คิดเห็นแชร์ : สาม‘In’ของปัญหาพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ สู่นโยบานสวน 15 นาที

คิดเห็นแชร์ : สาม‘In’ของปัญหาพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ สู่นโยบานสวน 15 นาที

สำหรับวันสิ่งแวดล้อมโลกที่เพิ่งผ่านไปนี้ ข้อความสื่อสารหลักคือ “We are #GenerationRestoration” หรือการให้คำสัญญาของรุ่นเราว่าจะเป็นรุ่นที่เอาจริงกับการฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับมาเป็นเหมือนก่อน และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่ออนาคตของรุ่นถัดๆไป ซึ่งหนึ่งในวาระสำคัญของให้คำสัญญานี้คือ “การทวงคืนธรรมชาติให้กับเมือง”

แน่นอนว่าในยุคปัจจุบันเมืองกลายเป็นจุดสนใจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการที่เกินครึ่งของประชากรโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง (และคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 ประชากรในเมืองจะเพิ่มเป็นสองในสาม) หรือการที่เมืองเป็นหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ ยกตัวอย่างเช่น 75% ของทรัพยากรโลกนั้นถูกบริโภคโดยสังคมเมือง หรือการที่เกินครึ่งของขยะมาและอย่างน้อย 60% ของก๊าซเรือนกระจกถูกผลิตจากพื้นที่เมือง

นอกเหนือจากการที่เมืองเป็นต้นตอของปัญหาแล้ว เมืองยังเป็นเหยื่อรายแรกของผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วม มลพิษทางอากาศที่แย่ลง หรือประเด็นความร้อนที่พวกเราเพิ่งได้สัมผัสไปช่วงเดือนก่อน

Advertisement

ช่วงวันสิ่งแวดล้อมโลกนี้ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะแชร์หลักคิดการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในบริบทเมืองที่ปัจจุบันได้นำไปใช้เป็นหลักการทำงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งประกอบด้วยการสะท้อนปัญหาที่พบเจอและวิธีการจัดการและปรับปรุง

ที่ผ่านมาส่วนตัวมองว่าปัญหาพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯสามารถมองได้ผ่านสาม “In” นั่นคือ “Inequality”, “Inaccessibility”, และ “Inefficiency”

1.“Inequality” – ความเหลื่อมล้ำของพื้นที่สีเขียว

Advertisement

เวลาเห็นคำว่า “ความเหลื่อมล้ำ” เราจะพบในบริบทของเศรษฐกิจหรือสังคม แต่ที่จริงแล้วความเหลื่อมล้ำในมิติของสิ่งแวดล้อม – โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่สาธารณะสีเขียว – นั้นมีความเด่นชัดอย่างมาก เช่นปัจจุบันนี้บางพื้นที่ในกรุงเทพฯมีพื้นที่สีเขียวครบถ้วนแล้ว เข้าถึงได้ง่าย แต่ในบางพื้นที่ยังมีไม่พอ

ตัวอย่างเช่นเขตปทุมวัน แม้ว่าจะเป็นย่านธุรกิจที่มีตึกสูงมายมาก แต่ที่จริงแล้วในพื้นที่ส่วนมากของเขตนี้ คุณสามารถเดินถึงสวนได้ภายใน 15 นาที หรือ 800 เมตร ไม่ว่าจะเป็นสวนใหญ่อย่าง สวนลุมฯ สวนปทุมวนานุรักษ์ อุทยาน 100 ปี ของจุฬาฯ รวมถึงสวนเบญจกิติ (เขตคลองเตย) ที่เข้าถึงได้ง่าย หรือสวนหย่อมที่กทม. ได้ดำเนินการ เช่นริมคลองแสนแสบ

แต่ในทางกลับกันยังมีอีกหลายเขตที่ยังมีสวนไม่เพียงพอ และถ้าเราเชื่อมกับข้อมูลอย่างจำนวนประชากร หรือขนาดของพื้นที่เขตแล้ว จะยิ่งเข้าใจว่าโซนไหนน่ากังวลเป็นพิเศษ เช่นเขตบางเขนมีพื้นที่ 42.1 ตร.กม. และมีประชากรมากถึง 184, 661 คน เท่ากับมีความหนาแน่นอยู่ที่ 4,382.67 คน/ตร.กม. (มากกว่าค่าเฉลี่ยของกรุงเทพฯ ที่ 2,000 คน/ตร.กม.) แต่พื้นที่สีเขียวยังไม่ทั่วถึง

