‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์’ ทอดน่อง ‘ล้ง 1919’ เปิดตำนานชุมชนจีน ‘กฤช’ พากินพระรามลงสรง (คลิป)

‘ขรรค์ชัย สุจิตต์’ ทอดน่อง ‘ล้ง 1919’ เปิดตำนานชุมชนจีน ‘กฤช’ พากินพระรามลงสรง

เมื่อเวลา 09.00 น.  วันที่ 14 มกราคม ที่ ‘ล้ง 1919’ ถนนเชียงใหม่ คลองสาน กรุงเทพฯ มีการถ่ายทำรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ตอน ‘จีน-ไทย หลายพันปี มีวัฒนธรรมร่วมก่อนอยุธยา, สุโขทัย’

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน กล่าวว่า พื้นที่บริเวณนี้สำคัญมากสำหรับความเป็นกรุงเทพฯ คลองสาน ฝั่งธนบุในอดีตเป็นย่านชาวสวน รวมถึงโกดังเก็บสินค้าของชาวจีน ในขณะที่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา คือฝั่งกรุงเทพฯ หรือพระนคร เป็นย่านการค้าสำคัญ นับเป็นไชนาทาวน์แรกสุดก่อนเยาวราช แต่ประวัติศาสตร์ไทยไม่พูดถึง คนจึงไม่เข้าใจพัฒนาการ ไม่มีพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯทั้งที่ กทม.ใหญ่มโหฬาร ทำให้ไม่รู้จักรากเหง้าตัวเอง คนบางกลุ่มด่าคนอื่นชังชาติ แต่ตัวเองไม่รู้ประวัติศาสตร์

“ย่านนี้ในรูปถ่ายสมัย ร.5 เต็มไปด้วยโรงเก็บสินค้า ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนฯคือโกดัง โรงสี โรงเลื่อย ส่วนฝั่งพระนครเป็นย่านการค้า จุดที่นั่งอยู่นี้คือย่านกลุ่มพ่อค้าชาวจีนที่มาตั้งรกรากทำธุรกิจใหญ่โต เป็นชุมชนที่เจริญขึ้นจากการค้านานาชาติบน 2 ฟากแม่น้ำ สินค้าจากต่างประเทศจะถูกขึ้นจากเรือย่านนี้ จากนั้นค่อยจัดสรรทยอยไปขายฝั่งพระนคร ยุคก่อนมีท่าเรือคลองเตย เรือจากต่างประเทศมาจอดกันตรงนี้” นายสุจิตต์กล่าว

Advertisement

นายสุจิตต์กล่าวอีกว่า ย้อนไปสมัยอยุธยา บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของคนนานาชาติพันธุ์ ต่อมา สมัยธนบุรี รัตนโกสินทร์ การค้ากับจีนหนาแน่น คนจีนมาตั้งถิ่นฐาน รวมถึงฝรั่ง และชาวมุสลิมด้วย

ย่านคนจีนในอดีตอยู่บริเวณที่เป็นพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน รวมถึงท่าพระจันทร์ ท่าช้าง ท่าเตียน ในนิราศหม่อมพิมเสน กล่าวถึง ‘บางจีน’ ซึ่งก็คือพื้นที่ดังกล่าว ต่อมา รัชกาลที่ 1 โปรดให้ราชาเศรษฐีหัวหน้าคนจีนพากันย้ายไปยังสำเพ็ง

Advertisement

“ล้ง 1919 อยู่ฝั่งตรงข้ามสำเพ็งพอดี มองเห็นวัดสำเพ็ง หรือวัดปทุมคงคา, วัดเกาะ หรือวัดสัมพันธวงศ์ รวมถึงวัดสามปลื้ม หรือวัดจักรวรรดิราชาวาส และวัดสามจีน หรือวัดไตรมิตรวิทยาราม สำเพ็งดั้งเดิมอยู่ริมแม่น้ำ ดังนั้น 2 ฟากฝั่งเจ้าพระยาคือย่านชาวจีนมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ แต่คำว่าสำเพ็งเป็นภาษามอญ แปลว่า เจ้าขุนมูลนาย ขุนนาง สะท้อนว่าเดิมเคยเป็นชุมชนมอญ แล้วคนจีนย้ายมาทีหลัง จึงเต็มไปด้วยศาลเจ้าจีน อย่างศาลเจ้าแม่หม่าโจ้” นายสุจิตต์กล่าว

