ธุรกิจร้านอาหาร ยื่นหนังสือ ‘นายกฯ’ วอนหามาตรการอุ้มก่อนล้มกันหมด ชี้เศรษฐกิจซบเซาหนัก

ธุรกิจร้านอาหาร ยื่นหนังสือเปิดผนึก ‘นายกฯ’ วอนเร่งหามาตรการอุ้มก่อนล้มกันหมด ชี้เศรษฐกิจซบเซาหนัก

นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผยว่า ภาคเอกชนได้ร่วมกันทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ธุรกิจ ร้านอาหารจะปิดตัวลงมากกว่านี้ เนื่องจากสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ซบเซาอย่างหนัก โดยมีสาเหตุมาจากกำลังซื้อของประชาชนในประเทศที่ไม่มีเหลือ รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบทั้งผักสดและอื่นๆ ขึ้นราคาสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่เป็นปัญหาหลัก อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวก็ยังเดินทางไม่มากเท่าที่ควร

นายสรเทพกล่าวว่า ขอเสนอให้เร่งพิจารณาเป็นการด่วนในมาตรการที่จะพอช่วยพยุงให้ภาคเศรษฐกิจร้านอาหารยังต่อลมหายใจต่อไป ได้แก่ 1.แก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังในการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2515 โดยคำสั่งคณะปฏิวัติ ซึ่งในช่วงนั้นเป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อป้องกันข้าราชการไปนั่งดื่มในเวลางาน ซึ่งขัดแย้งกับยุคสมัยในปัจจุบัน ที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามาก รวมถึงเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นหลัก 2.ลดภาษีโรงเรือนให้ธุรกิจร้านอาหาร เนื่องจากเป็นธุรกิจที่โดนภาษีต่างๆ มากมายอยู่แล้ว ทั้งยังมาโดนภาษีโรงเรือนที่เปลี่ยนมาใช้อัตราก้าวหน้าอีก ทำให้เป็นภาระใหญ่กับผู้ประกอบการมาก

นายสรเทพกล่าวต่อว่า รวมถึง 3.เร่งออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายโดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.มาตรการกระตุ้นให้กับร้านอาหารอย่างกลุ่มเอสเอ็มอี อาทิ บุคคลธรรมดาสามารถเก็บใบกำกับภาษี เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 20,000 บาท และในส่วนของบริษัท ห้างร้าน นิติบุคคลสามารถนำบิลไปลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น และ 2.ออกมาตรการเงินสดลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนทั่วไปคนละ 2,000 บาท 3 เดือน โดยให้เป็นเงินเติมในแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้จ่ายซื้ออาหารในร้านค้าขนาดเล็กเป็นหลัก

Advertisement

นายสรเทพกล่าวว่า จากข้อมูลปี 2562 รายได้รวมธุรกิจร้านอาหารก่อนโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 4.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 7% ของผลิตภัณท์มวนรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปัจจุบันต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 50% ต้นทุนวัตถุดิบขึ้นมา 20-30% จากพืชผักและเครื่องปรุงต่างๆ อาทิ ผงชูรส นม ไข่ ต่างปรับตัวขึ้นจำนวนมาก โดยในปีนี้ 2567 คาดว่ารายได้ร้านอาหารจะเพิ่มขึ้นอีก 4-5% ซึ่งในไตรมาสแรกโตขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่หลังจากเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ตัวเลขไม่มีการเติบโต แต่มีร้านอาหารปิดตัวลงอย่างต่อเนื่องแทน อาทิ ร้านใหญ่อย่างสุกี้เจ้าดัง ไตรมาสแรกกำไรหายไป รายได้ลดฮวบกว่า 143 ล้านบาท ผู้ค้าขายรายย่อย หรือร้านข้างทางก็กำลังหมดลมหายใจ เพราะสายป่านน้อยมาก

“ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารอยากให้ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน ตั้งแต่ร้านอาหารริมทาง สตรีทฟู้ดแผงลอย รวมถึงร้านอาหารเอสเอ็มอี ก่อนได้รับความเสียหายล้มตายกันหมด ที่สำคัญธุรกิจร้านอาหารยังสามารถสร้างจีดีพีของประเทศให้โตขึ้นได้ เพราะเป็นธุรกิจที่มีห่วงโซ่ซัพพลายเชนที่ใหญ่มาก ส่งผลกับผู้ค้าขายในตลาดสด ภาคการเกษตร ภาคแรงงาน พนักงานที่มีอยู่ในธุรกิจนี้จำนวนมหาศาลด้วย” นายสรเทพกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image