‘ธนพร’ เชื่อ ต้องมีมือลับแบ่งเขต พท.-กก.เสี่ยงเตะตัดขา พปชร.ได้โอกาส เติมกระสุนภาคกลาง

‘ธนพร’ เชื่อ ต้องมีมือที่มองไม่เห็น แบ่งเขตสะเทือนแพ้-ชนะ ชี้ ภาคกลาง พปชร.มีโอกาสเติมกระสุน เพื่อไทย-ก้าวไกล เสี่ยงเตะตัดขา ดินแดง-พุทธมณฑล-ชลบุรี คือจุดชี้วัด

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ชั้น G บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มีการจัดเวทีวิชาการ “วิเคราะห์เลือกตั้ง 2566 จากฐานคะแนนและการแบ่งเขตเลือกตั้ง” ซึ่งนับเป็นเวทีที่ 2 ในแคมเปญ “มติชน เลือกตั้ง’66 บทใหม่ประเทศไทย” โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง การเลือกตั้ง ตลอดจนอดีตรัฐมนตรี มาร่วมวิเคราะห์แนวโน้มของผลการเลือกตั้งปี 2566 ภายใต้กติกาการเลือกตั้งของ กกต.ที่เปลี่ยนไปจากการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายเดือนพฤษภาคมนี้

บรรยากาศเวลา 10.30 น. รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ร่วมเสวนาในหัวข้อ” บทวิเคราะห์เลือกตั้ง 2566 จากการแบ่งเขต 400 เขต” โดยอธิบายภาพรวมการคำนวณ ส.ส.ทั้งประเทศเป็นรายภาค อ้างอิงจากการประกาศภาคของ กกต.ทั้ง 4 ภาค ได้แก่ 1.ภาคเหนือ 2.ภาคอีสาน 3.ภาคกลาง ตะวันออกและตะวันตก 4.ภาคใต้

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.ธนพรวิเคราะห์ผลคะแนนภาคกลาง ซึ่งปี 2562 มี 26 จังหวัด ส.ส. 122 ที่นั่ง แต่รอบนี้รวมภาคตะวันออกและตะวันตกด้วย โดยคาดว่า พรรคพลังประชารัฐจากเดิม 48 ที่นั่ง เพิ่มเป็น 54 เพื่อไทย 24 เพิ่มเป็น 31 อนาคตใหม่ (ก้าวไกล) 24 เพิ่มเป็น 25 ภูมิใจไทย 13 เพิ่มเป็น 15 ประชาธิปัตย์ 8 ลดเหลือ 7 ชาติไทยพัฒนา 5 เพิ่มเป็น 7 รวมเป็น 139 ที่นั่ง ซึ่งภาคกลางเหมือนทุกคนมีความสุข บวกกันหมด

Advertisement

รศ.ดร.ธนพรหยิบยก จ.นครปฐม ที่มี 5 เขต ในปี’62 โดยอนาคตใหม่ 2 ที่นั่ง พลังประชารัฐ 1 ประชาธิปัตย์ 1 ชาติไทยพัฒนา 1 คน แต่ล่าสุดเพิ่มเป็น 6 เขต

“นครปฐมหลายพรรค ครั้งที่แล้วต้องนับคะแนนกัน 2 หน ครั้งที่แล้วเขต 1 ประชาธิปัตย์ เขต 2 ชาติไทย เขต 3 อนาคตใหม่ เขต 4 พลังประชารัฐ เขต 5 อนาคตใหม่ จ.นครปฐม ไม่ค่อยซับซ้อนในฉากที่เราเห็น แต่มีอะไรแฝงอยู่ เทียบกับปี 2566 พูดง่ายๆ ว่าไม่ค่อยเสียฐานที่มั่นของตัวเองนัก

