ส่องร่างพีดีพี2024 กดค่าไฟไม่เกิน 4 บาท ผุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เล็กปลายแผน

ส่องร่างพีดีพี 2024 กดค่าไฟไม่เกิน 4 บาท ผุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เล็กปลายแผน

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 12 มิถุนายน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะเดินหน้าเปิดรับฟังความเห็นร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (พีดีพี2024) หลังมีการปรับปรุงพีดีพี 2018 มานาน แต่ด้วยปัจจัยกระทบ ทั้งมีการร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญเรื่องสัดส่วนการผลิตระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และผลกระทบจากโควิด-19 ล่าสุดร่างพีดีพี 2024 พร้อมเดินหน้า กำหนดกรอบบังคับใช้เดือนกันยายนนี้

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า พีดีพี 2024 จะพยายามรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าไม่ให้เกิน 4 บาทต่อหน่วย จากแผน พีดีพี เดิม(พีดีพี2018) ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย เนื่องจากร่างแผนพีดีพี 2024 มีการกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้นแต่ถือว่าไม่มาก เพราะพึ่งพาเทคโนโลยีไฟฟ้าที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง กระจายต้นทุน ทั้งพลังงานหมุนเวียน ก๊าซธรรมชาติ ไฮโดรเจน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูล หรือ SMR ภายใต้ 3 เงื่อนไขสำคัญที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ คือ

  1. ความมั่นคงทางไฟฟ้า
  2. ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  3. ควบคุมต้นทุนค่าไฟให้มากที่สุด

“ความมั่นคงไฟฟ้าของไทยเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งพีดีพีเดิมจะดูจากสำรองไฟฟ้าเป็นหลัก แต่ในพีดีพี 2024 จะใช้เกณฑ์โอกาสการเกิดไฟฟ้าดับ หรือ LOLE ต้องไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หรือ 17 ชั่วโมง จาก 8,760 ชั่วโมง มาแทนเกณฑ์กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง หรือ Reserve Margin ซึ่งเกณฑ์ LOLE ของไทยนี้ถือว่ามั่นคงเป็นลำดับต้นของอาเซียน เช่นเดียวกับสิงคโปร์และมาเลเซีย” นายวีรพัฒน์กล่าว

Advertisement

นายวีรพัฒน์กล่าวด้วยว่า แผนพีดีพี 2024 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงปลายแผนในปี 2580 จะสูงถึง 5.5 – 5.6 หมื่นเมกะวัตต์ จากแผนเดิม 3.6 หมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้นการผลิตไฟฟ้าใหม่จะต้องเพิ่มขึ้น โดยจะพิจารณาเป็นรายภาค โดยเฉพาะภาคใต้ และภาคเหนือ ที่ไฟฟ้าไม่เพียงพอความต้องการใช้ ซึ่งการกำหนดสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลง 30-40% ในปี 2573 และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2593

นายวีรพัฒน์กล่าวต่ออีกว่า แผนพีดีพี2024 จะมุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(Renewable Energy)มากขึ้นเป็นสัดส่วน 51% จากแผนเดิม 36% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีมากที่สุดถึง 30% ของพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด หรือประมาณ 2 หมื่นเมกะวัตต์ นอกจากนี้จะมีการกำหนดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ขนาด 600 เมกะวัตต์ช่วงปลายแผน และการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสมในก๊าซธรรมชาติ ในสัดส่วนการใช้ 5% ของการใช้ก๊าซฯ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image