ไทยผู้นำอาเซียนใช้พลังงานสะอาด ‘ทรินาโซลาร์’ สัญชาติจีน ลงสนามชูนวัตกรรมกักเก็บแสงอาทิตย์

ไทยผู้นำอาเซียนใช้พลังงานสะอาด “ทรินาโซลาร์” สัญชาติจีน ลงสนามชูนวัตกรรมกักเก็บแสงอาทิตย์

นายเดฟ หวัง หัวหน้าอนุภูมิภาคประจำเอเชียแปซิฟิก บริษัท ทรินาโซลาร์ จำกัด ที่มีบริษัทแม่ในประเทศจีน ทำธุรกิจการผลิตและจำหน่ายโฟโตวอลเทอิก (PVหรือโซลาร์เซลล์) และระบบกักเก็บพลังงาน เปิดเผยว่า แผนพัฒนาพลังไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) คาดการณ์ว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มปีนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 51% เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 20% ในปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าพลังงานแสงอาทิตย์ จะมีสัดส่วนประมาณ 70% ของพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด ขณะเดียวกันแผน PDP ยังระบุถึงมาตรการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response) ซึ่งมีความสำคัญและกระตุ้นให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ไฟฟ้าตามราคาที่แตกต่างกันตลอดทั้งวัน โดยมีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มศักยภาพในการลดความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) โดยในแผนโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือสมาร์ตกริดของประเทศได้ตั้งเป้าลดความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดลง 1,000 เมกะวัตต์ และเพิ่มอีก 1,000 เมกะวัตต์ ผ่านการใช้แหล่งพลังงานแบบกระจายศูนย์ (DER) รวมถึงระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กและระบบกักเก็บพลังงาน (BESS) จะถูกรวมเข้ากับระบบไมโครกริดหรือโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อให้ได้แหล่งพลังงานที่มั่นคง แผนการที่ยิ่งใหญ่นี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 3151

ขณะเดียวกัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังเร่งบุกเบิกการผลิตพลังงานสะอาดด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน โดยมีแผนที่จะพัฒนาโครงการสำคัญอย่างโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดทั้งสิ้น 16 โครงการ มีกำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ (MW) ปัจจุบันโครงการนำร่องที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี และเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ได้เริ่มดำเนินการแล้วด้วยกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์และ 24 เมกะวัตต์ ตามลำดับ

โดย ทรินาโซลาร์ ได้ดำเนินการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำขนาด 24 เมกะวัตต์ ที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ได้เริ่มใช้งานมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 โครงการนี้คาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 41,000 ตัน และผลิตไฟฟ้าได้ 46 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี รองรับการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 18,000 ครัวเรือน ทั้งนี้ แผงโซลาร์ตระกูล Vertex ของบริษัท ยังใช้ในโซลาร์ฟาร์มสำคัญๆ หลายแห่งทั้งในประเทศอินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์

Advertisement

” จากแผน PDP ของไทย จะทำให้ตลาดพลังงานหมุนเวียนในไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเป็นเท่าตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมและที่พักอาศัย ซึ่งทรินาโซลาร์ เรามีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี ทั้งแผงโซลาร์เซลล์ ชุดปรับมุมเอียงตามแสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อรองรับการใช้งานในภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสาธารณูปโภค การพาณิชย์ อุตสาหกรรม ภาคการผลิต การดูแลสุขภาพ การบริการ และโครงการที่อยู่อาศัย ทั้งระบบโซลาร์เซลล์และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) ของบริษัท พร้อมรับบทบาทสำคัญช่วยนำพาไทยไปสู่การบรรลุผลสำเร็จด้านพลังงานได้ตามเป้าหมาย และไทยถือว่าเป็นประเทศผู้นำในอาเซียนที่มีการตื่นตัวกับการใช้พลังงานสะอาด ”

นายเดฟ กล่าวว่า แนวทางขยายธุรกิจของทรินาโซลาร์ในไทย จะเป็นการจัดมือกับพันธมิตรในไทย ทั้งการเข้าร่วมประมูลโครงการใหญ่ของรัฐและเอกชน การเจาะตลาดโรงงาน อุตสาหกรรม ธุรกิจต่างๆ รวมถึงที่พักอาศัย ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดในไทยเป็นอันดับ 3 ทั้งนี้ ทรินาโซลาร์ จะจัดแสดงโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์ล่าสุดในงาน ASEAN Sustainable Energy Week (ASEW) วันที่ 3 – 5 กรกฎาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมล่าสุด อาทิ แผงโซลาร์รุ่น Vertex N, TrinaTracker Vanguard 1P ที่ปรับปรุงใหม่ และโซลูชันการกักเก็บพลังงาน เช่น Elementa 2 ขนาด 5MWh มาพร้อมเซลล์ LFP ความจุ 314Ah ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของทรินาโซลาร์โดยเฉพาะ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image