Advertisement

ผลปี’66 พบว่าเขตที่ 1 จะเป็นก้าวไกล เขตที่ 2 ประชาธิปัตย์ เขตที่ 3 ชาติไทย เขตที่ 4 ก้าวไกล เขตที่ 5 นครชัยศรี-พุทธมณฑล รวมถึงเขตที่ 6 ก็จะเป็นก้าวไกลด้วย ดูเหมือนจะได้เพิ่ม แต่อยากให้ดูเขตที่ 5 มันคือเขตที่ 4 เก่า ลองดูวิธีแบ่งเขต ถ้าใครเคยไปมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ที่เราเรียกว่า อ.พุทธมณฑล มี 3 ตำบล คือ มหาสวัสดิ์ ศาลายา และคลองโยง ถ้าใครเคยไปแถวนั้นจะรู้ว่า พื้นที่ริมคลองสวัสดิ์ คือพื้นที่บุกเบิกการปลูกข้าวแห่งแรกของสยาม ก่อนทุ่งรังสิต และวันนี้พื้นที่นั้นก็ยังเป็นที่ปลูกข้าวสำคัญของ จ.นครปฐม

ถามว่ามีนัยสำคัญอะไร พอมีการเอาเขต 5 ซึ่งเดิม นครชัยศรี ไปรวมกับสามพราน และเมืองบางส่วน รอบนี้ตัดเศษทิ้ง เหลือแค่นครชัยศรีล้วนๆ แล้วก็รวมกับพุทธมณฑลอีก 3 ตำบล ประเด็นอยู่ที่ อ.พุทธมณฑลที่เพิ่มเข้ามา 3 ตำบล ซึ่งก้าวไกลได้ 9,000 ในปี 2562 พลังประชารัฐได้ 3,000 ดูเหมือนห่าง แต่พลังประชารัฐไปออกของที่นครชัยศรีแบบแน่นๆ

ปี’62 เพื่อไทยไม่ได้ส่ง อ.พุทธมณฑล ไทยรักษาชาติลงแต่ถูกยุบพรรค คะแนนจึงไหลเทมาที่ก้าวไกล แต่วันนี้พอเอาปีกพุทธมณฑลมารวม จะถูกแชร์ระหว่าง ‘เพื่อไทย เจ้าพ่อจำนำข้าว’ กับ ‘ก้าวไกล’ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากคะแนนที่ตกมาจากไทยรักษาชาติ รอบนี้ก้าวไกลจึงไม่แน่”

“ตรงนั้นผมยืนยันว่า พื้นที่โฉนดชุมชน พื้นที่มหาสวัสดิ์ ยังไงก็เอาจำนำข้าว ยังไงก็เอาเกวียนละ 15,000 ได้เห็นๆ แต่พอแบ่งแบบนี้ ก้าวไกลกับเพื่อไทยก็เตะตัดขากันเอง คะแนนที่เหนียวแน่นกลายเป็นนครชัยศรีที่เดียว นั่นคือพลังประชารัฐมีโอกาสเติมกระสุน ทำพื้นที่อีกนิดหน่อย เบียดขึ้นมาได้ นี่คือความน่าสนใจของนครปฐม วิธีคิดต้องไปดูไปถึงคะแนนระดับตำบลเป็นอย่างน้อย” รศ.ดร.ธนพรระบุ

จากนั้น วิเคราะห์ ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี 8 เขต ซึ่งรอบนี้เพิ่มเป็น 10 เขต

รศ.ดร.ธนพรกล่าวว่า ชลบุรี ขีดเส้นใหม่กับเก่า แทบไม่ต่าง มีติ่งนิดเดียวตรงเขต 9 แถวหนองปรือ เมืองพัทยา แต่อ่านไม่ยาก ชลบุรีเขตใหม่ เขตที่ 1 2 3 4 5 และ 6 ถ้าเราเชื่อมั่นในบ้านใหม่ (พลังประชารัฐ) บ้านใหม่ยังเดินหน้าต่อไป ถึงย้ายก็ขั้วเดียวกัน