ที่ผ่านมาเราก้มหน้าก้มตาตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ถึง 9 ตารางเมตรต่อคนตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญแต่ก็ไม่ได้ตอบทุกมิติ เช่นถ้าเราไปเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากๆ ฝั่งโซนกรุงเทพฯตะวันออก เช่นหนองจอก ที่มีพื้นที่มากมายแต่มีความหน้าแน่นน้อย เราจะพบว่าตัวเลขตารางเมตรต่อคนนั้นจะเพิ่มขึ้นตลอด แต่ก็ต้องถามว่าประชาชนจะได้ประโยชน์มากขนาดไหนถ้าไปทำสวนที่อยู่ไกลชุมชนและเดินทางไปลำบาก

เพื่อที่จะตอบโจทย์ประเด็นนี้นโยบายสวนของกทม. จะต้องพิจารณาเพิ่มอีกเกณฑ์สำคัญ (นอกเหนือจากการเพิ่มตารางเมตรต่อคน) นั่นคือ “สัดส่วนของประชากรที่สามารถเดินเท้าจากบ้านไปสวนสาธารณะภายใน 15 นาที หรือ 800 เมตร” ซึ่งในช่วงสองปีที่ผ่านมาสัดส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 30% เป็น 40%

วิธีดูแผนที่: สีเขียวรอบสวนคือบริเวณพื้นที่ที่ประชาชนสามารถเดินเข้าถึงสวนได้ภายใน 15 นาทีหรือ 800 เมตร ส่วนสำหรับbackground สีม่วงหมายความว่าถ้ายิ่งเข้มแปลว่าประชากรยิ่งหนาแน่นซึ่งว่าความต้องการสวนที่สูงกว่า จะเห็นว่าเขตบางเขนมีสัดส่วนสีเขียวที่น้อยและมีสีม่วงเข้มหลายจุด

2.“Inaccessibility”-การเข้าถึงพื้นที่สีเขียว
ปัจจุบันต้องยอมรับว่าการเข้าถึงสวนส่วนใหญ่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ ประชาชนที่อยากมาออกกำลังกายที่สวนกลางเมืองส่วนใหญ่จะต้องขับรถมา ซึ่งไม่สะดวกและยังทำให้คนกลุ่มนี้มีส่วนต่อการสร้างปัญหารถติดเนื่องจากส่วนมากจะมาเวลาพร้อมๆ ก่อนและหลังเวลาทำงาน
นอกเหนือจากการที่จะต้องกระจายสวนไปตามพื้นที่ต่างๆของเมืองแล้ว การพิจารณาการเดินทางแบบ last mile ก่อนถึงสวนก็มีความสำคัญอย่างมาก ต้องคำนึงว่าสวนนี้สามารถเดินถึงระบบขนส่งมวลชนได้หรือไม่? ทางเท้าในบริเวณรอบสวนดีพอหรือไม่? ความปลอดภัยในการเข้าถึงสวนเป็นอย่างไร? (กรณีสวนในชุมชน หรือที่อยู่พื้นที่ใต้ทางด่วนจะต้องพิจารณาเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะถ้าไปลงทุนตัวสวนไปมากแต่ทางเข้าไม่ปลอดภัยก็จะทำให้ประชาชนไม่มาใช้บริการ)

อีกแนวทางการเพิ่มการเข้าถึงคือ Park Connector Network (PCN) หรือเครือข่ายการเชื่อมโยงระหว่างสวนที่มีตัวอย่างเช่นที่สิงค์โปร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนเดินมาใช้สวน แถมยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินเท้ามากขึ้น เช่นสามารถเดินในเครือข่ายนี้ทะลุสวนเพื่อไปจุดหมายต่อไปอย่างสถานีรถไฟฟ้า ปัจจุบันกรุงเทพฯก็มี PCN ของเราแล้ว อย่างสะพานเขียวที่เชื่อมสวนลุมฯกับสวนเบญจกิติเข้าหากัน แต่ยังมีพื้นที่โอกาสอีกมากมายอย่างระหว่างสวนสราญรมย์กับสวนรมณีนาถในเขตพระนคร

