ธุรกิจระงม ‘เศรษฐกิจ’ ไร้สัญญาณฟื้น ทุบกำลังซื้อวูบ ค้าขาย ‘เหนื่อยกว่าทุกปี’

ธุรกิจระงม‘เศรษฐกิจ’ไร้สัญญาณฟื้น ทุบกำลังซื้อวูบ ค้าขาย‘เหนื่อยกว่าทุกปี’

เข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2567 แล้ว แต่ดูเหมือน “เศรษฐกิจไทย” ย้อน 6 เดือนที่ผ่านมา และอนาคต 6 เดือนที่เหลือของปี ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ สะท้อนจากเสียงของบรรดานักธุรกิจใหญ่น้อย ร้านค้าในอาคาร หรือร้านริมทางต่างร้องระงมเป็นเสียงเดียวกันว่าเศรษฐกิจไทยปี2567 นี้ “เหนื่อยกว่าทุกปี” ที่เคยทำมาค้าขาย

เนื่องจากยังเต็มไปด้วย “ข่าวร้าย” ที่ตกค้างมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาวะ “หนี้ครัวเรือน” ที่ยังพุ่งสูง กดดัน “กำลังซื้อ” ภาคธุรกิจลดฮวบถ้วนหน้า 30-40% ไม่ว่าธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำและมีแนวโน้มจะลากยาวข้ามปี ถ้าหาก “รัฐบาล” ไม่มีมาตรการ หรือหมัดเด็ดออกมากระตุ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยและกำลังซื้อที่เหือดแห้งลงทุกวัน ปัจจุบันเกิดภาพร้านค้าปลีก-ค้าส่งภูธร เริ่มถอดใจ ยอมยกธงขาว ทยอยปิดตัวไปหลายราย

⦁พิษศก.ทุบโชห่วยทยอยเจ๊ง

สมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ยอมรับว่า จากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังไร้สัญญาณการฟื้นตัว รวมถึงการแข่งขันของธุรกิจที่สูง จึงเห็นร้านค้าปลีกภูธรทยอยปิดกิจการ หลังแบกค่าใช้จ่ายไม่ไหว ทั้งเงินทุนที่จะสต๊อกสินค้า ค่าไฟ ค่าแรงที่สูงขึ้นจึงเห็นการทยอยปิดตัวอยู่เรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นรายเล็กๆ ในชุมชน ล่าสุดเป็นร้านค้าส่งและดิสทริบิวเตอร์รายใหญ่ในภาคอีสาน เปิดกิจการมานานก็ทนไม่ไหว ต้องปิดตัวไปแล้ว

Advertisement

“หลายเดือนมานี้ กำลังซื้อทรุดหนักมาก ยอดขายทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคหายไป 20-30% สถานการณ์แบบนี้น่าจะลากยาวไปถึงสิ้นปีนี้ หรืออาจไปถึงปีหน้า ปัจจัยหลักคือ คนไม่มีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ไม่มีรายได้เพิ่ม สวนทางค่าครองชีพกลับสูงขึ้นๆ ทุกวัน คนใช้จ่ายประหยัดแล้วประหยัดอีก ซื้อของเท่าที่จำเป็น ตอนนี้ราคาสินค้าและต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้นอีกรอบ แม้ส่วนใหญ่ผู้ผลิตบอกไม่ปรับราคา แต่บางสินค้าใช้การขึ้นราคาทางตรงและทางอ้อม ด้วยการลดขนาดหรือปริมาณสินค้า โดยบอกว่าคงราคาเดิม” สมชายกล่าว

มุมมองเดียวกัน มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด จ.อุดรธานี กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ คนไม่มีรายได้ กำลังซื้อจึงเงียบตาม ขณะที่สินค้ากำลังจะขึ้นราคา ส่วนรัฐบาลยังไม่มีนโยบายกระตุ้นที่ชัดเจนออกมา เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ และลดค่าครองชีพประชาชน ธุรกิจก็ต้องหาวิธีการเพื่อให้เกิดการซื้อขาย อย่างวันที่ 1-10 สิงหาคมนี้ร้านค้าปลีก-ค้าส่งกว่า 80 ร้านค้าทั่วประเทศ ร่วมกันจัดโปรลดราคาสินค้า 15-20% เป็นการลดราคาเพิ่มจากที่แต่ละร้านค้าลดราคากันตามปกติอยู่แล้ว สำหรับบริษัทผลจากกระทบภาวะเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อลดลง 20-30% ส่งผลยอดขายปี 2566 หายไป 1,000 ล้านบาท จาก 3,600 ล้านบาท เหลือ 2,600 ล้านบาท ปีนี้ยังต้องลุ้นว่าจะเหลือเท่าไหร่

