กรมเจรจาฯ ลุยสร้างแต้มต่อสู้เปิดเอฟทีเอ เปิดเสรีผลิตภัณฑ์นมเหลือ0%

กรมเจรจาฯ ลุยสร้างแต้มต่อสู้เปิดเอฟทีเอ เตรียมพร้อม 1 ม.ค. 68 เปิดเสรีผลิตภัณฑ์นมเหลือ0% ชงร่างพ.ร.บ.กองทุนช่วยเหลือฯใหม่ในไตรมาส3

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้ายกร่าง พ.ร.บ.กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. … ว่า อยู่ระหว่างเสนอร่างใหม่ หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว ต่อคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ภายในไตรมาส 3/2567 ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาคการผลิต ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันให้สามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า โดยประเด็นที่ต้องรอความเห็นชอบคือ งบตั้งกองทุนฯมีทั้งเงิน ตั้งต้นจากงบรัฐบาล และเงินสมทบรายปีจากแหล่งต่างๆ และวงเงินให้การสนับสนุนทั้งแบบเงินจ่ายขาด และเงินหมุนเวียน

นางสาวโชติมากล่าวว่า ที่ผ่านมากรมฯได้ลงพื้นที่พบหารือเกษตรกรเพื่อทำความเข้าใจและสนับสนุนให้เตรียมความพร้อมเปิดเสรี ซึ่งในส่วนของกลุ่มนมและผลิตภัณฑ์นม ภายใต้กรอบความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)และไทย-นิวซีแลนด์ จะลดภาษีเป็น 0% และปลอดโควต้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 หลังจากทยอยลดภาษีในแต่ละผลิตภัณฑ์มาตลอด

Advertisement

ล่าสุดวันที่ 28-30 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิตนมอัดเม็ดและนมพาสเจอไรซ์ ณ สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA”กรมฯ พบว่า ปัจจุบันสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์นมโดยใช้นวัตกรรมต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้มีรายได้กว่า 350 ล้านบาทต่อปี โดยมีการนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต ลดต้นทุน และพัฒนาสินค้าใหม่ อาทิ นมเม็ดรสทุเรียนทุเรียนหมอนทองป่าละอู ขยายตลาดส่งออกไปจีนและอาเซียน เช่น เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงจีน และต่อยอดนมสเตอริไล สำหรับใช้เป็นส่วนผสมของการชงกาแฟสดตามร้านค้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ได้อีก 1-2 เท่า

“สหกรณ์แห่งนี้ สามารถรวบรวมน้ำนมดิบได้ 18 ตันต่อวันจากโคนมของสมาชิก 3,247 ตัว บริการตรวจคุณภาพน้ำนม มีเครื่อง Spray Dryer 1 ใน 3 ของประเทศ ที่ใช้น้ำนมดิบของเกษตรกรในพื้นที่มาผลิตเป็นนมผงและนมอัดเม็ด มีศักยภาพในการผลิต 1 ตันต่อวัน นอกจากนี้ โครงการนี้ ยังได้ส่งเสริมเกษตรกรสหกรณ์โคนมวาริชภูมิสกลนคร สหกรณ์โคนมพัทลุง และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ศ.ค.) ” นางสาวโชติมากล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ กรมได้เข้าชมโครงการที่ควอลิตี้ไทม์ฟาร์มสเตย์ เป็นแหล่งปลูกทุเรียนหลายสายพันธุ์ อาทิ หมอนทอง พวงมณี เป็นต้น โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองป่าละอูที่ได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI และมีเอกลักษณ์โดดเด่น คือ มีรสหวาน เนื้อหนาเนียนละเอียด สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งมีความมันมากกว่าความหวาน กลิ่นไม่รุนแรง ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของคนไทยและชาวต่างชาติ