นายสุจิตต์กล่าวว่า ความเป็นไทยและจีนปนเปกันมาเป็นพันปี ไม่ได้เริ่มต้นที่สุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงก็ไม่เคยไปเมืองจีน แต่เป็นเจ้านครอินทร์ซึ่งนำเทคโนโลยีการทำสังคโลกจากจีนกลับมา อาจารย์สืบแสง พรหมบุญ นักวิชาการชื่อดัง ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ ม.วิสคอนซิน สหรัฐ จบเมื่อ พ.ศ.2513 ขณะนั้นตนและนายขรรค์ชัยยังทำงานอยู่ที่ นสพ.สยามรัฐ

“อาจารย์สืบแสงแปลเอกสารจีน พบว่าพ่อขุนรามคำแหงไม่เคยไปเมืองจีน เอกสารจีนเรียกสุโขทัยว่า ซก โก ไท้ เรียกสุพรรณฯว่าสยาม ความรู้เรื่องนี้มีมานาน 50 ปี แต่ที่ไม่แพร่หลาย เป็นปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย

“คนในไทยกับจีนไปมาหาสู่กัน มีหลักฐานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว พบหม้อสามขาแบบวัฒนธรรมลุงชาน ในลุ่มน้ำฮวงโห ตั้งแต่ตาก กำแพงเพชร อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ลงไปถึงมาเลเซีย”

นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ย่านนี้มีความหมายมาก หากพัฒนาให้ดี มีความเป็นระเบียบ สะอาดสะอ้าน จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตชีวา อย่างล้ง 1919 ตนเพิ่งเคยเดินทางมาครั้งแรก รู้สึกประทับใจมาก เพราะพัฒนาพื้นที่ได้เป็นอย่างดีและอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเดิมไว้ได้อย่างดีเช่นกัน หน่วยงานราชการควรมาศึกษาแนวทาง สมัยเป็นวัยรุ่น ตนมาย่านคลองสานเป็นประจำ เนื่องจากสามารถนั่งรถไฟจากบ้านย่านโรงพักบางขุนเทียนมาลงสถานีปากคลองสาน ยังจำชื่อพนักงานตรวจตั๋วบนรถไฟได้ถึงทุกวันนี้

จากนั้น เวลาประมาณ 13.00 น. นายกฤช เหลือลมัย คอลัมนิสต์ด้านอาหารชื่อดัง แขกรับเชิญพิเศษ ร่วมถ่ายทำรายการที่ร้านข้าวพระรามลงสรง ย่านท่าดินแดง

นายกฤชกล่าวว่า ข้าวพระรามลงสรงเป็นอาหารจีนที่ได้รับอิทธิพลมาจากสะเต๊ะของมุสลิม ในอดีตมีสถานะคล้ายข้าวแกง ตั้งแต่เยาวราช วรจักร สะพานเหล็กมีขายเต็มไปหมด โดยมีผู้หาบขายทั่วไป ชื่อพระรามลงสรง เชื่อว่าตั้งขึ้นโดยนำสีเขียวของผักบุ้งมาเปรียบกับพระราม เป็นจินตนาการของคนไทยในการตั้งชื่อ

ทั้งนี้ สามารถรับชมรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ตอน ‘จีน-ไทย หลายพันปี มีวัฒนธรรมร่วมก่อนอยุธยา, สุโขทัย’ ได้ทางเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด,ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติขนทีวี ในวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม เวลา 20.00 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image