อุตสาหกรรมไทย…ไม่ปรับ ก็ไป!!

อุตสาหกรรมไทย...ไม่ปรับ ก็ไป!! “การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม

“การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมต้องเริ่มต้นด้วยการต้องตั้งเป้าให้ชัดว่าภาพอุตสาหกรรมในอนาคตที่เราต้องการนั้นเป็นอย่างไร และต้องรู้ชัดเจนว่าสถานภาพอุตสาหกรรมในปัจจุบันของเราเป็นเช่นไร จากนั้นเราจะสร้างใหม่ ปรับเปลี่ยน เสริม เติมแต่ง ทุกอย่างที่ยังเป็นช่องว่างระหว่างอุตสาหกรรมที่เป็นในวันนี้กับอุตสาหกรรมที่เราอยากได้หรืออยากให้เป็นในอนาคต นี่คือ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม” ดร.สมชาย หาญหิรัญ ประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา เปิดบทสนทนาถึงโครงสร้างอุตสาหกรรม ณ เวลานี้

ไม่เพียงตำแหน่งปัจจุบัน ดร.สมชายยังถือเป็นมือเศรษฐกิจคนสำคัญของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพราะเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นอดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ความคิดความเห็นของ สว.รายนี้จึงน่าคิดตาม…

ดร.สมชายระบุว่า หากมองดูจากแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมของโลก การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และพฤติกรรมของผู้คนแล้ว หากเริ่มจากสถานภาพของอุตสาหกรรมของเราในปัจจุบันนั้น เราจะพบการขยายตัวของการผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ GDP ภาคอุตสาหกรรมในปี 2562 ติดลบ 0.85% และล่าสุดไตรมาสแรกของปี 2567 ติดลบกว่า 3.21% ส่วนดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) รายไตรมาสติดลบมาทุกไตรมาสตั้งแต่ปลายปี 2565 และล่าสุดไตรมาสแรกปี 2567 ติดลบ 3.58% ซึ่งการลดลงของการผลิตส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ

โดยจะเห็นได้จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่คิดเป็นกว่า 80% ของมูลค่าการส่งออกของประเทศยังมีการขยายตัวติดลบที่ 0.24 และมากไปกว่านั้น สินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกส่วนมากยังมีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีต่ำกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคนี้ทั้งมาเลเซียและเวียดนาม และมากไปกว่านั้น ความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับสินค้านำเข้าส่งผลทำให้อัตราการปิดกิจการมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการปลดคนงานจำนวนมากขึ้นต่อเนื่อง ภาพเหล่านี้คือภาพจุดเริ่มต้นของการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม

Advertisement

จากสถานภาพข้างต้น งานวิจัยของหลายสำนักได้วิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ ละเอียด ซึ่งจะสรุปให้ง่ายๆ ได้ 3 ประเด็น พร้อมข้อเสนอกรอบนโยบาย ดังนี้

-ประเทศไทยยังผลิตสินค้าที่โลกกำลังลดความต้องการลง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ หรือสิ่งทอบางประเภท มาตรการส่วนนี้คือ การเพิ่มนวัตกรรมเพื่อการต่อยอดปรับเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้ความชำนาญที่มีอยู่ ซึ่งการกำหนดความชำนาญนั้นต้องมองในภาพกว้าง อาทิ ความชำนาญในการทำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กๆ ความชำนาญหลัก คือ ความแม่นยำ (Precision) สามารถปรับไปทำอื่นๆ ที่อาศัยความแม่นยำ หรือหากไม่สามารถต่อยอดได้และโอกาสไม่มีในอนาคต ก็หาทางวางมาตรการเพื่อโยกย้ายสู่อุตสาหกรรมอื่นที่มีอนาคต

-อุตสาหกรรมที่โลกยังต้องการ แต่เรามีคู่แข่งมากขึ้นและเราแข่งขันไม่ได้ อุตสาหกรรมสำคัญเหล่านี้ อาทิ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมโลหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ มาตรการส่วนนี้ต้องเน้นการยกระดับศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันผ่านการพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity) ต้องทำครบวงจรตั้งแต่ส่วนการผลิต เช่น นวัตกรรมการผลิต การจัดการบริหารกระบวนการผลิต การยกระดับศักยภาพแรงงาน และการโลจิสติกส์ รวมทั้งมาตรการสนับสนุนอื่นๆ เช่น การปรับกฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา การพัฒนาวิจัยพื้นฐานในสถาบันการศึกษา และการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

Advertisement

กรณีหลังสุดนี้ที่ประเทศไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าน้อยกว่าประเทศคู่แข่งมาก ทำให้การแข่งขันทางการค้าต่างประเทศต่ำมาก และยังส่งผลต่อแรงจูงใจของการลงทุนโดยตรงต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยมีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศน้อยกว่าอินโดนีเซียและเวียดนาม ถึง 7 และ 6 เท่าตามลำดับ ทั้งๆ ที่ทศวรรษที่แล้ว เรายังเป็นประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดในภูมิภาคนี้

