รัฐเปย์ ‘หวยเกษียณ-เอ็น3’ ทางออกออมรับสังคมสูงวัย-ตอบโจทย์นักเสี่ยงดวง!!

รัฐเปย์‘หวยเกษียณ-เอ็น3’ ทางออกออมรับสังคมสูงวัย-ตอบโจทย์นักเสี่ยงดวง!!

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society) อย่างเต็มรูปแบบ ประเมินจากประชากรผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 1 ใน 5 หรือคิดเป็น 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

ล่าสุด ข้อมูลของกรมการปกครอง ณ เดือนพฤษภาคม 2567 มีประชากรผู้สูงอายุ จำนวน 12.49 ล้านคน จากประชากรไทยทั้งหมด 65.99 ล้านคน คิดเป็นราว 19% ของประชากรทั้งหมดแล้ว จากอัตราเด็กเกิดใหม่ในประเทศต่ำลงต่อเนื่อง คาดกันว่าในอีกไม่นานไทยจะแตะระดับดังกล่าว

⦁สังคมสูงวัยที่ต้องเตรียมพร้อม
แน่นอนว่าการที่คนเราอายุยืนเป็นเรื่องที่ดี แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายังมีผลกระทบอีกด้านที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเรื่อง การขาดแคลนแรงงาน แม้จะพยายามขยายเวลาเกษียณอายุ หรือจ้างงานคนที่อายุเกิน 60 ปี แต่ก็ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าวัยแรงงาน

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับร่างกายอ่อนแอ และมีโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามวัย สังเกตง่ายๆ จากการไปโรงพยาบาล พบแต่คนสูงวัยที่เข้าคิวรักษา ซึ่งการรักษาบางโรคมีค่าใช้จ่ายมาก บางโรคเป็นเรื้อรัง บั่นทอนสุขภาพของคนเรา และไทยเป็นประเทศที่มีการดูแลประชากรด้วยสวัสดิการ ดังนั้น ยิ่งคนสูงอายุมากขึ้น การอุดหนุนงบประมาณ ทั้งสวัสดิการการรักษา และเบี้ยยังชีพแบบถ้วนหน้ายิ่งมากตามไปด้วย

Advertisement

ดังนั้น เมื่อการอุดหนุนสวัสดิการมีอย่างจำกัด สิ่งที่จะช่วยได้ คือให้ผู้สูงวัยดูแลตัวเองได้ ด้วยเงินเก็บของตัวเอง

⦁นโยบายรัฐเพื่อการออมวัยเกษียณ
ที่ผ่านมารัฐบาลไทย พยายามทำหลายนโยบาย เพื่อให้คนไทยมีเงินเก็บ เงินออมเพื่อวัยเกษียณ อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่เป็นการบังคับให้คนที่อยู่ในอาชีพข้าราชการออมเงิน และได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม เช่นเดียวกับแรงงานในระบบ มีสำนักงานประกันสังคม ที่ออกมาตรการภาคบังคับในการนำส่งเงิน เพื่อเป็นหลักประกันในการดูแลแรงงานเอง โดยเฉพาะด้านการรักษาพยาบาล กรณีตกงาน หรือกรณีเกษียณอายุ

ส่วนแรงงานนอกระบบ สายอาชีพอิสระ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง มีการจัดตั้ง กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นหน่วยงานที่ดูแลการออมภาคสมัครใจ ที่รัฐจัดให้กับแรงงานนอกระบบ ที่ไม่มีสวัสดิการอื่นใดรองรับได้มีบำเหน็จบำนาญในยามเกษียณเหมือนแรงงานในระบบจากเงินออมสะสม

Advertisement

โดย กอช. เปิดให้แรงงานนอกระบบ (ไม่เป็นสมาชิกข้าราชการ และไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33, มาตรา 39) อายุ 15-60 ปี สมัครเป็นสมาชิก จากนั้นสมาชิกจะส่งเงินออมได้ เริ่มต้น 50 บาทต่อครั้ง รวมสูงสุด 30,000 บาทต่อปี และรัฐบาลจะสมทบเงินตามขั้นดังนี้ อายุ 15-30 ปี รัฐสมทบเพิ่มให้ในเดือนถัดไป 50% ของเงินสะสม สูงสุดไม่เกิน 1,800 บาท/ปี อายุ 30-50 ปี รัฐสมทบเพิ่มให้ในเดือนถัดไป 80% ของเงินสะสม สูงสุดไม่เกิน 1,800 บาท/ปี และอายุ 50-60 ปี รัฐสมทบเพิ่มให้ในเดือนถัดไป 100% ของเงินสะสม สูงสุดไม่เกิน 1,800 บาท/ปี

ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 กอช.มีสมาชิก 2.61 ล้านคนอย่างไรก็ดี ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า แรงงานมีจำนวนกว่า 20 ล้านคน คิดเป็นครึ่งหนึ่งของผู้มีงานทำทั้งหมด ดังนั้น แรงงานนอกระบบยังเข้าไม่ถึงการเป็นสมาชิก กอช.จำนวนมากเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น การออมเงินของ กอช.อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ก็ได้

⦁คลังผุด‘หวยเกษียณ’ตัวช่วยออมเงิน
แต่เมื่อการออมสูตรเดิมที่รัฐบาลสมทบเงินให้ ยังจูงใจไม่พอที่จะดึงดูดแรงงานนอกระบบไม่ได้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง จึงได้ออกนโยบายใหม่ “สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ หรือหวยเกษียณ”

โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผ่าภูมิ โรจนสกุล เปิดรายละเอียดเบื้องต้นของ “หวยเกษียณ” คือ กอช.ออกสลากขูดแบบดิจิทัล ใบละ 50 บาท เพื่อขายให้กับสมาชิก กอช. ผู้ประกันตนม.40 และแรงงานนอกระบบ ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ออกรางวัลทุกวันศุกร์เวลา 17.00 น. ผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลทันที โดยที่เงินค่าซื้อสลากถูกเก็บเป็นเงินออม แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม

รางวัลแบ่งเป็น รางวัลที่ 1 จำนวน 1 ล้านบาท จำนวน 5 รางวัล และรางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล ทั้งนี้ เงินค่าซื้อสลากทั้งหมดจะเป็นเงินออมของผู้ซื้อสลาก (เงินสะสม) ซึ่งจะนำเงินส่งเข้าบัญชีเงินออมรายบุคคลกับ กอช. โดย กอช.จะเป็นผู้บริหารจัดการเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปีจะสามารถถอนเงินทั้งหมดที่ซื้อสลากมาทั้งชีวิตออกมาได้

“นโยบายนี้จะเข้าแก้ไขปัญหาคนไทยแก่แต่จน แก่แต่ไม่มีเงินเก็บเพราะการออมภาคสมัครใจในปัจจุบันไม่ได้ผล ต้องอาศัยการออมที่ผูกกับแรงจูงใจ ซื้อสลาก ถูกกฎหมาย เงินไม่หาย กลายเป็นเงินออมยามเกษียณ ถูกรางวัลได้เงินเลย ไม่ถูกทุกบาททุกสตางค์จะถูกเก็บเป็นเงินออมยามเกษียณ ซื้อมาก ได้ลุ้นมาก มีเงินออมมาก” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังระบุ

พร้อมระบุอีกว่า ขณะนี้คณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (บอร์ด กอช.) มีมติ เห็นชอบนโยบายหวยเกษียณแล้ว ต่อจากนี้ จะนำเสนอระดับกระทรวงการคลัง และจะเสนอคณะรัฐมนตรี ตามลำดับ คาดว่าหวยเกษียณจะเริ่มได้ในช่วงปี 2568

⦁ทีดีอาร์ไอเชียร์รัฐทำหวยเกษียณ
ขณะที่นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นณริฏ พิศลยบุตร ระบุว่า ส่วนตัวสนับสนุนนโยบายนี้ เนื่องจาก จากการรายงานวิชาการหลายแห่ง ระบุว่า คนเรา ควรมีเงินเก็บสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ ราว 3-4 ล้านบาทต่อคนต่อปี แต่ในความเป็นจริงนั้น มีคนที่ทำได้น้อยมาก โดยถ้าถามคน 100 คนว่ามีฝากพอที่จะใช้ตอนเกษียณหรือไม่ จะพบว่า มีจำนวน 60-80 คนที่ตอบว่าไม่สามารถทำได้

