พิชัยแถลงใหญ่ ฟื้นชีพตลาดหุ้น เพิ่มสิทธิประโยชน์ “TESG” ลงทุนสูงสุด3แสน ถือครองเหลือ5ปี

“พิชัย”แถลงใหญ่ฟื้นชีพตลาดหุ้น เพิ่มสิทธิประโยชน์ “TESG” ลงทุนสูงสุด3แสน ถือครองเหลือ5ปี

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดแถลงข่าว “มาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน” ระหว่างกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอ การปรับเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน กองทุนรวมส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย (Thai ESG) เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า คาดว่าจะเริ่มให้ลงทุนได้เดือนกรกฎาคม 2567

มีระยะเวลาลงทุนประมาณ 4-5 เดือน คาดจะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับ Thai ESG ออกมาก่อนหน้านี้ มีระยะเวลาการดำเนินการเพียง 1 เดือน มีเม็ดเงินลงทุน 6,000 ล้านบาท การดำเนินการปรับเงื่อนไขกองทุนดังกล่าว จะส่งผลต่อการสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท

“การปรับปรุงเงื่อนไขในครั้งนี้ เป็นไปเพราะเราอยากเห็นคนไทยมีช่องทางออมเงิน นอกเหนือไปจากการฝากเงินกับธนาคาร ออมแล้วได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม และธุรกิจด้าน อีเอสจี มีความยั่งยืน เป็นเทรนด์ที่ทั้งโลกให้ความสำคัญ” นายพิชัย กล่าว

Advertisement

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว บวกกว่า 29% เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

แต่ดัชนีหุ้นไทยก็ยังไม่ได้ปรับขึ้นไปอย่างที่ควรจะเป็น จากการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีแนวทางขับเคลื่อนตลาดทุนไทย ผ่านการส่งเสริมการออม คือ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี กองทุนไทยอีเอสจี ปรับเงื่อนไขให้ลงทุนได้สูงถึงไม่เกิน 3 แสนบาท เดิม 1 แสนบาท ลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี (นับจากวันซื้อ) จากเดิม 8 ปี เลือกซื้อหุ้นเกี่ยวข้องกับอีเอสจีเป็นหลัก และเพิ่ม Green Token เข้ามาด้วย

“คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาในตลาดทุนไทยประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ช่วงเปิดขายประมาณ 4-5 เดือน ประเมินจากการขายกองทุนไทยทีเอสจีในปี 2566 ประมาณ 1 เดือน คิดเป็นเม็ดเงินอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศหุ้นสามารถซื้อได้ในอีก 2 สัปดาห์นี้ ” นางพรอนงค์ กล่าว

Advertisement

นางพรอนงค์ กล่าวว่า สำหรับการยกระดับความเชื่อมั่น ผ่านกระบวนการกำกับดูแลทั้ง 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1.กระบวนการ Pre-Listing & Listing ปรับคุณสมบัติบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน ไม่ว่าทางใดต้องผ่านการพิจารณาแบบเดียวกัน

2.กระบวนการ Trade Surveillance เพิ่มเติมการเตือน Volume Alert ช่วง Auction ก.ล.ต. ตลท. และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) ร่วมกันจัดตั้ง Securities Bureau เพื่อให้มีข้อมูลวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ลูกค้าได้รับจากโบรกเกอร์ต่างๆ มาใช้พิจารณาให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้

3.กระบวนการ Ongoing Obligations เพิ่มการเตือนผู้ลงทุนเกี่ยวกับบริษัทอาจปฏิบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ หรือมีข้อน่าสังเกต และยกระดับการดำเนินการกับบจ.ที่มี free float ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ โดยขึ้นเครื่องหมาย C และ SP แทนการเก็บค่าธรรมเนียม

4.กระบวนการ Escalation to Public ยกระดับการเตือนผู้ลงทุนเกี่ยวกับบจ. ด้วยเครื่องหมาย C มีรายละเอียดมากขึ้น แบบแยกเครื่องหมาย C เป็นหลายประเภทตามปัญหาที่มี อาทิ ปัญหาด้านฐานะการเงิน

5.กระบวนการ Delisting เพิ่มเหตุเพิกถอนบริษัทจดทะเบียนได้เข้มข้นมากขึ้น อาทิ ไม่มีธุรกิจติดต่อกัน 3 ปี รายได้น้อยกว่า 50 ล้านบาทในเอ็มเอไอ หรือ น้อยกว่า 100 ล้านบาทในเซท

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ด้านความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ มาตรการที่มีอยู่จะช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) กลับเข้ามาได้หรือไม่ จากที่ผ่านมาขายสุทธิอย่างต่อเนื่องนั้น มองว่าที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยหลายรอบ แต่เจอสถานการณ์บางเรื่องในประเทศ ก็ขายออกไปใหม่ ครั้งนี้คาดว่าจะดึงความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติกลับมาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image