กว่า 30 ชิ้นยังสาบสูญ อ.โบราณคดี เตือน ใครรับซื้อโบราณวัตถุวัดประตูสาร เสี่ยงเจอรวบ

กว่า 30 ชิ้นยังสาบสูญ อ.โบราณคดี เตือน ใครรับซื้อโบราณวัตถุวัดประตูสาร เสี่ยงเจอรวบ

สืบเนื่องกรณีการโจรกรรมพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติสมัยอยุธยาตอนปลาย และโบราณวัตถุอีกหลายรายการจากวัดประตูสาร อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ก่อนที่จะมีการพบพระพุทธรูปดังกล่าวริมถนน คาดถูกกดดันจนต้องนำมาทิ้งไว้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มีนาคม วัดประตูสาร โดย พระครูพิพัฒน์สุวรรณสาร เจ้าอาวาส และ พ.ต.อ.ปรีดี เจริญศิลป์ ประธานคณะกรรมการวัดประตูสาร เผยแพร่รายการโบราณวัตถุที่ยังคงสูญหาย ได้แก่
1. พระพุทธรูปไม้แกะสลัก สมัยอยุธยาตอนปลาย 7 องค์
2. ชิ้นส่วนพระพุทธรูป ประมาณ 5 ชิ้น
3. หีบพระอภิธรรม 3 ใบ
4. ชุดภาพพุทธประวัติ 14 ภาพ
5. ด้ามพัดรอง 1 ด้าม
6. รูปถ่ายพระคณาจารย์-หลวงพ่อสอน 2 บาน

โดยทางวัดขอให้ผู้มีเบาะแส หรือข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ติดต่อ สถานีตำรวจภูธรเมืองสุพรรณบุรี หรือสำนัก
ศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ทันที

Advertisement


ด้าน รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า คุณค่าของพระพุทธรูปทรงเครื่องวัดประตูสาร แบ่งเป็น 2 เรื่องหลัก คือ 1. คุณค่าด้านศิลปกรรม ซึ่งเป็นศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย มีคุณค่าเชิงฝีมือช่างที่เป็นหลักฐานของช่างสมัยนั้น มีความสวยงามในเรื่องของประดับตกแต่ง ขึ้นรูปประติมากรรมซึ่งเป็นสัมฤทธิ์ ถือเป็นตัวอย่างของงานศิลปกรรมช่วงปลายอยุธยาที่มีความสวยงาม 2. คุณค่าในเชิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แสดงถึงความเก่าแก่ของวัดประตูสาร ซึ่งเป็นอารามสำคัญแห่งหนึ่งในเมืองสุพรรณยุคอยุธยาตอนปลายและไม่ได้ถูกทิ้งร้าง พระพุทธรูปเหล่านี้ยังคงประดิษฐานอยู่ ภาพรวมคือการเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองสุพรรณที่ถูกเก็บรักษาไว้ ขณะที่แหล่งอื่นอาจสาบสูญหรือเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

“ในด้านสุนทรียะ ถือว่าพระพุทธรูปทรงเครื่องที่วัดประตูสารมีความงดงามลำดับต้นๆ ของจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเชื่อมโยงกับคุณค่าอย่างแรกคือด้านศิลปกรรมดังที่กล่าวไปแล้ว” รศ.ดร. ประภัสสร์ กล่าว


รศ.ดร. ประภัสสร์ กล่าวต่อไปว่า พระพุทธรูปดังกล่าว กรมศิลปากรเคยทำทะเบียนโบราณวัตถุไว้ ดังนั้น หากสูญหายไป รูปพรรณสัณฐานต่างๆ ที่ตรงกันกับทะเบียน หากนำไปจำหน่าย ร้านขายของเก่าที่เห็นทะเบียนย่อมไม่รับซื้อ เพราะสามารถติดตามมาถึงผู้รับซื้อได้

Advertisement

“คาดว่าหน่วยงานของกรมศิลปากรในพื้นที่ อย่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) สุพรรณบุรี คือผู้ดำเนินการทำทะเบียนโบราณวัตถุของวัดประตูสาร เพราะพช. ในพื้นที่ทั่วประเทศมีการสำรวจตามวัดต่างๆ เมื่อพบสิ่งของที่มีคุณค่าเข้าข่ายโบราณวัตถุ ก็จะทำทะเบียนไว้ เพื่อยืนยันว่าได้รับการขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบของกรมศิลปากร โดยตัววัตถุก็ยังอยู่ที่วัดเช่นเดิม เผื่อวันหนึ่งสูญหายไปจะได้สอบทานรูปพรรณและข้อมูลต่างๆได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วัตถุสูญหายได้ยากขึ้น เนื่องจากจะเป็นที่รับรู้กันว่าหากนำไปถือครอง คือการทำผิดกฎหมาย การดำเนินการเช่นนี้ ถือเป็นการช่วยปกปักรักษาโบราณวัตถุอีกทางหนึ่ง” รศ.ดร. ประภัสสร์ กล่าว


เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงบทบาทของชาวจังหวัดสุพรรณบุรี โดยเฉพาะชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ ซึ่งประกาศให้คนไทยร่วมกันติดตามเบาะแส กระทั่งพบพระพุทธรูปแล้วเบื้องต้น 1 องค์

รศ.ดร. ประภัสสร์ กล่าวว่า เนื่องจากสุพรรณบุรีคือเมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญ คนในจังหวัดมีสำนึกในด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมือง มีการตั้งกลุ่มศึกษามรดกทางวัฒนธรรม กลายเป็นเครือข่ายที่มีบทบาทในด้านการศึกษาและอนุรักษ์ อาทิ ชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้กระจายข่าวสารการสูญหายและขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันแจ้งเบาะแสติดตาม

“เครือข่ายนี้มีความเหนียวแน่น มีจิตสำนึกร่วมกันในด้านปกปักรักษามรดกของพื้นที่ จึงเป็นประโยชน์ในด้านการติดตามข่าวสาร การช่วยประสานงาน สอดส่องดูแลมรดกวัฒนธรรมในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากต้นทุนหรือทรัพยากรของหน่วยงานรัฐและบุคลากรที่มีจำกัด” รศ.ดร. ประภัสสร์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image