พระวัดดังเมืองอุบล-อาจารย์ ม.ราม ทุ่มค้นลึก พิมพ์ ‘โกลเด้นบอย-ใบลานอีสาน’ แจกงานบวช ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ร่วมบุญ

(จากซ้าย) พระปกรณ์ ชินวโร (ปุกหุต), พระฐานิสสรธีโร ภิกขุ และรศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

ประชันกลางวัดโพธิ์ พระวัดดังเมืองอุบล-อาจารย์ ม.ราม ทุ่มค้นลึก พิมพ์ ‘โกลเด้นบอย-ใบลานอีสาน’ แจกงานบวช ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ร่วมบุญ

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์ ท่าเตียน) แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการจัดงานบรรพชาอุปสมบทนาคภาณุพงศ์ ชลสวัสดิ์ บุคลากรในแวดวงโบราณคดี โดยมีบุคคลในแวดวงวิชาการ เข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ นางสุนิสา จิตรพันธ์ อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร, รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, ผศ.ธนโชติ เกียรติณภัทร อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง รวมถึงพระภิกษุสงฆ์จากวัดต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

นางสุนิสา จิตรพันธ์ อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร ปลงผมนาค
พระราชรัตนสุนทร (วินัย ธมมานนโท) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูอาคมสุนทร (ชวลิต อุลิตโต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระเทพวัชราจารย์ (เทียบ สิริญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ในการนี้ นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมถวายผ้าไตรจีวร และทำบุญพระใหม่ พร้อมถ้อยคำอนุโมทนา ‘ขอสุข-สงบสมปรารถนา’

ขณะที่ นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดังเครือมติชน เขียนกลอน 1 บทมอบแด่นาคภาณุพงศ์

Advertisement

ความดังนี้

กาลามสูตรกระจ่างแจ้งกลางเศียร   ทิ้งเบียดเบียนเบิกบานศานต์สมัย

แสงภาณุพงศ์แผ่นทั้งแดนไตร         ชลสวัสดิ์ชื่นไสวใจผจง

Advertisement

ทั้งนี้ นายขรรค์ชัย และนายสุจิตต์ เป็นรุ่นพี่คณะโบราณคดี ม.ศิลปากรของนาคภาณุพงศ์

สำหรับพิธีบรรพชาอุปสมบท มีขึ้น ณ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยมี พระราชรัตนสุนทร (วินัย ธมมานนโท) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูอาคมสุนทร (ชวลิต อุลิตโต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระเทพวัชราจารย์ (เทียบ สิริญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานดังกล่าว มีการแจกหนังสือที่ระลึก 2 เล่มที่ค้นคว้าและจัดทำขึ้นโดยเฉพาะ ได้แก่

1.ฐานิสสรธีโร ภิกขุ อุปสัมปนานุสรณ์ พระอานิสงส์บรรพชา ฉบับวัดหลวงสุมังคลาราม พระอารามหลวง พุทธศักราช 2476 ผลงาน พระปกรณ์ ชินวโร (ปุกหุต) เลขานุการคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์วัดมณีวราราม จังหวัดอุบลราชธานี  พิมพ์ครั้งที่ 1 จำนวน 300 เล่ม

2.จากแอ่งโคราชถึงลุ่มเจ้าพระยา ประติมากรรมสำริดสนองพระองค์ โดย รศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พิมพ์ครั้งที่ 1 จำนวน 300 เล่ม

หนังสือ ฐานิสสรธีโร ภิกขุ อุปสัมปนานุสรณ์ พระอานิสงส์บรรพชา

ในตอนหนึ่งของ อนุโมทนา…ปรารถ ในเล่ม ‘ฐานิสสรธีโร ภิกขุ อุปสัมปนานุสรณ์ พระอานิสงส์บรรพชา’ พระปกรณ์ ระบุว่า หลังทราบข่าวนาคภาณุพงศ์ซึ่งอยู่ในแวดวงโบราณคดี จึงคำนึงถึงธรรมเนียม ‘หนังสือแจก’ เป็นวิทยาทาน โดยที่มาของงานดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อ พ.ศ.2563 อาตมาภาพได้เป็นหนึ่งในคณะสำรวจเอกสารโบราณ เมืองศรีสะเกษ ได้พบใบลานผูกหนึ่ง เรื่อง ‘พระอานิงส์บรรพชา’ สร้างเมื่อ พ.ศ.2476 อ่านดูแล้วเห็นว่าสำนวนดี ความกระชับไม่เยิ่นเย้อ ไม่ยาว ไม่สั้นจนเกินไป เหมาะแก่การเผยแพร่เพื่อรักษาสำนวนเทศน์ของครูบาอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง

คณะสำรวจเอกสารโบราณ เมืองศรีสะเกษ ได้พบใบลานผูกหนึ่ง เรื่อง ‘พระอานิงส์บรรพชา’

นอกจากพระอานิสงส์บรรพชาแล้ว ก็ได้รวมปกิณกะที่เกี่ยวข้องกับผู้บรรพชาอุปสมบทไว้อีก 2 เรื่อง ได้แก่ มุทิตาจิตลิขิตสาร ศาสนสัมพันธ์ในพิธีอภิเษกพระสังฆราชสเตเฟน บุญเลิศ พรหมเสนา ประมุขมิสซังโรมันคาทอลิกอุบลราชธานี และ หนังสือที่ภาณุพงศ์คิดเขียนชวนทำ : ทัศนะจากชินวโร ป่าน้อยภิกขุ

หนังสือดังกล่าว มี คณะที่ปรึกษา ได้แก่ พระมหาวโรตม์ ธมมวโร วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ, พระครูธรรมธรชัยพร ชินวโร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ, รองศาสตราจารย์วีณา วีสเพ็ญ ประธานคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนโชติ เกียรติณภัทร คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง, นายชัยขรรค์ สีลวานิช พิพิธภัณฑ์วัดหลวงสุมังคลาราม จังหวัดศรีสะเกษ, นายชาญชวิศ ทุ่มโมง หัวหน้ากลุ่มเอกสารโบราณ เมืองศรีสะเกษ

กองบรรณาธิการ ได้แก่ นายจิรวัฒน์ ตั้งจิตรเจริญ และนายปฐมพร จำปาอ่อน

ออกแบบปก โดย นายหัตธไชย ศิริสถิตย์

หนังสือ จากแอ่งโคราชถึงลุ่มเจ้าพระยา ประติมากรรมสำริดสนองพระองค์

ขณะที่หนังสือ จากแอ่งโคราชถึงลุ่มเจ้าพระยา ประติมากรรมสำริดสนองพระองค์ โดย รศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

คำนำโดยผู้เขียนตอนหนึ่งว่า

‘ด้วยเหตุที่ว่า การบรรพชาอุปสมบทคือการทดแทนคุณบุพการีและโคตรวงศ์ อีกทั้งตัวเธอ (นาคภาณุพงศ์ ชลสวัสดิ์) ผู้บรรพชาอุปสมบทก็สำเร็จการศึกษาจากคณะโบราณคดี ข้าพเจ้าจึงดำริที่จะเรียบเรียงหนังสือเรื่อง พระรูปผีบรรพชน ประติมากรรมสำริดสนองพระองค์ ที่กล่าวถึงเรื่องราวสัญลักษณ์รูปเสมือนบรรพชนจากหลักฐานโบราณคดี ประกอบกับช่วงเวลาที่เธอจะบรรพชาอุปสมบท ประติมากรรม Golden Boy หรือสัญลักษณ์แทนองค์บูรพราชา คือสมบัติของบรรพบุรุษในดินแดนประเทศไทย ได้กลับมายังมาตุภูมิ หลังจากต้องไปจัดแสดง ณ ต่างประเทศเป็นระยะเวลานานกว่า 50 ปี โดยทั้งนี้หนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้ปรับปรุงจากบทความเรื่อง Golden boy ไม่ใช่พระรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 แต่เป็นพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 : พระรูปผีบรรพชน ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2567’

ทั้งนี้ รศ.ดร. รุ่งโรจน์ ได้จัดทำคิวอาร์โค้ดสำหรับดาวน์โหลดหนังสือดังกล่าวฟรี เพื่อเป็นวิทยาทานด้วย

นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมถวายผ้าไตรจีวร และทำบุญพระใหม่ พร้อมถ้อยคำอนุโมทนา ‘ขอสุข-สงบสมปรารถนา’
ถ้อยคำอนุโมทนา ‘ขอสุข-สงบสมปรารถนา’
กลอนจาก นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดังเครือมติชน มอบแด่นาคภาณุพงศ์

ผศ.ธนโชติ เกียรติณภัทร อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง
คิวอาร์โค้ดสำหรับดาวน์โหลดหนังสือที่ระลึกพระฐานิสฺสรธีโร​ (ภาณุ​พงศ์​ ชลสวัสดิ์)​

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ.โบราณคดี ‘สร้างครอบครัว’ เชิญสุจิตต์เสวนากลางปาร์ตี้ ขรรค์ชัย อวยพร ‘มีสุขตลอดไป’

ไม่ปลอมแต่ไม่ใช่พระเจ้าชัยวรมันที่ 6! เปิดข้อสันนิษฐานใหม่ ‘โกลเด้น บอย’ คือใคร? ‘ผมขอเสนอว่า…’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image