-โลกต้องการอุตสาหกรรมใหม่ๆ ตามเทรนด์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่ไทยยังไม่มีและไม่มีความสามารถทำได้ ซึ่งเดิมไทยกำหนดเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต คือ New S-Curve และดำเนินต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปวันนี้คู่แข่งมากขึ้น และคู่แข่งมีมาตรการชักจูงการลงทุนที่ก้าวร้าว เอาจริงเอาจังกว่าเรามาก ในระยะเร่งด่วนเราต้องปรับมาตรการการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ซึ่งรูปแบบส่งเสริมลงทุนแบบเดิมที่อิงกับการยกเว้นภาษีนั้นไม่น่าจะได้ผลอีก เนื่องจากวันนี้อุตสาหกรรมที่เราต้องการไม่ใช่อุตสาหกรรม Labor intensive หรือ resources intensive เหมือนในอดีต แต่จะเป็นอุตสาหกรรมที่เป็น Technology and Innovation intensive Industry

ดังนั้น รูปแบบการส่งเสริมการลงทุนจะต้องแตกต่างจากเดิม และสภาพแวดล้อมทางภาษีระหว่างประเทศ หรือ Pillar 2 ที่จะใช้ในปีนี้ ทำให้รูปแบบการส่งเสริมการลงทุนของไทยจะไม่มีประสิทธิภาพในการจูงใจนักลงทุนเลย นอกจากนี้ ในระยะเร่งด่วนควรมีมาตรการจูงใจและเปิดกว้างแรงงานต่างประเทศที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีที่ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศได้ง่าย ควบคู่กับการเร่งสร้างแรงงานมีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีโดยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรใหม่กับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ บางประเทศอนุญาตให้ตั้งสถาบันการศึกษาเฉพาะขึ้นมาใหม่ โดยร่วมมือกันของภาคเอกชนกำหนดหลักสูตรเพื่อเตรียมแรงงานรับการลงทุนในอนาคต

-เน้นอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ Net Zero กำหนดมาตรการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การกำหนดมาตรฐานการผลิตตามกติกาของโลกและความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ รวมทั้งสนับสนุนธุรกิจ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการลดคาร์บอน และจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น แบตเตอรี่ และ Storage โซลาร์เซลล์ เทคโนโลยี หรือเทคโนโลยีการขจัดคาร์บอน ฯลฯ

สำหรับตัวชี้วัดในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่คิดว่าจำเป็น ตัวชี้ที่ 1 ดูจากการขยายตัวของ GDP ภาคอุตสาหกรรม เพราะ GDP คือมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว ตัวชี้ที่ 2 คือ การสร้างงานของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ โดยดูทั้งรายได้เฉลี่ยของคนงานที่สูง ไม่ใช่การสร้างงานจากแรงงานค่าจ้างต่ำ เพราะรายได้เฉลี่ยของแรงงานจะแสดงถึงศักยภาพ และ productivity ของแรงงานนั้นๆ

ตัวชี้ที่ 3 คืออัตราการเชื่อมโยงของธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะคนไทย และผลผลิตที่เชื่อมโยงกันต้องมีความซับซ้อน (Sophistication) ของการผลิตที่สูง ไม่ใช่แค่รับจ้างผลิตง่ายๆ และมีความยาวของ supply chain ที่ยาวและซับซ้อนในประเทศ สิ่งเหล่านี้จำเป็นในการวางรากฐานความมั่นคงของธุรกิจภาคการผลิตในประเทศ เป็นการกระจายความมั่งคั่งของการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม ลงไปสู่คนส่วนใหญ่ได้อย่างทั่วถึง ตามแนวคิดของ Inclusive growth

ที่ผ่านมา รัฐบาลต่างๆ มีความมุ่งมั่นในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับยุคสมัยเสมอมา เพียงแต่ความพยายาม ความทุ่มเท และเป้าหมายอาจถูกจำกัดด้วยเวลาที่อยู่ในอำนาจ และที่สำคัญตัวชี้วัดทางการเมืองที่มองระยะสั้นเป็นสำคัญ ทำให้งานหรือโครงการประเภท “สามเดือนเห็นหน้า หกเดือนเห็นหลัง” กลายเป็นโครงการที่ได้รับการเรียงลำดับความสำคัญระดับต้นๆ ส่วนมาตรการที่จำเป็นต่อการปรับโครงสร้างในระยะยาวไม่ได้รับความสนใจมากนัก นอกจากอยู่ในมือของส่วนราชการบางหน่วยที่พยายามทำตามภาระหน้าที่ขององค์กรตนเอง แต่มีผลกระทบในวงแคบๆ

อีกความท้าทาย คือ การนำนโยบายสู่ภาคปฏิบัตินั้น ที่ผ่านมาเป็นปัญหาและอุปสรรคมาตลอด เนื่องจากระบบราชการ และการเมืองที่เป็นรัฐบาลผสม ที่ไม่มีผู้ดูแลเบ็ดเสร็จในภาพรวม เพราะการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนั้น งานต่างๆ เกี่ยวกับหน่วยงานต่างๆ มากกว่าสิบหน่วยงาน และเป็นงานต่อเนื่อง บางงานใช้ระยะเวลายาวกว่าอายุรัฐบาล

ดังนี้ หากต้องการให้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมประสบความสำเร็จนั้น ไทยจำเป็นต้องมีเจ้าภาพหลักในการดูภาพรวม และมีอำนาจเต็มที่ในการดำเนินการสั่งการ ติดตามประเมินผล รวมทั้งเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ และต้องถูกฝั่งอยู่ในภารกิจของหน่วยงานเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง

“เพราะไม่งั้นแล้ว เราจะพัฒนาแบบชิ้นๆ ที่ละนิด(Piecemeal) และมีโอกาสเลือนหายไปกับการเปลี่ยนรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา” ดร.สมชายทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image