เอสเอ็มอี ชูโมเดล ‘DG เกาหลีใต้’ ค้ำสินเชื่อ 5 หมื่นล้าน ‘ให้ตรงปก’

เดือนมิถุนายนนี้ ธุรกิจทุกแขนงโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีและอาชีพค้าขายทั่วไป คาดหวังในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุมัติตามมาตรการการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS11) วงเงิน 50,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ดำเนินการตามมาตรการฯ ตามวัตถุประสงค์ ครม.เศรษฐกิจนัดแรก ต้องการให้ บสย.ดำเนินการค้ำประกันธุรกิจรายย่อยที่กำลังประสบปัญหาเข้าถึงแหล่งทุนได้ยาก และเน้นไปที่ “รายใหม่”

เร็วสุดคงต้องลุ้นการประชุม ครม. อังคารที่ 4 มิถุนายน จะหยิบขึ้นพิจารณาอนุมัติ เพื่อให้การประชุม ครม.เศรษฐกิจ นัดสอง 10 มิถุนายน ได้พิจารณาแนวทางการค้ำประกันต่อไป

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวถึงเรื่องข้างต้นว่า “สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยขอชื่นชม ครม.เศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีเชิงนโยบายผ่าน บสย. และจัดสรรงบประมาณ 50,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้าไม่ถึง แต่สิ่งสำคัญของการแก้ปัญหาให้ได้ตามเป้าหมายอย่างยั่งยืน คือ การออกแบบมาตรการที่สะท้อนตอบโจทย์ความเป็นจริงของเศรษฐกิจที่ไม่ตรงปกมาอย่างยาวนาน ซึ่งต้องใช้กลไกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และหนี้เสีย รวมทั้งยกระดับคุณภาพหนี้ครัวเรือนทั่วประเทศ

ปัจจุบันสถานการณ์เอสเอ็มอี 58% มีปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน เอสเอ็มอีที่เผชิญดอกเบี้ยสูง 46% ขั้นตอนการกู้ยุ่งยากและอนุมัติล่าช้า 23% เอสเอ็มอีที่ขาดความรู้ในการเข้าถึงแหล่งทุนที่เหมาะสม 14% เอสเอ็มอีขาดหลักทรัพย์ในการเข้าถึงสินเชื่อ 7% เอสเอ็มอีมีปัญหาเงื่อนไข เกณฑ์ไม่เอื้อต่อรายย่อย 6% เอสเอ็มอีขาดความรู้ทางบัญชีในการจัดการธุรกิจ 4% เอสเอ็มอีรายย่อยไม่มีเครดิตการค้า 70% ของรายย่อยทั้งหมด ขณะที่อัตราการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี
ลดลงราว 5.1% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี การเข้าถึงสถาบันการเงินของรัฐยังแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ เอสเอ็มอีที่เข้าถึงสถาบันการเงินในระบบ ใช้ทั้งในและนอกระบบ 11% นอกระบบ 35% หนี้เฝ้าระวังหรือ Special mention ราว 610,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 18% หนี้เฝ้าระวัง และหนี้เสีย 1.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 8% ซึ่งเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลสูงสุด 260,000 ล้านบาท ยานยนต์ 230,000 ล้านบาท สินเชื่อที่อยู่อาศัย 180,000 ล้านบาท บัตรเครดิต 60,000 ล้านบาท
และอื่นๆ 320,000 ล้านบาท รวมหนี้เฝ้าระวังและหนี้เสียสูงถึง 1.66 ล้านล้านบาท” ประธานสมาพันธ์ฯกล่าว

Advertisement

โดยประธานสมาพันธ์ฯกล่าวอีกว่า สำหรับข้อคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาให้เกิดความยั่งยืน มี 3 ข้อหลัก ได้แก่

1.“เติมความรู้ควบคู่ทุน” สลับวาว์ลหนี้นอกระบบเข้าสู่ในระบบที่มีคุณภาพ ปรับโครงสร้างหนี้เสียสู่หนี้ชั้นดี สร้างกลไกรัฐยกระดับคุณภาพหนี้ครัวเรือนทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด โดยร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่สถาบันการศึกษา สถาบันการเงินรัฐ บสย. สถาบันการเงินนอกกำกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการในแต่ละระดับ สสว.จังหวัด เครือข่ายภาคเอกชนและประชาสังคม ซึ่งต้องเชื่อมโยงส่งต่อกลไกรัฐร่วมเอกชนที่มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และใช้ประโยชน์จากหน่วยงานต่างๆ ที่มีขีดความสามารถ อาทิ บสย. คลินิกแก้หนี้ ลงลึกหมู่บ้านทำเรื่อง Financial literacy การยกระดับ Digital Citizenship ผ่านมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา ETDA และ DEPA และยกระดับมาตรฐานแรงงาน พัฒนาทักษะ สมรรถนะ ขีดความสามารถแรงงานและเอสเอ็มอีผ่านกลไก BDS สสว. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ศูนย์บ่มเพาะของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งจัดสรรสินเชื่อเข้าถึงง่าย ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ พัฒนาอาชีพเดิมที่ใช้ความสร้างสรรค์ นวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล และความเป็นผู้ประกอบการ

