โฟกัสโลกรอบสัปดาห์ : เจาะศึกเลือกตั้งฝรั่งเศส มาครงลุ้นขวางฝ่ายขวาจัดผงาดกุมอำนาจ

นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส (เอพี)

โฟกัสโลกรอบสัปดาห์: เจาะศึกเลือกตั้งฝรั่งเศส มาครงลุ้นขวางฝ่ายขวาจัดผงาดกุมอำนาจ

ไม่มีการเลือกตั้งครั้งใดที่การเดิมพันไม่สูง เพราะการเปลี่ยนรัฐบาลหรือผู้นำประเทศในแต่ละครั้งย่อมนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงเสมอไม่มากก็น้อย แต่การเลือกตั้งที่ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในสนามที่น่าจับตามองที่สุดคือการเลือกตั้งรัฐสภาของฝรั่งเศส ที่ไม่เพียงจะเป็นการเดิมพันชะตาของรัฐบาลหรือผู้นำประเทศอย่างประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง แต่ยังเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ของระบบการเมืองฝรั่งเศสอีกด้วย การเลือกตั้งฝรั่งเศสในครั้งนี้เป็นอย่างไร และการเมืองฝรั่งเศสจะเป็นอย่างไรหากพรรคฝ่ายกลางของมาครงพ่ายแพ้การเลือกตั้ง?

การเลือกตั้งรัฐสภาฝรั่งเศสจะมีด้วยกัน 2 รอบ โดยรอบแรกในวันที่ 30 มิถุนายน และรอบสองในวันที่ 7 กรกฎาคม ตามจริงแล้ว มาครงไม่จำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งรัฐสภานี้เลยเพราะเพิ่งมีการจัดไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2022 และจะหมดวาระในปี 2027 แต่มาครงได้ประกาศการยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งหลังจากที่พรรค National Rally ฝ่ายขวาจัดของ นายจอร์แดน บาร์เดลลา และ นางมารีน เลอเปน คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเหนือพรรคแนวร่วมฝ่ายกลางของมาครงไปด้วยคะแนนเสียง 31.4% ต่อ 14.6% นี่ถือเป็นการตัดสินใจที่ช็อคทั้งชาวฝรั่งเศสและชาวโลก เพราะดูก็รู้ว่ามันไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะจัดการเลือกตั้ง เมื่อดูจากกระแสฝ่ายขวากำลังมาแรงในหลายประเทศ และอีกไม่กี่สัปดาห์ฝรั่งเศสกำลังจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก มหกรรมการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มาครงสามารถใช้เวทีการแข่งขันกีฬานี้เพื่อเรียกคะแนนนิยมให้กับตัวเอง สร้างความได้เปรียบเหนือพรรคคู่แข่งคนอื่นๆ แล้วค่อยประกาศจัดเลือกตั้งก็ยังไม่สาย

นายจอร์แดน บาร์เดลลา หัวหน้าพรรค National Rally ฝ่ายขวาจัด (รอยเตอร์)

อย่างไรก็ตาม มาครงให้เหตุผลผ่านทางโทรทัศน์ว่า ผลการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปทำให้เขาไม่สามารถอยู่เฉยโดยไม่ทำอะไรได้ และยืนกรานว่าเป็นทางออกที่มีความรับผิดชอบมากที่สุด แต่ตามจริง มาครงคิดที่จะจัดการเลือกตั้งใหม่มาหลายเดือนแล้วด้วยความคิดที่จะทำให้พรรคสายกลางกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาอีกครั้ง เพราะหลังจากที่มาครงไม่สามารถคว้าเสียงข้างมากในสภาอย่างเบ็ดเสร็จได้ในปี 2022 การผ่านร่างกฎหมายในสภาก็กลายเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับเขา เพราะเขาต้องใช้เสียงสนับสนุนจากพรรคอื่นๆ ทุกครั้งในการผ่านกฎหมายสักฉบับ ทำให้มาครงต้องหลีกเลี่ยงการโหวตในสภาเพื่อผ่านร่างกฎหมายปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญและต้องใช้เสียงสนับสนุนจากพรรค National Rally เพื่อผ่านกฎหมายที่จะทำให้กฎการรับผู้อพยพมีความรัดกุมยิ่งขึ้น มาครงยังหวังอีกว่าการประกาศเลือกตั้งแบบฟ้าผ่านี้ปลุกให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวฝรั่งเศสที่กำลังนิยมพรรคฝ่ายขวาให้กลับมาเลือกพรรคฝ่ายกลางอีกครั้ง

