‘บิ๊กอุ้ม’ เร่งยกเครื่องคุณภาพการศึกษา ตั้งกก.ปรับหลักสูตรฯ เร่งแก้ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้

เพิ่มพูน

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พล.ต.อ.เพิ่มพูน  ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารศธ. ว่า  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานแผนในการเพิ่มคุณภาพการศึกษาในระยะยาว เพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษาและยกระดับโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือPISA  ซึ่งที่ประชุมได้มีการพูดคุยในมิติต่าง ๆ โดยในส่วนของPISA  จะมีการปรับตัวชี้วัดเพิ่มเติมในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ สิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ประชุมได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  โดยมีนายศิริเดช สุชีวะ ประธานอนุกรรมการด้านคุณภาพและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เป็น ประธานคณะกรรมการฯ  เพื่อดูแลเรื่องการปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ ตามจริงแล้วหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 มีการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับครั้งล่าสุด เมื่อปี 2560  และจะมีการปรับอีกครั้งในปีนี้  และจะพิจารณาว่า จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนชื่อให้มีความทันสมัยหรือไม่ เพราะหากไม่เปลี่ยน คนก็อาจคิดว่า เป็นหลักสูตรโบราณ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ เพียงแต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนชื่อ แต่ทั้งหมดจะต้องไม่เพิ่มภาระให้กับผู้เรียน”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว

รัฐมนตรีว่าการศธ. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังหารือ แนวทางแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ไปสำรวจตัวเลขผู้ที่พ้นจากการศึกษาภาคบังคับ ที่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ว่ามีอยู่จำนวนเท่าไร เพื่อมาเติมเต็มให้มีความสมบูรณ์  นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุน ให้มีการเบิกจ่ายไปตามแผนการดําเนินงานงบลงทุน ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง  ขณะเดียวกันยังแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ ว่า  ศธ. ร่วมมือกับ scb protect จัดทำประกันอุบัติเหตุให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน  โดยจะให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน- 27 กรกฎาคม มีผลคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม ระยะเวลาคุ้มครอง 90 วัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ซึ่งผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถลงทะเบียนได้ที่ สกสค. ประจำจังหวัดต่างๆ

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังรายงานมติ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งเห็นชอบปรับเงื่อนไขการชดใช้ทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน เพื่อใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาของนักเรียนทุนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (นักเรียนทุน จ.ภ.) ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งผู้รับทุนจะเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานชดใช้ทุนหรือหน่วยงานของรัฐที่ผู้ให้ทุนกำหนด และรับเงินเดือนตามที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 เท่าของเวลาที่ได้รับทุนตามสัญญา  โดยหน่วยงานชดใช้ทุนให้หมายความรวมถึง ภาคอุตสาหกรรม สถาบันไทยโคเซ็น และหน่วยงานของรัฐ   เพื่อให้เงื่อนไขการชดใช้ทุนฯ ทั้ง 2 ระยะ มีแนวทางเหมือนกันและขยายสถานที่การปฏิบัติงานรองรับนักเรียนทุนฯ เพิ่มขึ้น รวมทั้งเกิดประโยชน์ประเทศที่มีความต้องการกำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในภาคอุตสาหกรรม ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image