เบิกเนตร ‘กรุงเทพอีกมุม’ วัยเกษียณปลื้ม ‘ต้า’ แฟนพันธุ์แท้วัดไทย พาซอกแซก ‘วัดโพธิ์’

ต้า แฟนพันธุ์แท้วัดไทย นำซอกแซก ‘วัดโพธิ์’ ปักหมุดยุคเรเนซองส์สยาม วัยเกษียณปลื้ม ทริปดีเทลลึกเผย ‘กรุงเทพอีกมุม’

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่บริเวณมิวเซียมใต้ดิน รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพฯ ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง พร้อมด้วยพันธมิตร จัดกิจกรรม ‘Happy Journey with BEM มรดกสยาม 3 สมัย’ ระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายนนี้

โดยหนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์ของงาน ได้แก่ ‘History Trip ชมวัดโพธิ์โสภาสถาพร’ เลียบเจ้าพระยาชมวัด-วัง ซึ่งเส้นทางทริปเดินทางเยี่ยมชมสถานที่สำคัญจาก รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) สถานีสนามไชยมายังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร นำชมโดย ดร.ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล หรือ ต้า แฟนพันธุ์แท้วัดไทย

Advertisement

เวลา 08.45 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยายกาศของกิจกรรมเริ่มต้นในช่วงเช้า มีประชาชนเดินทางหลั่งไหลมาจุดลงทะเบียนบริเวณมิวเซียมใต้ดิน ทั้งผู้ที่ลงทะเบีบนเข้าร่วมกิจกรรมมาล่วงหน้า และผู้เดินทางมาร่วมกิจกรรมแบบวอร์กอินจำนวนมาก ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จัดคิวตามลำดับ

เวลา 09.30 น. ผู้เข้ากิจกรรมเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) สถานีสนามไชย มุ่งหน้าไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เพื่อเยี่ยมชมสถานที่สำคัญและรับฟังเกร็ดความทางประวัติศาสตร์

Advertisement

ในตอนหนึ่ง ดร.ธนภัทร์กล่าวว่า วัดโพธิ์เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่ยุคปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 1 โดยได้รับการซ่อมของเดิมเพื่อให้ใช้งานได้ และสร้างของใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา รวมถึงการบูรณครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 3

“งานช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 มีความเป็นจีนสูง เนื่องจากเราเคยค้าขายกับจีนมาก่อน เห็นได้จากตุ๊กตาจีนที่เรามักจะเรียกว่า ‘อับเฉา’ ด้วยความเข้าใจว่าสิ่งนี้คือสิ่งถ่วงเรือ แต่จากการตรวจสอบหลักฐานปัจจุบันพบว่า ของเหล่านี้เป็นของตั้งใจไปซื้อมาเพื่อประดับวัด เพราะซื้อมาง่ายกว่าการสร้างใหม่ ง่ายกว่าการมาแกะสลักใหม่ ซึ่งก็สวยงามเหมือนกัน” ดร.ธนภัทร์เผย

ดร.ธนภัทร์กล่าวว่า หลายคนจะเรียกว่าวัดโพธิ์ ว่าคือ ‘มหาวิทยาลัยแห่งแรก’ แต่ส่วนตัวแล้วตนจะเรียกว่า ‘หอสมุดแห่งแรก’ มากกว่า เพราะว่าสมัยก่อนไม่ใช่ว่าทุกคนจะอ่านหนังสือออก เราไม่ได้มีโรงเรียนสอนหนังสือกันอย่างเป็นกิจลักษณะแบบในปัจจุบัน คนไทยสมัยก่อนแค่พออ่านออกเขียนได้

“ถ้าใครเคยอ่านเอกสารโบราณ หรือ จารึก จะเห็นว่าคำเดียวกันมีการสะกดไม่เหมือนกัน เช่น คำว่า ‘ศาสนา’ แต่ในบางจารึกเขียนว่า ‘สาสนา’ ขอแค่เสียงตรงกันบางทีเขาไม่ได้สนใจพยัญชนะด้วยซ้ำ ดังนั้น จารึกวัดโพธิ์ไม่ใช่ว่าทุกคนจะอ่านออก ซึ่งวัดโพธิ์มีการจัดจารึกหลายเรื่องมาก ไม่ใช่ว่าจะเอาจารึกมาจัดวางตรงไหนก็ได้ รวมถึงจากรึกในวิหารต่างๆ โคลงกลอน ตำรายา รวมถึงการเขียนถึงเมืองในประเทศราชด้วย” ดร.ธนภัทร์ระบุ