3.“Inefficiency”–ประสิทธิภาพของการพัฒนาพื้นที่ที่ควรจะต้องดีกว่านี้
อีกปัญหาที่พบคือประสิทธิภาพการหาและพัฒนาพื้นที่ ถ้ามองดีๆจะเห็นว่าในกรุงเทพฯยังมีพื้นที่อีกมากที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ริมคลอง ตามสถานที่ต่างๆ เช่นวัด โรงเรียน และอื่นๆอีกมาก ที่ผ่านมากรุงเทพมีตัวอย่างการเปลี่ยนพื้นที่เป็นสวนสาธารณะ เช่นสวนเบญจกิติที่เดิมเป็นโรงงานยาสูบ หรือสวนวชิรเบญจทัศ ที่เดิมเคยเป็นสนามกอล์ฟ

ปัจจุบันมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ เช่นการปรับบ่อฝังกลบเดิมในโรงขยะอ่อนนุชสู่สวนป่าในเมือง หรือพัฒนาบึงฝรั่ง เขตบางซื่อ ที่เป็นบึงน้ำกลางกรุงขนาด 61 ไร่ จากเดิมที่มีล้อมรอบด้วยหลายชุมชนเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่

อีกแหล่งคือพื้นที่ว่างของเอกชนที่ปัจจุบันมีหลายเคสที่กลายเป็น “แปลงเกษตรกลางเมือง” ปัจจุบันมีพื้นที่รกร้างมากมายที่แม้ประชาชนอาจจะไม่ได้ประโยชน์โดยตรง (เข้าไปใช้ไม่ได้) แต่มีระบบนิเวศเดิม เช่นต้นไม้หรือ พุ่มไม้ใหญ่ ที่สร้างประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมสามารถช่วยการดูดซับคาร์บอน ช่วยดักเก็บน้ำชั่วคราวได้ หรือประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นพื้นที่อาศัยสำหรับสัตว์ต่างๆ การรักษาพื้นที่เหล่านี้ไว้ให้ไม่ถูกตัดทิ้งกลายเป็นพื้นปูนหรือกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อบริบทเมืองเป็นประเด็นสำคัญ

ที่จริงแล้วสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีบริบทและโจยท์ที่ต่างกัน โจยท์ใหญ่ของฝั่งกรุงเทพคือการหาพื้นที่สีเขียวเพิ่มเพื่อลดทอนความ “เทา” ที่มาจากอาคารและพื้นปูน ส่วนในทางกลับกันฝั่งธนฯ เป็นการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวเดิม การที่โครงสร้างพื้นฐาน เช่นระบบรถไฟฟ้าไปที่ฝั่งธนฯมากขึ้น ทำให้มีความต้องการจากภาคเอกชนที่พร้อมซื้อที่เพื่อการพัฒนา ทำให้ประชากรและชุมชนดั้งเดิมถูกกลืนหายไปจาคพื้นที่ และอีกประเภทที่หายไปพร้อมๆคือพื้นที่สีเขียว

หนึ่งในทางออกคือการให้กทม. ใช้พื้นที่ (อย่างน้อยต้อง 7 ปี และมีคณะกรรมการพิจารณา) เพื่อที่จะได้พัฒนาเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งสำหรับเจ้าของที่แล้วจะบรรเทาเรื่องภาระทางภาษีได้แถมยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับเมืองด้วย

นโยบายสวน 15 นาทีของกทม.นี้ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาสาม “In” โดยเฉพาะ เริ่มจากความหมายของชื่อนโยบายที่เน้นถึง “การเข้าถึง” (ประชาชนต้องเข้าถึงสวนภายใน 15 นาที) มากกว่า “ความใหญ่”หรือ “ความสวยงาม” ของสวน การระบุความหมายนี้เข้าไปในชื่อนโยบายคือการฝังโจทย์เข้าไปใน DNA ของเจ้าหน้าที่ของทั้งสำนักสิ่งแวดล้อมและ 50 สำนักงานเขตให้ต้องมองเรื่องนี้เป็นหลัก

นอกเหนือจากนั้นเรายังใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนนโยบายให้เจ้าหน้าที่ได้ทราบว่าในแต่ละเขตมีพื้นที่ที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสวนได้อยู่จุดไหนบ้าง เพื่อที่จะได้เน้นไปหาพื้นที่และพัฒนาให้ตรงจุด

การเพิ่มพื้นที่สีเขียวนับว่าเป็นนโยบายตัวอย่างของการ “ทำน้อยแต่ได้เยอะ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการช่วยลดอุณหภูมิเมือง การดูดซับคาร์บอน ดักจับน้ำ การปรับปรุงคุณภาพอากาศ และที่สำคัญที่สุดคือเป็นหัวใจที่ทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image