ด้าน อธิพล ตีระสงกรานต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด เสริมว่า จากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดี กระทบต่อกำลังซื้อลดลง ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ยอดขายฟู้ดแลนด์ลดลงประมาณ 2% ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอีกสองไตรมาสที่เหลือ สถานการณ์จะเป็นอย่างไร บริษัทเองใช้วิธีการรัดเข็มขัดมากขึ้นและบริหารจัดการภายในให้มีประสิทธิภาพและรัดกุมมากขึ้น รวมถึงการบริการลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้า อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว

Advertisement

⦁สหพัฒน์ฯเฟิร์มกำลังซื้อแย่

ทางฝั่งผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 ไม่ดีเท่าที่ควร และยังแย่กว่าปี 2566 ผลจากภาคส่งออกลดลง ซึ่งไม่เคยลดลงมากขนาดนี้ แต่เป็นสถานการณ์เกิดทั้งโลก เมื่อส่งออกลดลง ภาคการผลิตก็ผลิตน้อยลง กระทบคนงานไม่มีค่าล่วงเวลา (โอที) สภาพนี้เป็นสภาพทั่วโลกที่มากระทบบ้านเรา ทำให้เศรษฐกิจไม่ดี แนวโน้มขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของตลาดต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกมาก ถ้าแนวโน้มความตึงเครียดต่างๆลดลง ตลาดต่างประเทศเริ่มกลับมา เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นไปด้วย

“สหพัฒน์โชคดีที่สินค้าเรา เป็นสินค้าจำเป็น เป็นสินค้าจำเป็นใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟื่อย จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยอดขายใน 5 เดือนที่ผ่านมา ยังเติบโต ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโตเกือบ 10% ยี่ห้อมาม่ายอดขายไม่ค่อยตกไม่ว่าเศรษฐกิจดี ไม่ดี มาม่าก็โต เศรษฐกิจดีมาก มาม่าก็โตมาก เศรษฐกิจไม่ดี มาม่าก็โตน้อย ตอนนี้ตลาดที่เติบโตมาก คือ บะหมี่พรีเมียม อย่างมาม่าโอเค โต 20% ส่วนคอนซูเมอร์โปรดักส์อย่างอื่น อยู่ที่การแข่งขัน ช่วงมีการจัดรายการจะทำให้ตัวเลขดี” เวทิตกล่าว

พร้อมกับอัพเดตสถานการณ์ต้นทุนบะหมี่ ขณะนี้อยู่ตัวแล้ว ราคาแป้งสาลีเริ่มลง แต่น้ำมันปาล์มยังขึ้นๆ ลงๆ ยังบริหารจัดการได้ ยังไม่มีการขยับราคาขึ้น ถ้าไม่จำเป็น แม้ปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลจะใกล้แตะ 33 บาทต่อลิตร กระทบต้นทุนแน่นอน แต่รัฐยังตรึงให้อยู่ ถ้าอยู่ในระดับนี้ ยังบริหารจัดการได้ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างคลังสินค้าใหม่ มีศูนย์กระจายสินค้า และมีระบบการบริหารจัดการที่ดี

“เรายังรับภาระได้อยู่ ทั้งปีนี้ น่าจะยังไม่มีขึ้นราคา เพราะสินค้าเราเป็นคอนซูเมอร์ ราคาที่ขาย คอนซูเมอร์ต้องสัมผัสได้ และเศรษฐกิจไม่ใช่ว่าจะดีมาก คงตรึงราคาไว้ให้นานที่สุด และไม่ต้องห่วงเรื่องขึ้นราคา ตลาดคอนซูเมอร์โปรดักส์การแข่งขันสูง ไม่มีผู้ผลิตสินค้ารายไหนขึ้นราคาสินค้าอยู่คนเดียวหรอก เราสู้กันเลือดสาด” เวทิตกล่าว

สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ “เวทิต” ประเมินกระทบต่อต้นทุนธุรกิจแน่นอน แต่บริษัทใหญ่ๆ ก็สามารถบริหารจัดการได้ รวมถึงสหพัฒน์ด้วย แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือ ธุรกิจเอสเอ็มอี ถ้าเดือดร้อนจะทำให้ดีมานด์ตลาดและการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจลดลงไปอีก เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องซื้อของจากผู้ผลิตเช่นกัน ดังนั้นถ้าค่าแรงปรับขึ้นแล้ว ทำให้เอสเอ็มอีเดือดร้อน จนต้องปิดกิจการไป ตลาดยิ่งแย่แน่

⦁ค้าทองคำหดตัวรอบ5ปี

ไม่ใช่แค่ของกินของใช้ที่กำลังซื้อหดหาย ยังสะเทือนไปถึงตลาดทองคำ นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์แม่ทองสุกจำกัด (MTS Gold) กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจไทยโดยทั่วไปไม่ดีและแย่ลง ทำให้ขณะนี้ทองคำเป็นรูปพรรณกำลังซื้อลดลงกว่า 10% คาดทั้งปี 2567 ลดถึง 15-20% ถือว่าลดลงมากที่สุดในรอบ 5 ปี เป็นผลจากราคาทองคำแพงขึ้น จากราคา 20,000 บาทต่อบาททองคำ เมื่อ 2-3 ปีก่อน ขยับมา 30,000 บาทและกว่า 40,000 บาทต่อบาททองคำในปี 2567 นี้ ซึ่งราคาทองคำเป็นเทรนด์ขาขึ้น แต่สวนทางกำลังซื้อของคนยังเท่าเดิม มีรายได้ตามไม่ทันราคาทองคำที่แพง การซื้อขายจึงลดลง แต่ทองคำแท่งกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เพราะเปลี่ยนรูปแบบการซื้อเป็นดิจิทัล โกลด์ เซฟวิ่ง ซึ่งเป็นการออมมากขึ้น

“การซื้อขายทองคำแท่งตอนนี้ ชนะทองรูปพรรณแล้ว 20% เทรนด์มันเปลี่ยน คนไม่นิยมซื้อมาใส่โชว์เหมือนในอดีต จะซื้อเป็นทองคำแท่งและเก็บเป็นเงินออมสะสม ขณะที่ร้านขายปลีกมีปิดไปบ้าง หลังพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน แต่ก็เปลี่ยนมาขายทองคำแท่งและรูปแบบการขายเป็นแบบอื่นแทน ถามว่าแนวโน้มปีหน้า 2568 เป็นอย่างไร มันสัมพันธ์กับราคาทองคำ ถ้าราคาสูงมาก กำลังซื้อคนตามไม่ทัน ไปไม่ถึง จะไม่ต่างจากปีนี้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจด้วยจะฟื้นหรือไม่” นพ.กฤชรัตน์กล่าว

“นพ.กฤชรัตน์” ถอดรหัสราคาทองคำปี 2568 มีโอกาสจะเห็นราคาแตะ 50,000 บาทต่อบาททองคำ ดูจากราคาเมื่อต้นปี 2567 อยู่ที่ 32,000 บาทต่อบาททองคำ ขยับขึ้นมาเป็น 40,000 บาทต่อบาททองคำ ปรับขึ้นมา 8,000-9,000 บาท หรือ 20% ถ้าปี 2567 จบแค่ 40,000 บาทต่อบาททองคำ ถ้าปีหน้าขึ้น 20% จะแตะ 48,000 บาทต่อบาททองคำ ก็ใกล้ 50,000 บาทต่อบาททองคำแล้ว ซึ่งมีโอกาสจะได้เห็น ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจสหรัฐ ต่อจากนี้จะไปอย่างไง ทิศทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย เมื่อดอกเบี้ยลง ดอลลาร์จะอ่อน ราคาทองจะขึ้น

