เอฟเฟ็กต์ ‘ซูซูกิ-ซูบารุ’ โบกมือลา… สะเทือนผู้บริโภค-ฐานผลิตรถยนต์ไทย

เอฟเฟ็กต์‘ซูซูกิ-ซูบารุ’โบกมือลา... สะเทือนผู้บริโภค-ฐานผลิตรถยนต์ไทย

Krungthai COMPASS โดย วีระยา ทองเสือ และ กณิศ อ่ำสกุล ได้วิเคราะห์สถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยภายหลัง 2 ค่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น คือ ซูบารุ และ ซูซูกิ ประกาศหยุดสายการผลิตในประเทศไทย

โดยระบุว่า วงการยานยนต์ไทยมีเรื่องให้น่าตกใจอยู่ไม่น้อย จากการประกาศหยุดสายการผลิตในไทยของ 2 ค่ายรถยนต์ ซูบารุ และซูซูกิ

โดยวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์ซูบารุ ประกาศหยุดสายการผลิตโรงงานในไทยสิ้นปี 2567 เนื่องจากบริษัทเผชิญปัญหาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้รถยนต์ที่ผลิตออกมาไม่สามารถขายได้ในราคาที่เหมาะสม จึงเลือกปรับแผนไปนำเข้ารถจากญี่ปุ่นแบบทั้งคัน (CBU) เป็นการทดแทน

ผ่านไปสัปดาห์นิดๆ วันที่ 7 มิถุนายน 2567 มีข่าวสะเทือนอีกครั้ง เมื่อบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ประกาศหยุดสายการผลิตโรงงานไทยช่วงสิ้นปี 2568 โดยซูซูกิจะนำเข้ารถยนต์จากอาเซียน ญี่ปุ่น อินเดีย มาทำตลาดในไทยแทน และยืนยันจะให้บริการหลังการขายต่อไป

Advertisement

Krungthai COMPASS มองว่าสาเหตุที่ทำให้ทั้ง ซูบารุและซูซูกิ ตัดสินใจหยุดสายการผลิตในไทยมาจาก 1.การทำตลาดที่ยากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำมาสู่2.ปัญหาการขาดทุนที่สะสมอย่างต่อเนื่อง กระทบยอดขายและส่วนแบ่งตลาดที่ปรับตัวลงต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นถึง “การทำตลาดที่ยากขึ้นกว่าในอดีต”

ข้อมูลช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าค่ายรถยนต์ทั้ง 2 รายมียอดขายในไทยขาลงต่อเนื่อง โดยซูบารุมียอดขายในไทยลดจาก 3,952 คัน (ส่วนแบ่งตลาด 0.4%) ในปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 1,682-2,282 คัน (0.2%-0.3%) ในช่วงปี 2565-2566

ขณะที่ซูซูกิเคยทำยอดขายสูงถึง 26,380 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 3.3% ในปี 2563 ประสบปัญหายอดขายลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกันในรอบ 3 ปีหลัง โดยในปี 2566 มียอดขาย 12,151 คัน ลดลง 39.5% และมีส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือเพียง 1.6%

Advertisement

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของผู้บริโภคที่หันมาให้ความนิยมทั้งรถยนต์พลังงานทางเลือกทั้ง HEV หรือ EV เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ผลิตทั้ง 2 ค่ายไม่สามารถ Maintain ยอดขายและส่วนแบ่งตลาดได้เหมือนในอดีต

ผลการสำรวจเรื่อง Global Automotive Consumer Study ของ Deloitte ระบุว่า ปี 2566 และล่าสุดปี 2567 ผู้บริโภคไทยสนใจรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ลดลงต่อเนื่อง เมื่อหันกลับมามองโมเดลรถยนต์ ซูบารุ และซูซูกิ ที่ใช้ทำตลาดในไทยพบว่าล้วนมีแต่รถยนต์ ICE แทบทั้งนั้น ระยะหลังทั้ง 2 ค่ายจึงทำตลาดในไทยได้ค่อนข้างยาก

เมื่อยอดขายลดลง แต่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายปรับลงตามไม่ทัน ทำให้ใน 5 ปีหลัง (2562-2566) ค่ายรถยนต์ทั้ง 2 ต้องขาดทุนสะสมรวมกันถึง 3,781 ล้านบาท บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทำหน้าที่ดูแลด้านการขาย และบริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานที่ดูแลด้านการผลิตมีผลการดำเนินงานในรอบ 5 ปีหลังสุดที่ขาดสุทธิสะสม 272 และ 1,757 ล้านบาท ด้านบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีผลขาดทุนสะสมในช่วงเดียวกัน 1,752 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย แบ่งเป็น 3 มิติ ได้แก่

1.ยอดการผลิตรถยนต์ของไทย โดย Krungthai COMPASS มีมุมมองต่อยอดการผลิตรถยนต์ไทยในปี 2567 ว่ามีโอกาสหดตัว 4.6% มาอยู่ที่ 1.75 ล้านคันติดลบต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากยอดขายรถยนต์ในประเทศถูกกดดันทั้งจาก กำลังซื้อที่อ่อนแอจากเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับต่ำ และปัญหาหนี้เสียที่กดดันให้มาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อมีความเข้มงวดขึ้น

อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ทยอยเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ และได้ชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ที่ผลิตในไทย สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์ BEV ในไทยที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน เริ่มมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจาก 2% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมดในปี 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ 10% ในช่วงเดือน มกราคม-เมษายน 2567

จาก 2 ปัจจัยกดดัน ทำให้ยอดผลิตรถยนต์ของไทยมีแนวโน้มหดตัว จาก 1.83 ล้านคันในปีที่ผ่านมา เหลือ 1.75 ล้านคันในปี 2567 หรือหายไปราว 8 หมื่นคันและกว่ายอดผลิตรถยนต์ของไทยจะกลับมาที่ระดับ 2 ล้านคันอีกครั้งอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี

นอกจากนี้ Krungthai COMPASS คาดว่าการหยุดสายผลิตรถยนต์ของทั้ง 2 ค่าย จะเป็น Downside Risk ที่ค่อนข้างจำกัดต่อยอดการผลิตรถยนต์ไทยโดยภาพรวมในปี 2568 จากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าการหยุดสายผลิตของทั้ง 2 ค่ายจะทำให้การผลิตโดยรวมในปี 2568 ลดลงราว 5,000-6,500 คัน จาก 1,800,000 คัน ในคาดการณ์เดิม เหลือ 1,793,500 คัน

2.ผลกระทบต่อ “ดีลเลอร์รถยนต์” ซึ่งการขายรถยนต์ถือเป็นรายได้หลักของดีลเลอร์คิดเป็นสัดส่วน 84% ของรายได้ทั้งหมด จึงมีความเสี่ยงที่รายได้ของดีลเลอร์ทั้ง 2 ค่ายรถยนต์อาจถูกกดดันหากการนำเข้าไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ดังนั้น ตัวเลือกของดีลเลอร์อาจเป็นไปได้ทั้งการดำเนินการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ให้ทั้ง 2 ค่ายต่อไป หรือ Diversify ไปเป็นดีลเลอร์ให้กับยานยนต์ค่ายอื่นๆ

3.ผลกระทบต่อ “เต็นท์รถมือ 2” มีเต็นท์จำนวนไม่น้อยที่รับซื้อรถยนต์ซูบารุและซูซูกิมือ 2 ไว้ก่อนแล้ว การที่ผู้ผลิตปรับลดราคามือ 1 ลงจะยิ่งกดดันให้เต็นท์รถต้องปรับราคาลงเพื่อระบายของออกซึ่งอาจนำไปสู่กำไรที่แย่ลง

ประเด็นที่ต้องจับตา ในระยะถัดไป ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเข้ามาของรถยนต์ BEV ที่ทยอยแทนที่รถยนต์ ICE มากขึ้นเรื่อยๆ การปิดโรงงานผลิตรถยนต์ของค่ายซูบารุ และซูซูกิ คือสัญญาณแรกที่เตือนว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้าเป็นวงกว้างมากขึ้น

ผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมดำเนินธุรกิจได้อย่างยากลำบากมากขึ้น การแข่งขันในตลาดรถยนต์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จากการที่ผู้นำตลาดรถยนต์ BEV โดยเฉพาะจากจีน เช่น BYD GWM เข้ามาตีทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกของไทย โดยนำเสนอรถยนต์ BEV ที่มีคุณภาพสูงในราคาที่แข่งขันได้ ขณะที่ Tesla และแบรนด์รถยนต์ BEV ระดับโลกอื่นๆ ได้ขยายตลาดเข้ามาในไทยเช่นกัน รวมทั้งภาวะสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่สหรัฐจะขึ้นภาษีสินค้าจีนซึ่งรวมรถยนต์ BEV อยู่ด้วย อาจทำให้จีนต้องหาตลาดส่งออกอื่นแทน ก็เป็นประเด็นที่อาจทำให้การแข่งขันตลาดรถยนต์ในไทยยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

โดยผลกระทบครั้งนี้ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่จะกระทบไปถึงผู้ผลิตชิ้นส่วน และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ICE ซึ่งมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากโครงสร้างการผลิตและความต้องการชิ้นส่วนของรถยนต์ BEV เปลี่ยนไปจากรถยนต์ ICE อย่างสิ้นเชิง โดยการผลิตรถยนต์ BEV 1 คัน จะใช้ชิ้นส่วนเพียง 2-3 พันชิ้นเท่านั้น ลดลงจากการผลิตรถยนต์สันดาปภายในมากถึง 10 เท่า ชิ้นส่วนที่หายไป อาทิ เครื่องยนต์ ท่อไอเสีย หัวฉีด การเติบโตของตลาดรถยนต์ BEV จึงกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกันมุมมองของผู้บริโภคอาจรู้สึกถึงความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในด้านบริการหลังการขายและซ่อมบำรุง รวมถึงราคาขายต่อรถยนต์มือ 2 และราคารถยนต์ มีโอกาสปรับขึ้นตามโครงสร้างภาษีนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศมาขายทั้งคัน (CBU) โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อาจต้องเสียภาษีสูงถึง 95% ของราคารถยนต์ C.I.F.4 หมายความว่า ลูกค้าอาจต้องใช้เงินสูงถึงเกือบเท่าตัวของราคาจำหน่ายที่ประเทศต้นทาง กระทบต่อการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค

และมีโอกาสกระทบต่อยอดขายรถยนต์ของทั้ง 2 ค่ายอยู่ดี!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image