สพฐ.-มรภ.สวนสุนันทา จับมือสร้างครูต้นแบบ ปั้นผู้เรียนเป็นนวัตกรด้วยแอคทีฟเลินนิ่ง

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดโครงการพัฒนาครูต้นแบบในเขตภาคกลาง เพื่อ “พลิกโฉมคุณภาพการศึกษา โดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21” ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ ไปสู่การสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร อันเป็นกิจกรรมสำคัญของการอบรมครูตามโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพ การจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สําหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. (1 อําเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ) ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2567 โดยจัดสถานที่อบรมเป็น 6 จุด คือ ระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนบางปะหัน โรงเรียนอยุธยานุสรณ์ โรงเรียนอุทัย และโรงเรียนเสนา เสนาประสิทธิ์ และระดับประถมศึกษา ที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)พระนครศรีอยุธยา เขต 1 และโรงเรียนวัดพระขาว โดยมีครูเข้ารับการอบรมรวมมากกว่า 1,000 คน เพื่อเป็นครูต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรีและพระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามการอบรมครั้งนี้เป็นการมุ่งเน้นตามโครงการของรัฐบาล 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ซึ่งพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการเรียนรูปแบบ Active Learning และ ในอนาคตก็คงปฏิเสธเรื่องของ Active Learning ไม่ได้ ซึ่ง สพฐ.ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง 7 จังหวัด เราได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาในเรื่องการดำเนินการ โดยการจัดอบรครั้งนี้เป็นการต่อยอดและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้มากที่สุดหลังจากที่ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปฏิรูปการเรียนการสอนสู่ห้องเรียนอย่างแท้จริงนำไปสู่เป้าหมาย “เรียนดี มีความสุข” ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามแนวทางจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ผ่านการปฏิรูปการเรียนรู้แบบ Active Learning

“ การจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบ Active Learning ที่ได้ผลสิ่งหนึ่ง คือ การเรียนรู้ ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ซึ่งได้มีการทดลองและดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว และเห็นว่าจำเป็นต้องมีการต่อยอดเพราะเห็นผลที่ชัดเจนและเกิดเป็นนวัตกรรมมากมาย ดังนั้น จากการอบรมครั้งนี้เรามีความคาดหวังว่า จะได้เห็นนวัตกรรมการเรียนรู้ของครูและนักเรียนอย่างหลากหลายที่ผ่านกระบวนการคิดและลงมือปฏิบัติของนักเรียน เพื่อนำไปสู่การเรียนดีมีความสุขอย่างแท้จริง” ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า ในอดีตที่ผ่านมาเป็นการเรียนแบบ Passive Learning ที่ครูเป็นผู้นำความรู้มาให้ แต่ปัจจุบัน Active Learning เป็นการลงมือปฏิบัติจริงทั้งครูและผู้เรียนที่จะต้องทำกิจกรรมร่วมกันและเกิดการเรียนรู้โดยผู้เรียนเป็นผู้คิด ขณะที่ครูเป็นผู้คอยสนับสนุนหรือเป็นโค้ชให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การปฎิบัติจนเกิดเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากผู้เรียนจริง ๆ เพราะฉะนั้นกิจกรรมนี้ก็ถือเป็นการปฏิวัติการจัดการศึกษา เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน การจัดการเรียนรู้ ครู ผู้เรียน รวมถึงโรงเรียน ซึ่งเป็นการปฏิวัติทั้งระบบ และถ้ามีโอกาส สพฐ.ก็อยากจะขยายผลกระบวนการเรียนรู้นี้ขับเคลื่อนไปทั่วประเทศ

ดร.ดวงพร แสงทอง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือของ สพฐ.และมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นนอกจากครูที่จะเป็นครูต้นแบบแล้ว นักเรียนก็จะเป็นนวัตกร หมายความว่าผลจากการเรียนรู้ด้วยรูปแบบและกระบวนการจะเกิดกับทั้งผู้เรียนและครู เพราะทุกอย่างเกิดตามกระบวนการ นอกจากรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังจะได้เห็นการสร้างสรรค์ระหว่างการเรียนรู้ที่แตกต่างจากบทเรียนที่เด็กเคยเรียนมาด้วย
“รูปแบบการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นคือ Active Learning โดยผ่านกระบวนการคิดชั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ซี่งมีกระบวนการเตรียมความพร้อมจากครูที่จะสอนเป็น สอนได้ อย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน และ สิ่งที่จะตามมาก็คือ ผู้เรียน นักเรียนจะได้กระบวนการคิดที่มีความแตกต่างออกไป ซึ่งสิ่งที่แตกต่างออกไป คือ เดิมเคยอยู่ในห้องเรียนก็คิดจากในกรอบ วิธีการนี้จะเป็นการคิดนอกกรอบ ซึ่งมีขั้นมีตอนที่เด็กสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้ได้ และสุดท้ายเด็กจะได้กระบวนการ ได้ขั้นตอน และผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้มาก็คือ นวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยแต่ละชิ้นจะมีความแตกต่างกันออกไปตามกลุ่มสาระการเรียนรู้”ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทากล่าว

ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจนสราญรมย์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า ถึงเวลาที่จะต้องพลิกโฉมการศึกษาจากปัจจุบันไปเลย เพราะถ้าดูย้อนไปในอดีตจะเห็นว่า เวลาเรียนเด็กจะนั่ง ฟัง อ่าน ท่อง เพื่อนำไปสอบเท่านั้น เพราะเมื่อสอบเสร็จแล้วก็จะลืมทันที ซึ่งการเรียนแบบเดิมนี้เป็นการเรียนที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของสมองในส่วนความจำระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้ที่สูญเปล่า เมื่อเด็กเรียนในระดับที่สูงขึ้นก็จะลืมสิ่งที่เรียนมา 10 กว่าปีหมดทำให้สมองไม่เกิดการพัฒนาเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่แห่งสมองของมนุษย์ แต่ถ้าเด็กได้เรียนด้วยรูปแบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps โดยได้คิดเอง ปฏิบัติเอง ตรวจสอบเอง แก้ปัญหาเอง สมองที่เรียนรู้นี้จะบันทึกความจำทั้งหมดไว้เป็นความจำระยะยาว ซึ่งนักการศึกษาชั้นนำของโลกก็พูดมานับ 100 ปีว่าการเรียนรู้ต้องผ่านการปฏิบัติจริง เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องพลิกโฉมของประเทศด้วยกระบวนการเรียนรู้ทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเปล่าทางการศึกษา

Advertisement

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image