“การลงทุนทองคำในขณะนี้ ไม่ต้องถือยาวมาก มีจังหวะก็ขายทำกำไร ลงทุนระยะกลางอย่างน้อย 3 เดือน จริงๆ ไม่ได้อยู่ว่าถือยาวเท่าไหร่ แต่อยู่ที่กำไรเรามีเป้าหมายเท่าไหร่ อย่าตั้งเป้าเว่อร์มาก ถ้าเว่อร์มากก็รอนาน คาดว่าอีกเดือนครึ่งราคาน่าจะปรับขึ้นอีก เพราะเป็นช่วงประชุมเฟด ถ้าคงดอกเบี้ย ภาพ คือ โอกาสลดครั้งถัดไปก็สูง คนจะลงทุนซื้อทองคำ ต้องมองไปอนาคตจะเกิดอะไรและซื้อดักไว้ แนะให้ซื้อแบบเซฟวิ่ง เป็นเงินออม ลงทุนยาวๆ เพราะทองคำซื้อเก็บไว้ มูลค่ามีแต่เพิ่มขึ้น แทนที่จะได้ดอกเบี้ยฝากจากแบงก์ร้อยละ 1 ขณะที่ราคาทองคำขึ้นปีละ 5% ถือว่าชนะแบงก์แล้ว” นพ.กฤชรัตน์กล่าว

⦁อสังหาฯติดหล่มกู้แบงก์

อีกปัจจัยสี่จำเป็น คือ ตลาดที่อยู่อาศัย ก็ไม่น้อยหน้าธุรกิจอื่นๆ อธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เล่าว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในครึ่งหลังปี 2567 ยังผูกติดกับกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ติดปัญหาการกู้แบงก์ไม่ผ่านที่ยังสูงถึง 50% ถึงรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ออกมา แต่ถ้ากู้แบงก์ไม่ผ่าน ไม่สามารถจะซื้อที่อยู่อาศัยได้

ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดีขึ้น คือ เศรษฐกิจต้องดี ทำให้คนมีเงินในกระเป๋าเพิ่ม กำลังซื้อจะดีตาม ขณะเดียวกันแบงก์ต้องลดความเข้มงวดการให้สินเชื่อ ปัจจุบันกำลังซื้อถดถอย เพราะขอสินเชื่อลำบาก อัตราดอกเบี้ยสูง ถ้าปรับลดลงได้จะช่วยบรรเทาภาระผู้กู้ได้ รวมถึงต้องปลดล็อกมาตรการ LTV ให้คนมีกำลังซื้อสามารถซื้อบ้านหลังที่สองได้ง่ายขึ้น

“ยังกลัวว่าภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งหลังปีนี้ จะไม่ดีขึ้น จากปัจจัยเสี่ยงยังมีอีกมาก ทั้งภายในและภายนอก รัฐบาลต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นออกมา เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไทย เหลือภาคการท่องเที่ยวอย่างเดียวที่ยังไปได้ การส่งออกยังแผ่ว ทางออกของผู้ประกอบการอสังหาฯ เมื่อยังไม่มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่าไปลงทุนล่วงหน้าและเร่งสร้างรายได้จากโครงการปัจจุบัน” อธิปกล่าว

สอดคล้องกับ วรวุฒิ กาญจนกูล กรรมการกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านและประธานบริหารบริษัท ดับบลิวเฮ้าส์ จำกัด ระบุว่า จากภาวะเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อตลาดรับสร้างบ้านลดลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ต่ำกว่า 20-30% โดยเฉพาะกลุ่มราคาต่ำ 3-5 ล้านบาท แต่กลุ่มราคา 7-10 ล้านบาทขึ้นไป รวมถึงระดับ 100 ล้านบาท ยังไปได้ แต่ลูกค้าเริ่มชะลอการตัดสินใจบ้างแล้ว

ขณะเดียวกันมีหลายบริษัท หันไปบุกตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น หลังกำลังซื้อในกรุงเทพฯเริ่มตึงตัว การแข่งขันสูง และพื้นที่ปลูกสร้างเริ่มน้อยลงรวมถึงบริษัทได้ขยายตลาดไปจังหวัดใหญ่ๆ มากขึ้นเช่น เชียงใหม่ ภาคอีสาน ส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นเจ้าของธุรกิจและเศรษฐีภูธร ที่นิยมปลูกสร้างคฤหาสน์ 80-100 ล้านบาท โดยลูกค้ามีที่ดินอยู่แล้ว แต่ด้วยภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่มขึ้น จึบนำมาปลูกสร้างบ้านกันมากขึ้น

ทั้งหมดล้วนเป็นภาพสะท้อนของหลากหลายธุรกิจ ที่เป็นฟันเฟืองต่อเศรษฐกิจไทย ต่างเจอมรสุม จนมืดแปดด้าน คงต้องลุ้นครึ่งหลัง 2567 นี้ ใครจะรุ่ง หรือใครจะร่วงเลิกกิจการในที่สุด !!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image