีส่วนสำคัญช่วยผลักดันการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนระดับโลก จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแพร่หลาย เช่น นโยบายกรีนดีลของสหภาพยุโรป เป็นแพคเกจนโยบายเพื่อการเปลี่ยนผ่านสีเขียว ของสหภาพยุโรป (อียู) มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ใน ค.ศ.2050 (ปี 2593) โดยมีกฎระเบียบหรือมาตรการที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เพื่อลดความได้เปรียบด้านต้นทุนของสินค้าที่ผลิตในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าสินค้าที่ผลิตจากประเทศที่มีมาตรการจัดการกับก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ มาตรการ CBAM มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 และปัจจุบันยังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยจะเริ่มเก็บภาษีกับผู้นำเข้าวันที่ 1 มกราคม 2569 ในสินค้าไฟฟ้า ซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน (รวมผลิตภัณฑ์ตั้งต้นและปลายน้ำบางรายการ และการปล่อยทางอ้อม)

รวมทั้ง มีกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-Free Products Regulation: EUDR) เพื่อส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า และลดการมีส่วนร่วมของอียู ในการตัดไม้ทำลายป่าและทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของป่าทั่วโลก มาตรการ EUDR ครอบคลุมสินค้า 7 รายการ ได้แก่ วัว ไม้ ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ และยางพารา รวมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่มิถุนายน 2566 ปัจจุบันยังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านเช่นกัน โดยมีระยะเวลา 18 เดือน สำหรับผู้ประกอบการทั่วไป (ถึง 30 ธันวาคม 2567) และระยะเวลา 24 เดือน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs (ถึง 30 มิถุนายน 2568)

Advertisement

นอกจากนี้ ช่วงปลายเดือนเมษายน 2567 รัฐสภายุโรปได้อนุมัติร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าและความยั่งยืนหลายฉบับ อาทิ กฎหมายสอบทานธุรกิจด้านความยั่งยืน (Corporate Sustainability Due Diligence Directive: CSDDD) กำหนดให้ธุรกิจในอียู รวมถึงบริษัทจากประเทศที่สามที่ทำธุรกิจในอียู ที่มีจำนวนพนักงานไม่น้อยกว่า 1,000 ราย และมีรายได้จากทั่วโลกไม่น้อยกว่า 450 ล้านยูโรต่อปี ต้องจัดทำรายงานสอบทาน (Due Diligence)

ความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปอียูจะต้องเตรียมพร้อมในการให้ข้อมูลกับผู้นำเข้าฝั่งอียูเพื่อประกอบการจัดทำรายงานการสอบทานดังกล่าว และยังมีกฎหมายว่าด้วยการห้ามวางจำหน่ายสินค้าที่มาจากแรงงานบังคับ (Prohibiting Product Made with Forced Labour on The Union Market) ครอบคลุมสินค้าที่จำหน่ายทั้งหมดที่ผลิตในอียู เพื่อการบริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออก และสินค้านำเข้า โดยห้ามจำหน่ายสินค้าที่มาจากแรงงานบังคับในตลาดอียู รวมทั้งห้ามนำเข้าส่งออกด้วย ทั้งนี้ หลังจากที่รัฐสภายุโรปได้อนุมัติกฎหมายทั้งสองฉบับแล้ว จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาของสหภาพยุโรป ทำให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ จากนั้นประเทศสมาชิกอียูจะต้องออกกฎหมายภายใน คาดจะเริ่มใช้ในอีก 3 ปีข้างหน้า

นอกจากอียูแล้ว อีกหลายประเทศ มีนโยบายในการออกกฎหมายหรือมาตรการทางการค้าเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน เช่น สหรัฐ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และแคนาดา มีแนวคิดใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนเช่นกัน เห็นได้ว่านโยบายและมาตรการทางการค้ามุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าและบริการ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และได้มาตรฐานทั้งสิ่งแวดล้อม แรงงาน และสังคม สอดคล้องกับแนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs

Advertisement

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การการค้าโลก (WTO) เปิดสถิติการแจ้งมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ของประเทศสมาชิก WTO ตั้งแต่ ค.ศ.1997 (ปี 2540) พบว่าจำนวนการแจ้งมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้อาจผันผวนบางช่วงเวลา แต่ข้อมูลล่าสุด ค.ศ.2022 (ปี 2565) พบว่า มีจำนวนมาตรการ ถึง 768 รายการ จาก 5,959 รายการ ประเทศสมาชิกที่มีจำนวนการแจ้งเวียนมาตรการ มากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐ 106 รายการ อียู 71 รายการ และบราซิล 65 รายการ สำหรับไทยมี 14 รายการ เมื่อพิจารณารายสาขา พบว่า มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมถูกนำไปใช้กับสาขาเกษตรกรรมมากสุด (35% ของจำนวนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่แจ้งในปี 2565) รองลงมา คือ สาขาการผลิต 29.8% และสาขาเคมี 24.2% ตามลำดับ

จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ภาคธุรกิจไทยจะต้องเร่งปรับตัวสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นกระแสหลักของโลก ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังเป็นประเทศเกษตรกรรมและประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้กับสาขาเกษตรกรรม ย่อมส่งผลกระทบอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ไทยก็อยู่ระหว่างจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … จะเป็นกลไกส่งเสริมการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างแน่นอน

ขณะที่ ผู้ประกอบการไทยบางส่วน โดยเฉพาะ SMEs อาจมองว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องไกลตัว สร้างความยุ่งยากและเป็นภาระต้นทุน แต่ถ้าเริ่มเรียนรู้ ปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสจากกระแสดังกล่าว และเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น อาทิ ปรับปรุงกระบวนการผลิตสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน ก็จะเป็นแต้มต่อ ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจ และยังมีส่วนร่วมสนับสนุนเป้าหมาย SDGs อีกด้วย

กระทรวงพาณิชย์ โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตระหนักถึงความสำคัญการปรับตัวและเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจ เพื่อรับมือกับผลกระทบ จากมาตรการทางการค้าและแนวโน้มด้านความยั่งยืนของโลก จึงตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาการค้าตามระเบียบการค้าโลกใหม่ และสั่งการให้จัดทำคลังความรู้ “พาณิชย์คิดค้า อย่างยั่งยืน” เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการทำธุรกิจการค้าอย่างยั่งยืนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ SMEs ได้เรียนรู้ เพื่อปรับตัวสู่การค้าวิถีใหม่ เผยแพร่ข้อมูลที่น่าสนใจ อาทิ การดำเนินธุรกิจและการค้าที่ยั่งยืน เทรนด์การค้ายั่งยืน กฎระเบียบของไทยและคู่ค้าสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการค้ายั่งยืน ข้อมูลกิจกรรม สัมมนา และงานแสดงสินค้า หลักสูตรการเรียนรู้เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และข้อมูลสินค้าและร้านค้าที่สนับสนุนความยั่งยืน

ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการให้เข้าถึงข้อมูลเพื่อใช้ในการเรียนรู้ ปรับตัว และแสวงหาโอกาสทางการค้าจากความยั่งยืน ณ จุดเดียว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีแผนจะเปิดตัวเร็วๆ นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image