เปิด 10 ธุรกิจสุดปัง-รายได้มหาศาล ‘อาร์ตทอย’ แม่เหล็กฟื้นกิจการของเล่น

เปิด10ธุรกิจสุดปัง-รายได้มหาศาล
‘อาร์ตทอย’แม่เหล็กฟื้นกิจการของเล่น

ภาวะทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย กำลังเผชิญกับหลากหลายปัจจัย ทั้งที่สะสมมานานช่วง 3-4 ปีก่อน และกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากปัจจัยในประเทศและนอกประเทศ ซึ่งทิศทางจะเป็นอย่างไร กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เผยแพร่ดังนี้

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า เดือนพฤษภาคม 2567 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 7,499 ราย เพิ่มขึ้น 969 ราย คิดเป็น 14.84% เทียบกับเดือนเมษายน 2567 และเพิ่มขึ้น 62 ราย เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 โดยมีทุนจดทะเบียน 21,887.12 ล้านบาท ลด 5,384.75 ล้านบาท หรือลบ 19.74% เทียบกับเดือนเมษายนปีนี้ และลด 6,527.35 ล้านบาท หรือลบ 22.97% เทียบกับเดือนพฤษภาคมปีก่อน โดยธุรกิจตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 662 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 543 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 353 ราย คิดเป็นสัดส่วน 8.83%, 7.24% และ 4.71% ตามลำดับ

⦁ เปิดยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่-เลิกกิจการ

Advertisement

ด้านจำนวนเลิกประกอบกิจการมี 1,004 ราย เพิ่มขึ้น 194 ราย คิดเป็น 23.95% เทียบเดือนเมษายนปีนี้ และลด 230 ราย หรือลบ 18.64% เทียบเดือนพฤษภาคมปีก่อน มีทุนจดทะเบียนเลิก 54,804.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49,707.54 ล้านบาท หรือเพิ่ม 975.26% เทียบกับเดือนเมษายน 2567 และเพิ่มขึ้น 46,564.47 ล้านบาท หรือเพิ่ม 565.11% เทียบกับเดือนพฤษภาคมปีก่อน ซึ่งมูลค่าทุนจดทะเบียนเลิกสูงผิดปกตินั้น เป็นผลมาจากการเลิกประกอบกิจการของ 2 บริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของธุรกิจให้คล่องตัวยิ่งขึ้น สำหรับธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการ 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 98 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 59 ราย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการอื่นๆ 25 ราย คิดเป็นสัดส่วน 9.76%, 5.88% และ 2.49% ตามลำดับ

ส่งผลให้ปัจจุบัน ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ไทยมีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวม 1,916,267 ราย ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ 916,634 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.26 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัด 714,143 ราย คิดเป็น 77.91% ทุนจดทะเบียน 16.02 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 201,031 ราย คิดเป็น 21.93% ทุนจดทะเบียน 0.47 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด 1,460 ราย คิดเป็น 0.16% ทุนจดทะเบียน 5.77 ล้านล้านบาท โดยปี 2567 มีนิติบุคคลที่ต้องนำส่งงบการเงินอยู่ทั้งหมด 835,011 ราย ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 671,823 ราย และต้องนำส่งงบการเงินภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 คิดเป็น 80% ที่นำส่งงบการเงินตามเวลาที่กฎหมายกำหนด 581,856 ราย คิดเป็น 86.6% ในจำนวนนี้ยังมีนิติบุคคลที่ไม่ได้นำส่งอีก 89,967 ราย คิดเป็น 13.4% กรมจะออกหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา โดยอัตราค่าปรับจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ล่าช้าและเร่งดำเนินการตามกฎหมาย

⦁ วิเคราะห์สถานการณ์ครึ่งหลังปี’67

Advertisement

การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ เดือนพฤษภาคม 2567 เพิ่มขึ้น 969 ราย คิดเป็น 14.84% เทียบกับจากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 62 ราย คิดเป็น 0.83% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน แง่ทุนจดทะเบียนลด 5,384.75 ล้านบาท คิดเป็น 19.74% เทียบกับเดือนก่อนหน้า และลด 6,527.35 ล้านบาท คิดเป็น 22.97% เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตกระจายตัวในทุกประเภทธุรกิจ และสูงสุดคงเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร ขณะที่จำนวนเลิกกิจการ เพิ่มขึ้น 194 ราย คิดเป็น 23.95% จากเดือนก่อนหน้า และลด 230 ราย คิดเป็น 18.64% เทียบพฤษภาคมปีก่อน แง่ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 49,707.54 ล้านบาท คิดเป็น 975.26% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 46,564.47 ล้านบาท คิดเป็น 565.11% เทียบพฤษภาคมปีก่อน

