ภิกษุณีธัมมนันทา เดินหน้าลุย ‘ภิกษุณีในไทย’ เผย หากจะบวชต้องไป ตปท.เท่านั้น

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม เวลา 13.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “กว่าจะเป็นภิกษุณีธัมมนันทา” โดย รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ หรือภิกษุณีธัมมนันทา เป็นวิทยากร มี ผศ.จุไรรัตน์ จันทร์ธำรง ผู้วิจัย และนางสาวมาลี พฤกษ์พงศาวลี รองประธานกรรมการโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา เป็นผู้ดำเนินงาน โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

ภิกษุณีธัมมนันทา กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ.2513-2515 เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทางธรรมศาสตร์ไม่เคยปิดกั้นการเรียนรู้ ส่วนทางนักศึกษาก็ได้ความรู้ เพราะเมื่อครั้งเป็นอาจารย์ก็เคี่ยวเข็ญลูกศิษย์เต็มที่ และได้ลาออกจากการเป็นอาจารย์เมื่อ พ.ศ.2544 บรรพชาเป็นสามเณรี โดยได้ฉายาว่า “ธัมมนันทา” และบวชเป็นภิกษุณีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2546 โดยสืบสายจากสยามวงศ์ วัดดัมบุลละ ประเทศศรีลังกา นับเป็นภิกษุณีสายเถรวาทรูปแรกของประเทศไทย

“การบวชเป็นภิกษุณีในประเทศไทยนั้นไม่มี หากต้องการบวชเป็นภิกษุณีจะต้องบวชที่ต่างประเทศ อย่างเช่นที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ที่สามารถบวชได้ โดยจะถูกจำกัดสิทธิต่างๆ จากมหาเถรสมาคม ซึ่งคำสั่งนี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2471 โดยให้เหตุผลว่า ระบบของภิกษุณีได้หมดไปจากไทยแล้ว แต่ในความเป็นจริงภิกษุณีเป็นพุทธบริษัท 4 ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ตั้งแต่ต้น จนถึงปัจจุบันก็ยังใช้คำสั่งเดิม รวมไปถึงการเก็บภาษีวัตรทรงธรรมกัลยาณี การเก็บเงินค่าโดยสารเวลาขึ้นรถโดยสารกับภิกษุณี หรือการใช้คำนำหน้าจากบัตรทางราชการต่างๆ ที่ยังใช้คำว่า นางหรือนางสาว ตลอดจนการรักษาพยาบาล

“สืบเนื่องจากการไม่ยอมรับ ขณะนี้มีการดำเนินเรื่องการมีภิกษุณีในประเทศไทยผ่านทางรัฐบาล โดยไม่ผ่านมหาเถรสมาคม เพราะหากดำเนินผ่านมหาเถรสมาคมก็จะกลับเข้าสู่การไม่ยอมรับดังเดิม” ภิกษุณีธัมมนันทากล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image