ขณะเดียวกันเมื่อคนมีเงินออมไม่พอที่จะใช้เมื่อยามเกษียณนั้น วิธีที่จะช่วยได้มี 2 ทาง คือ 1.การแจกเงินสวัสดิการจากรัฐบาล ซึ่งปัจจุบัน ช่องทางนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าอาจจะต้องใช้เงินงบประมาณ 4-7 แสนล้านบาทต่อปี ถึงจะเพียงพอในการให้สวัสดิการผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นภาระงบประมาณอย่างมาก อีกทาง 2.การสนับสนุนให้ประชาชนออมเงินเอง แต่รัฐบาลก็ต้องหาอะไรมาจูงใจให้ประชาชนอยากออมเงินมากขึ้น ซึ่งหวยเกษียณ ก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่หน้าสนใจ ที่คิดว่าจะตอบโจทย์ ช่วยให้คนมีเงินออมได้มากขึ้น

“หวยเกษียณนั้น เป็นการออมเงินที่มีกิมมิก คล้ายกับสลากออมสิน ที่มีลูกเล่นเรื่องรางวัล ซึ่งตอบโจทย์ เพราะคนในปัจจุบัน บางส่วนก็ชอบเล่นการพนัน ไม่ว่าจะลอตเตอรี่ หรือหวยใต้ดินอยู่แล้วซึ่งหวยเกษียณนี่จะช่วยให้คนมีเงินออมเพิ่มมากขึ้น และยังช่วยรัฐบาลให้รัฐบาลใช้งบประมาณอุดหนุนสวัสดิการผู้สูงอายุลดลงแน่นอน” นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ ระบุ

นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอระบุเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าจับตามอง คือเรื่องของช่องทางการขายสลาก ถ้าดูจากโมเดลของสลากออมทรัพย์หรือสลากออมสิน หรือสถาบันการเงินของรัฐ ก็ซื้อไม่ง่ายนัก เพราะต้องไปซื้อสลากที่สาขาของธนาคาร หรือไม่ก็เป็นรูปแบบการซื้อผ่านแพลตฟอร์มโมบายแบงกิ้ง ซึ่งก็ต้องมีความรู้ทักษะเรื่องดิจิทัล ขณะที่กลุ่มเป้าหมายของหวยเกษียณนั้น ก็จะเป็นคนทั่วไปอายุราว 40-50 ปี ที่เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งคนกลุ่มนี้มักจะเข้าไม่ถึงเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล

“ถ้าเกิดว่ารายละเอียดของหวยเกษียณดีไซน์ดีๆ ก็น่าจะตอบโจทย์ในสิ่งที่สลากออมทรัพย์ของแบงก์รัฐไปไม่ถึงได้” นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอให้ความเห็น

⦁ม.หอการค้าหนุนเพิ่มโอกาสออม
ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยแพร่บทความ “หวยเกษียณ: นวัตกรรมเชิงนโยบายที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัย” สรุปความสอดคล้องกันว่า หวยเกษียณถือว่ามีความน่าสนใจ โดยการออกแบบนโยบายหวยเกษียณที่ผสมผสานแรงจูงใจในการเสี่ยงโชคเข้ากับการออมสม่ำเสมอ และจำกัดการถอนเงินออกก่อนเวลา มีโอกาสที่จะช่วยให้นโยบายบรรลุ เป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนผู้ออมยามเกษียณได้มากขึ้น

แม้ว่ารัฐบาลจะต้องอุดหนุนงบประมาณสำหรับเงินรางวัลปีละ 780 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับงบประมาณเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี ที่รัฐต้องใช้ในการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เพราะหากหวยเกษียณสามารถทำให้แรงงานนอกระบบจำนวนมากมีเงินออมเพิ่มขึ้น และลดการพึ่งพิงรัฐลงได้ในอนาคต

ด้านอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า และกรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ธนวรรธน์ พลวิชัย ระบุว่าโครงการหวยเกษียณถือเป็นนโยบายส่งเสริมการออม เป็นสลากออมทรัพย์รูปแบบหนึ่งไม่เข้าเกณฑ์สลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งสลากออมทรัพย์ที่ผ่านมามี 3 ธนาคารที่ทำคือ ออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่วนใหญ่ดอกเบี้ยไม่สูง ใช้เวลาถือครอง 1-3 ปีแต่หวยเกษียณมีความพิเศษคือถือครองต่อเนื่องจนอายุ 60 ปี รวมทั้งได้ลุ้นรางวัล และยิ่งออมก่อนยิ่งได้ลุ้นรางวัลเร็ว

