ธปท. มอง ศก.ยังโตไม่ดีเท่าที่ควร เหตุเผชิญหลายปัจจัยฉุดรั้ง คาดจีดีพีไทยปี’67 โต 2.6%

ธปท. มอง ศก.ยังโตไม่ดีเท่าที่ควร เหตุเผชิญหลายปัจจัยฉุดรั้ง คาดจีดีพีไทยปี’67 โต 2.6%

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยที่มีจุดตั้งต้นต่ำได้เร่งตัวขึ้นและทยอยโน้มเข้าสู่ศักยภาพ แต่ในภาพใหญ่ยังไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจดีเท่าที่ควร เนื่องจากยังมีปัจจัยฉุดรั้งในด้านปัจจัยเชิงโครงสร้าง การกระจายรายได้ยังไม่ดี เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ที่ 2.6% ส่วนปี 2568 อยู่ที่ 3% ซึ่งหากมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท มองว่าจะเกิดผลต่อจีดีพีให้ขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่หลายฝ่ายประเมินไว้ มองว่าจะส่งผลบวกต่อจีดีพีที่ 0.3-0.4% แต่ผลเชิงบวกแบบเต็มศักยภาพน่าจะเป็นแรงส่งที่เกิดขึ้นในปี 2568 มากกว่า

นายปิติกล่าวว่า เศรษฐกิจในระยะถัดไปมีแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและภาคท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวในภาคการผลิตและส่งออกบางหมวดสินค้า แต่ยังมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ต้องติดตามต่อไป โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญเป็นการบริโภคภาคเอกชน แต่ยังมาจากกลุ่มผู้มีรายได้สูง และกระจุกตัวอยู่ในหมวดภาคบริการเป็นหลัก รวมถึงการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าคงทน โดยเฉพาะยานยนต์ยังไม่ได้ดีเท่าการบริโภคในกลุ่มอื่น รวมถึงเห็นแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เริ่มมีการเร่งเบิกจ่ายในช่วงไตรมาส 2 หลังจากงบประมาณปี 2567 สามารถใช้ได้แล้ว

Advertisement

นายปิติกล่าวต่อว่า คาดว่าการส่งออกปี 2567 จะโตที่ 1.8% ปี 2568 โตที่ 2.6% กลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแข่งขันได้ เป็นกลุ่มเครื่องนุ่งห่มที่แข่งขันในต้นทุนไม่ได้ รวมถึงมีสินค้าจากจีนเข้ามาเป็นคู่แข่งทั้งในตลาดส่งออกและตลาดในไทยด้วย สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนว่าประเทศไทยอาจไม่สามารถแข่งขันได้ในธุรกิจนี้ ยกเว้นจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ

นายปิติกล่าวว่า ด้านเงินเฟ้อตามกรอบเป้าหมาย อยู่ที่ 1-3% เราถือว่าทำหน้าที่ได้ดี เพราะหากย้อนไปในปี 2565 เงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมสูงถึง 8% และใช้เวลาประมาณ 7 เดือนในการกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ สะท้อนถึงการทำหน้าที่ได้ดี การปรับเปลี่ยนกรอบเงินเฟ้ออาจต้องพึงระวัง เพราะหากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงเกินไปจะทำลายเรื่องของรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาจมีผลต่อเศรษฐกิจสะดุดได้ ซึ่งคาดการณ์ระยะปานกลาง เงินเฟ้อไทยจะอยู่ที่ระดับ 2% ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายการเงิน ก่อนกลับเข้ากรอบภายในไตรมาสที่ 4/2567 ส่วนการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อก็เป็นสิ่งที่ธนาคารกลางทั่วโลกมีการกำหนด เพื่อให้เอื้อกับการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับศักยภาพ

Advertisement

“หนี้ครัวเรือนที่สูงในปัจจุบันยอมรับว่าเป็นจุดเปราะบางของครัวเรือนไทย และความยากลำบากคือมูลหนี้ ดอกเบี้ยก็เป็นส่วนหนึ่ง การแก้ไขปัญหาคือต้องหาวิธีการแก้มูลหนี้ให้ได้ เพื่อให้มีรายได้ทยอยการเติบโต บรรเทาปัญหาก่อน ซึ่งเห็นว่าเม็ดเงินของสินเชื่อครัวเรือนปล่อยให้เติบโตต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนปะทุขึ้นมา ยืนยันว่านโยบายการเงินไม่ได้เป็นเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน” นายปิติกล่าว

นายปิติกล่าวต่อว่า ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อเสนอในการผ่อนปรนมาตรการแอลทีวี ต้องบอกว่าปัจจุบัน ธปท.มีการทบทวนอยู่เสมอ แต่ต้องพิจารณาดูว่าจุดใด เพราะหากเป็นบ้านหลังแรกมองว่าไม่ได้เป็นปัญหา สินเชื่อที่ปล่อยได้น้อยลง มาตรฐานสินเชื่อไม่ได้เปลี่ยน แต่เปลี่ยนในคุณภาพของลูกหนี้ที่มาขอกู้แย่ลง ทำให้มีการปฏิเสธที่มากขึ้น เชื่อว่ามาตรการแอลทีวีไม่ใช่ต้นตอของปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน

นายปิติกล่าวว่า ส่วนภาคยานยนต์ที่กำลังเจอปัญหาหนักขณะนี้ การให้สินเชื่อยานยนต์ลดลง การปฏิเสธสินเชื่อมีมากขึ้น โดยแนวโน้มข้างหน้ามีโอกาสที่จะทยอยดีขึ้นทั้งตลาดโลกและตลาดในประเทศ แต่อาจจต้องใช้เวลาอีกสักพัก โดยประเด็นที่เป็นปัญหาเชิงวัฏจักรจะใช้เวลาไม่นานในการฟื้นตัว อาทิ เรื่องการส่งออก แต่หากเป็นประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างจะใช้เวลานานกว่านั้น อาทิ เรื่องรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องให้เวลาปรับตัว ซึ่งในต่างประเทศก็เจอปัญหานี้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image