ส่งผลให้ การจัดตั้งใหม่ 5 เดือนแรกปี 2567 มีจำนวน 39,032 ราย อัตราลดลงเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 ซึ่งปัจจัยหนุนมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ เช่น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเพื่อการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งการส่งออกเพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า เสถียรภาพทางการเมือง และความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้การคาดการณ์ยอดจดทะเบียนธุรกิจปี 2567 มีอัตราเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้คาดการณ์ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในครึ่งปีแรกของปี 2567 อยู่ที่ 44,000-47,000 ราย

⦁ เปิด10อันดับแรกธุรกิจรายได้ดี

พร้อมกันนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้วิเคราะห์ลงลึกถึงรายธุรกิจ ที่สามารถสร้างรายได้สูงสุด 10 อันดับแรก พบว่า

1.ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงกลั่นปิโตรเลียม ทำรายได้ 3.84 ล้านล้านบาท

2.ธุรกิจขายส่งนาฬิกาและเครื่องประดับ ทำรายได้ 3.12 ล้านล้านบาท

3.ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ ทำรายได้ 2.39 ล้านล้านบาท

4.ธุรกิจผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล ทำรายได้ 1.56 ล้านล้านบาท

5.ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ สำหรับยานยนต์ ทำรายได้ 1.55 ล้านล้านบาท

6.ธุรกิจขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถนั่งส่วนบุคคลฯ ทำรายได้ 1.45 ล้านล้านบาท

7.ธนาคารพาณิชย์ ทำรายได้ 1.11 ล้านล้านบาท

8.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำรายได้ 1.07 ล้านล้านบาท

9.ธุรกิจขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในร้านเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน ทำรายได้ 1.02 ล้านล้านบาท และ

10.ธุรกิจขายส่งเชื้อเพลิงเหลว ทำรายได้ 0.96 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดี ธุรกิจทั้ง 10 อันดับข้างต้นส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดไซซ์แอล (L) ที่สามารถทำรายได้สูงสุดในธุรกิจแต่ละประเภท

นอกจากนี้ จากกระแส Art Toy ของเล่นสะสมที่สร้างสรรค์งานศิลปะโดยศิลปินจากต่างประเทศและศิลปินไทยกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก ส่งผลให้ ‘ธุรกิจของเล่น’ กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องจับตามอง แม้ในช่วง 5 ปี ย้อนหลังที่ผ่านมา (ปี 2562-2566) ธุรกิจของเล่นจะมีการเติบโตที่ผันผวนเพราะมีปัจจัยด้านการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาส่งผลกระทบเชิงลบ แต่เมื่อสถานการณ์สงบลงธุรกิจของเล่นก็ใช้เวลาไม่นานที่สามารถกลับมาพลิกฟื้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก (S) ที่ครองตลาดส่วนใหญ่มากถึง 1,024 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตจำนวน 220 ราย และกลุ่มขายจำนวน 804 ราย คิดเป็น 93.7% จากจำนวนธุรกิจของเล่นที่มีจำนวน 1,093 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิต 238 ราย และกลุ่มขาย 855 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 5,692.21 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มผลิต 2,909.61 ล้านบาท และกลุ่มขาย 2,782.60 ล้านบาท สำหรับปี 2566 ธุรกิจของเล่นสามารถสร้างรายได้รวมถึง 19,677.21 ล้านบาท และทำกำไรได้ 467.62 ล้านบาท

“การเติบโตของธุรกิจของเล่นส่วนสำคัญเป็นผลมาจากการเกิดกลุ่มในวงการของเล่นที่เรียกว่า Kidult ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีความนิยมในการสะสมของเล่นและมีกำลังการซื้อสูงเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองในวัยเด็ก การสะสมเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต” นางอรมนกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image