ขณะที่หวยเกษียณใช้ต้นทุนรางวัล 780 ล้านบาทต่อปี เป็นความท้าทายของ กอช. ในการบริหารผลตอบแทนเพื่อไม่ให้กระแสเงินไหลออก และจะนำเงินไปลงทุนและได้ผลตอบแทนกลับมาเท่าไหร่ อีกสิ่งสำคัญคือดอกเบี้ยที่ได้รับจะคุ้มค่ากว่าอัตราเงินเฟ้อหรือไม่ เพราะยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อไถ่ถอนจะได้ดอกเบี้ยกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะการออมส่วนใหญ่จะได้รับดอกเบี้ยไม่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เงิน 100 วันนี้ที่ออมอาจจะเหลือเพียง 97 บาทในอนาคตที่ถึงเวลาไถ่ถอน

“ส่วนกระแสที่พ่อค้าแม่ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลกังวลว่าจะได้รับผลกระทบ เป็นเรื่องปกติที่จะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรับฟังความเห็นของแต่ละฝ่ายและดูว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมเท่าไหร่” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า และกรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลระบุ

⦁คอหวยแฮปปี้ รัฐผลักดัน 2 เกมใหม่
ช่วงเดียวกันนี้ ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการสมทบเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก หรือเอ็น 3 แล้ว

อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า และกรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ระบุอีกเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะประชุมเพื่อหาข้อสรุป 3 ประเด็น ในเรื่องของราคาขาย 20-50 บาท การคัดเลือกผู้ขายจะให้ผู้ค้าสลากดิจิทัลปัจจุบัน หรือเปิดรับสมัครใหม่ หรือให้ทั้งคู่รวมถึงเปิดให้คนอื่นๆ ทั่วไปเข้ามาขาย และสุดท้ายดูว่าจะไปใช้ระบบในการจำหน่าย อาทิ แอพพ์เป๋าตัง แอพพ์อื่น เว็บไซต์ หรือเครื่องจำหน่ายลอตเตอรี่แบบพกพา

“หลังจากได้ข้อสรุปแล้วสำนักงานสลากฯจะมีการเริ่มทดลองขายผ่านแซนด์บ็อกซ์ โดยมีกำหนดเริ่มปี 2567 เพื่อศึกษาดูข้อดีข้อเสียผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเป้าหมายเราต้องการไม่ให้เอ็น 3 กระทบต่อผู้ขายสลาก หรือลอตเตอรี่รายย่อยเดิม แต่ต้องการเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เป็นทางเลือกเพื่อแข่งกับหวยใต้ดิน หรือสลากออนไลน์ในรูปแบบอื่นๆ ได้” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า และกรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ระบุทิ้งท้าย

ถือเป็นข่าวดี โดนใจคนที่ชอบเล่นหวยอย่างมาก ข้อมูลจากสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ได้ทำการสำรวจความเห็นด้วยหรือไม่กับนโยบายหวยเกษียณ พบว่า ประชาชนเห็นด้วย 67.8% ไม่แน่ใจ 34% และไม่เห็นด้วย 8.2% ส่วนคำถามว่า หวยเกษียณมีประโยชน์ต่อการออมเงินไว้ใช้ยามหลังเกษียณได้ มากน้อยเพียงใด พบว่า ช่วยได้มาก 70.2% ช่วยได้น้อย 24.07% และช่วยไม่ได้เลย 5.1%

ด้านสลากเอ็น 3 แม้ไม่ได้มีสำรวจอย่างเป็นทางการ แต่การเจาะไปยังกลุ่มคนเล่นหวย เล่นพนันใต้ดิน มีทางเลือกใหม่ที่ถูกกฎหมาย โดยรายงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ในปี 2566 มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 15-25 ปี เล่นพนันออนไลน์กว่า 3 ล้านคน

ติดตามไปด้วยกันว่า หวยเกษียณ และหวยเอ็น 3 จะเกิดได้จริงในรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image