ดร.ธนภัทร์กล่าวว่า ‘วัดโพธิ์’ เป็นเหมือนการรวมความรู้ทุกอย่างที่คนในสมัยรัชกาลที่ 3 รู้ ถูกจารึกไว้ที่นี่ทั้งหมด มันเหมือนการสังคายนาพระไตรปิฎก แต่อันนี้เป็นการสังคายนาความรู้ อารมณ์เหมือนเป็นเรเนซองส์ของสยาม

“ส่วนตัวผมถ้าเราจะเรียกว่ายุคไหนว่าเป็นเรเนซองส์ของกรุงเทพ หรือ ไทย ผมจะเรียกยุคนี้ เพราะความรู้ทั้งหมดที่รู้มาตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา จนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ถูกสังคายนาใหม่และทำให้ถาวร เพราะเอกสารสมัยก่อนเราทำด้วยกระดาษ แน่นอน พอผ่านการเวลาไปดูแลไม่ดี ไฟไหม้ น้ำท่วม มีความชื้น กระดาษพวกนั้นจะหายไปก่อน พวกนี้ไม่ พวกนี้ทนกว่าเยอะ เพราะฉะนั้นจารึกจึงเป็นหลักฐานยืนยันว่าในสมัย ร.3 เรารู้เรื่องเหล่านี้” ดร.ธนภัทร์เผย

น.ส.กมลพร วิริยะสุนทร พนักงานเกษียณอายุวัย 64 ปี กล่าวว่า สิ่งที่ได้มากที่สุดในวันนี้คือความรู้ จากผู้เชี่ยวชาญเขาเรียนมา เราจึงมั่นใจว่าผู้นำชมเขาศึกษาและวิจัยมาจริง อันนี้คือหลักสำคัญของทริปครั้งนี้

“เราเป็นคนกรุงเทพแท้ๆ เรามาเที่ยวบ่อย อย่างวัดโพธิ์เรามาไม่รู้กี่รอบแล้ว แต่ไม่ได้มีความรู้แบบที่ผู้นำชมเขาเล่า เช่น พระพุทธไสยาสน์ หรือ พระนอน เราเพิ่งรู้ว่าเขาสร้างใหม่สมัย ร.5 หรือ การสร้างโบสถ์ทรงสูงเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ ร.3” น.ส.กมลพรเผย

น.ส.กมลพรกล่าวว่า ตนชอบกิจกรรมครั้งนี้มาก หากจัดอีกก็จะมาร่วมอีก เราได้เห็นกรุงเทพอีกมุม บางทีเราฟังตามไกด์ของทัวร์ ซึ่งบางทีชาวต่างชาติเขาอาจจะรู้ข้อมูลดีกว่าเราเสียอีก เพราะเราเห็นตึกหรือสถานที่มากมาย แต่เราไม่มีคนมาเสริมความรู้หรือจัดกิจกรรมแบบนี้ เราได้แต่ไปกันเอง แต่เราไม่ได้รู้ลึกซึ้งอะไรมากนัก ครั้งนี้จึงประทับใจมาก

จากนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้ากราบสักการะบูชาพระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร และพระพุทธไสยาสน์ หรือ พระนอน รวมถึงเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ (วังหน้าพระลาน), อาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตึกถาวรวัตถุ) และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เป็นต้น

ทั้งนี้ งานมรดกสยาม 3 สมัย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายนนี้ เวลา 09.00-20.00 น. ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผู้สนใจสามารถเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า MRT สถานีสนามไชย ทางออกที่ 1 จากนั้นขึ้นรถ EV มาต่อ บริการฟรี ตั้งแต่เวลา 11.00 – 20.30 น. ระหว่าง MRT สถานีสนามไชย – พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ไม่เสียค่าใช้จ่าย

อ่านข่าว : เริ่มแล้ว! มรดกสยาม 3 สมัย BEM พาเดินเมืองเก่า ปักหมุดสถานีสนามไชย ยิงยาวพิพิธภัณฑ์ฯพระนคร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image