2.เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับการค้ำประกัน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนเอสเอ็มอี ที่ต้องมุ่งทำในกลุ่มเปราะบาง และทบทวนเกณฑ์คุณสมบัติที่มีความยืดหยุ่น ขั้นตอนสะดวกรวดเร็ว ระยะเวลาพิจารณาสั้น นำ AI มาประยุกต์ใช้กับการบริหารวิเคราะห์ข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งงบประมาณต้องมุ่งเป้าใช้กับสถาบันการเงินของรัฐ และให้ครอบคลุมถึงกองทุนต่างๆ ที่สามารถดึงกลุ่มเปราะบาง เอสเอ็มอีโดยเฉพาะรายย่อยเข้าระบบได้ด้วย อาทิ กองทุน สสว. กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ร่วมด้วยจะเป็นโอกาสและประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งเสริมเข้าถึงแหล่งทุนในระบบอย่างยั่งยืนให้ดำเนินการควบคู่กับข้อ 1 ซึ่งหากพิจารณาข้อมูลสำรวจ สสว.พบว่าเอสเอ็มอีอยู่ในระบบสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารเฉพาะกิจราวร้อยละ 40 เอสเอ็มอีในระบบธนาคารพาณิชย์ 14% และเอสเอ็มอีใช้แหล่งทุนนอกระบบราว 36% ที่เหลือเป็นแหล่งอื่นๆ

Advertisement

3.นวัตกรรมทางการเงิน “บัตรส่งเสริมเครดิตการค้าเพื่อ เอสเอ็มอี” อาจครอบคลุมถึงวิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรด้วย เพื่อนำไปใช้ในการจัดหา จัดซื้อจ่ายค่าวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต จ้างงาน ค่าสาธารณูปโภค ค่าขนส่งเพื่อการประกอบอาชีพ เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินทุนหมุนเวียน และสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจฐานราก สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการออกแบบสิทธิประโยชน์ ส่วนลด ลดค่าครองชีพ ต้นทุนประกอบอาชีพ และมีระบบเครดิตสกอร์ริ่ง (Credit Scoring) ในการประเมินการพัฒนาผู้ประกอบการที่เหมาะสมตามความต้องการ พร้อมระบบส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาต่อเนื่องจะช่วยยกระดับผู้ประกอบการทั่วประเทศ ลดปัญหาหนี้นอกระบบ เพราะเอสเอ็มอีที่มีปัญหาทางการเงินราว 92% ขาดสภาพคล่องต้องการแหล่งทุนสำหรับหมุนเวียนใช้ในกิจการ

ขณะที่กรณีศึกษาการค้ำประกันสินเชื่อของประเทศเกาหลีใต้ไม่ได้ทำในรูปแบบ Portfolio guarantee Scheme (PGS) แต่เป็น Direct Guarantee (DG) หรือ Individual Guarantee (IG) คือให้การค้ำประกันแบบรายธุรกิจตามระบบการประเมินคุณภาพเครดิตและคุณสมบัติอื่นของเอสเอ็มอีแต่ละราย ที่เรียกว่า กองทุนการค้ำประกันสินเชื่อเกาหลีใต้ หรือ Korea Credit Guarantee Fund (KODIT) ดำเนินการมานานกว่า 40 ปี มีการอิงกับกลไกตลาดมากกว่า Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ของไทย

ทั้งนี้ KODIT เกาหลีใต้ประสบผลสำเร็จอย่างมากในการยกระดับ
เอสเอ็มอีและเป็นต้นแบบให้กับหลายประเทศ ซึ่งอัตราส่วนการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีของเกาหลีใต้สูงถึงราว 80% ของสินเชื่อธุรกิจทั้งหมด และอัตราส่วน NPL ของเอสเอ็มอีภายใต้โครงการค้ำประกันอยู่ที่เพียงไม่ถึง 1% เพราะกลไกมีความยืดหยุ่น ทำให้การค้ำประกันของ KODIT ตอบสนองได้อย่างรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจภายใต้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมา ใช้เป็นเครื่องมือช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เอสเอ็มอีหวังว่าโครงการ PGS11 กับโครงการ บสย. SMEs เข้มแข็ง วงเงิน 50,000 ล้านบาท จะปรับเปลี่ยนให้เอสเอ็มอีปังได้ ใช้ทำธุรกิจ เข้าถึงแหล่งทุน ลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งสู่ความยั่งยืน แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายแสงชัยทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image