“ในอนาคตกลุ่มเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะมีการขยายการเจรจาเพื่อเปิดตลาดผลักดันการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ไปยังความตกลง FTA อื่นที่อยู่ระหว่างการเจรจาเช่น ไทย-ศรีลังกา เพื่อจะได้มีส่วนช่วยผลักดันให้เกษตรกรไทยสามารถผลิตและส่งออกสินค้าเพิ่มมูลค่าได้มากยิ่งขึ้น” นางสาวโชติมากล่าว

นายประจักษ์ มีลิ ผู้จัดการสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด กล่าวว่า เกษตรกรและผลิตภัณฑ์โคนมของไทย อาจยังแข่งขันได้ลำบาก เนื่องจากไทยมีต้นทุนการผลิตยังสูง โดยเฉพาะการผลิตนมผง เมื่อนำน้ำนมดิบมาแปรรูปเป็นนมผง ไทยมีต้นทุนสูงถึง 220 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เทียบกับราคานมผงนำเข้าจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อยู่ที่ 150-170 บาท ไทยสูงกว่าถึง 100 บาท/กก.

ดังนั้น เกษตรกรร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และนำนวัตกรรมมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ล่าสุด นอกจากผลิตนมอัดเม็ดรสทุเรียน และเพิ่มส่งออกแล้ว กำลังเพิ่มชนิดสินค้า เร็วๆ นี้ พัฒนาผลิตภัณฑ์นมสเตอริไลส์สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการชงกาแฟสด จากรวบรวมรับซื้อผลิตภัณฑ์นมจากเกษตรกร และใช้นวัตกรรมจนสามารถจัดเก็บรักษาได้นานถึง 6 เดือน จากปัจจุบันตามร้านจะนิยมใช้นมสดแบบพาสเจอไรซ์เก็บได้เพียง 7 วัน

ขณะนี้เจรจาแล้วขอเข้าจำหน่ายตามร้านกาแฟดัง เช่น cafe Amazon อินทนิล และ Milk Land และส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคนมคุณภาพสูง โดยให้รับซื้อสูงกว่าเพดานที่รัฐกำหนด อาจสูงถึง กก. 1 บาท โดยช่วงราคารับซื้อ 21.50- 22.25 บาท/กก. สหกรณ์มีการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร 18 ตันต่อวัน ในจำนวนนี้ สหกรณ์นำมาใช้เพื่อแปรรูป 6 ตัน และส่งขายเป็นน้ำนมดิบ 12 ตัน ไปโครงการต่างๆ เพื่อผลิตนมโรงเรียนและแปรรูปต่างๆ

นายประมาณ เกตุสิงห์ ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด เปิดเผยว่า คณะกรรมการ สมาคมชุดที่ 33 มีวาระจนถึงปี 2568 นั้น มีสมาชิกทั้งเป็นสมาชิกสมทบและสมาชิกสามัญอยู่ 99 ฟาร์ม โดยสมาชิกสามัญต้องได้รับการอบรม ให้ความรู้ในการพัฒนาการเลี้ยงโค และทุกวันที่ 10 ของเดือน จะมีการประชุม ซึ่งหากสมาชิกคนใดเข้าร่วมประชุมก็จะมีสิทธิได้รับราคาน้ำนมเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม

“ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ โดยความที่เข้าร่วมสหกรณ์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขณะนี้เจ้าของฟาร์มมีอายุสูงสุด 70 ปี เตรียมจะส่งผ่านให้กับทายาทรุ่นที่ 2 หากมีการส่งเสริมเกษตรกรในการลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าจะช่วยต่อยอดให้อาชีพนี้คงอยู่ได้”

นายวิชิต จาดสี ที่ปรึกษาสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด เปิดเผยว่า แม้จะมีการปรับขึ้นราคารับซื้อน้ำนมดิบจาก 19 บาทเป็น 22.25 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากเทียบกับต้นทุนของเกษตรกรซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 18 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าเกษตรกรได้กำไรประมาณกิโลกรัมละ 4-5 บาท แต่สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สำหรับขนส่งปรับสูงขึ้นและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็ปรับสูงขึ้น เกษตรกรมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวอีกมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image