เขต 5 เดิมกลายเป็นเขต 7 ยังคงเป็นก้าวไกลอยู่ ส่วนเขต 7 เดิมจะกลายเป็นเขต 9 เมืองพัทยา ยังคงเป็นก้าวไกล เขต 8 สัตหีบ นาจอมเทียน กลายมาเป็นเขต 10 ยังคงเป็นพลังชารัฐ กำไรอยู่ที่เขต 8 จะเห็นว่ามีการตัดก้อนคะแนนของก้าวไกลออก เพื่อประหยัดต้นทุนในการต่อสู้ แล้วคงไว้แค่ตำบลที่พลังประชารัฐแข็งแรง เช่น ต.บางละมุง ต.นาเกลือ ต.หนองปลาไหล ต.เขาไม้แก้ว ต.ห้วยใหญ่ ต.โป่ง อยู่ในเขตนี้หมด แล้วพอตัดตำบลหนองปรือซึ่งเป็นเมืองพัทยาออกไป ก้าวไกลได้ เขตที่เหลือคือพลังประชารัฐไปเลย ผมให้เครดิตบ้านใหญ่ แต่ตามข้อมูลมันไม่เหลือที่ให้ยืน เป็นการบ้าน นี่คือพฤติกรรมในปี 2562

“การแบ่งเขตซึ่งเราเชื่อกันโดยพื้นฐานว่า ต้องมีมือที่มองไม่เห็นมาสั่งให้แบ่งเขตแบบนี้ ถามว่าใครเชื่อบ้างว่า กกต.ขีดเอง 90 % ล้วนเชื่อว่า มันต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งแน่ ผมเพียงแต่เอารูปธรรมมาให้เห็นว่ามันเป็นแบบนี้ แล้วทำให้เกิดผลการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปจริงๆ จากการแบ่งเขต” รศ.ดร.ธนพรกล่าว

รศ.ดร.ธนพรกล่าวถึง กทม. จาก 30 เขต ส.ส. 30 คน เปลี่ยนเป็น 33 คน ว่าถ้าดูภาพกว้างไม่ค่อยเปลี่ยน ส่วนที่บอกว่าผสมแขวงเป็นหลัก เรื่องรองดูจากโซนหลักไม่ค่อยเปลี่ยน

“ลองเอาข้อมูลปี’62 มาทาบดูว่าใครจะไปต่อได้ เขต 1-2 พลังประชารัฐ เขต 3 ก้าวไกล เขต 4-9 พลังประชารัฐ เขต 10-12 เพื่อไทย เขต 13-14 พลังประชารัฐ เขต 15-16 เพื่อไทย เขต 17 พลังประชารัฐ 18 เพื่อไทย เขต 19 พลังประชารัฐ 20 เพื่อไทย เขต 21-27 ก้าวไกล เขต 28 เพื่อไทย เขต 29-30 ก้าวไกล เขต 31 เพื่อไทย เขต 32 ก้าวไกล เขต 33 พลังประชารัฐ” รศ.ดร.ธนพรกล่าว

โดยชี้ให้เห็นว่า กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ยังคงเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย ฝั่งธนฯของ ก้าวไกล ส่วนกรุงเทพฯชั้นใน ยังเป็นของพลังประชารัฐเหมือนเดิม

รศ.ดร.ธนพรกล่าวว่า ของจริงอยู่ที่เขต 5 ดินแดง ประกอบด้วยดินแดงและห้วยขวาง ซึ่งปี’62 แข่งกัน 2 พรรค คือพลังประชารัฐ กับเพื่อไทย

“ดินแดงพลังประชารัฐชนะไป 700 เขตห้วยขวาง เพื่อไทยชนะไป 1,000 เมื่อรวมกันกลายเป็นเพื่อไทยชนะ 200 งวดนี้เขต 5 เอาห้วยขวางไว้เหมือนเดิมเป็นแกน แต่ไปเอา 3 แขวงของวังทองหลาง มารวม ประกอบด้วย 1.แขวงพลับพลา 2.วังทองหลาง และ 3.สะพานสูง พอเราไปดูคะแนนปี’62 3 แขวงนี้พลังประรัฐได้เต็มๆ เมื่อเอามารวมกันกลายเป็นพลังประชารัฐ ชนะทันที 200 คะแนนเช่นเดียวกัน รอบที่แล้วสูสี จะเห็นว่าวิธีวางเขตเลือกตั้งมีผลต่อการแพ้-ชนะจริงๆ

ในกรุงเทพฯ ดูกันถึงระดับชุมชน-หมู่บ้านด้วยซ้ำไป อยากฝากเป็นข้อมูลอีกชุดสำหรับคนที่สนใจการบ้านการเมือง และตั้งใจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” รศ.ดร.ธนพรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image