Advertisement

แม้ตอนนี้จะยังคงเร็วเกินไปที่จะฟันธงว่าใครจะชนะการเลือกตั้งฝรั่งเศส แต่โพลสำรวจความคิดเห็นหลายสำนักชี้ว่าพรรค National Rally มีคะแนนนิยมทิ้งห่างกลุ่มพันธมิตร New Popular Front ที่เป็นฝ่ายซ้ายที่มีคะแนนนิยมรั้งอันดับ 2 และตามมาเป็นอันดับ 3 คือกลุ่มแนวร่วมฝ่ายกลางของมาครง ผู้นำฝรั่งเศสเองได้พูดถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิด “สงครามกลางเมือง” หากชาวฝรั่งเศสเลือกพรรคฝ่ายขวาจัดหรือซ้ายจัดเป็นผู้นำรัฐบาล

แต่ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งรัฐสภาฝรั่งเศสในครั้งนี้ มาครงจะไม่ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสแน่นอน และหากพรรค Renaissance ของเขาปราชัยก็จะทำให้มาครงต้องแชร์อำนาจการเมืองกับพรรคฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้ายที่ชนะการเลือกตั้ง ที่จะหมายถึงการกลับมาของ Cohabitation ที่นายกรัฐมนตรีจากพรรคเสียงข้างมากในสภาจะดูแลเรื่องนโยบายในประเทศ และประธานาธิบดีจากอีกพรรคการเมืองจะดูแลเรื่องคณะรัฐมนตรีรวมถึงนโยบายต่างประเทศและกลาโหม

หากพรรค National Rally คว้าเสียงข้างมากในสภาอย่างเบ็ดเสร็จก็อาจทำให้นายจอร์แดน บาร์เดลลาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสคนใหม่ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสด้วยวัยเพียง 28 ปี แต่บาร์เดลลาปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งดังกล่าวหากพรรคของเขาไม่สามารถคว้าเสียงข้างมากอย่างเบ็ดเสร็จเพราะเขา “ไม่อยากเป็นผู้ช่วยประธานาธิบดี”

Advertisement

ฝรั่งเศสเคยมีการแชร์อำนาจระหว่างประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนละพรรคการเมืองและจุดยืนทางการเมืองต่างกันมาแล้วในอดีต อาทิ ในปี 1997 – 2002 นายลียอแนล ฌ็อสแป็ง จากพรรคสังคมนิยมเป็นนายกรัฐมนตรีคู่กับประธานาธิบดี ฌาคส์ ชีรัก จุดยืนการเมืองสายกลาง-ขวา หรือเมื่อครั้งที่ชีรักดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคู่กับประธานาธิบดี ฟร็องซัวส์ มีแตร์ร็องด์ ในปี 1986-1988 แต่เชื่อว่าหลายคนยังนึกภาพไม่ออกว่านายกรัฐมนตรีจากพรรคฝ่ายขวาจัดหรือซ้ายจัดจะแชร์อำนาจอย่างไรกับประธานาธิบดีมาครงที่มาจากพรรคฝ่ายกลาง

พรรค National Rally มีการปรับจุดยืนของพรรคอยู่บ้างเพื่อพยายามลดภาพลักษณ์ที่สุดโต่งของพรรค เช่นยกเลิกนโยบายที่จะนำฝรั่งเศสออกจากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย รวมถึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการออกจากสหภาพยุโรป (อียู) อีกต่อไป แต่จะมุ่งไปยังเรื่องลดภาษีและนโยบายต่อต้านผู้อพยพ ด้านแนวร่วม New Popular Front มีนโยบายยกเลิกกฎหมายปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญและเรื่องผู้อพยพ ซึ่งมาครงกล่าวหาว่า New Popular Front สนับสนุนการเข้าเมืองของผู้อพยพ

เครดิตภาพ รอยเตอร์

การขับเคี่ยวที่เข้มข้นของการเมืองฝรั่งเศสทำให้เกิดความกังวลกับสถานการณ์ในประเทศก่อนการแข่งขันโอลิมปิก รัฐมนตรีมหาดไทยของฝรั่งเศสได้กล่าวว่า ทางการฝรั่งเศสกำลังเฝ้าระวังโอกาสที่จะเกิดการประท้วงรุนแรงในช่วงค่ำของวันเลือกตั้งทั้ง 2 รอบ และสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นคือพรรคฝ่ายขวาจัดอย่าง National Rally ชนะการเลือกตั้งทำให้ผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายซ้ายจัดออกมาประท้วงรุนแรงและลุกลามออกไปในย่านชานเมือง แต่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของฝรั่งเศสจะกระทบกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกมากน้อยเพียงใดคงต้องดูตามหน้างานจริงต่อไป และไม่มีใครรู้เช่นกันว่ามาครงพิจารณาถึงเรื่องเหล่านี้ก่อนประกาศเลือกตั้งหรือไม่

เท่านี้คงพอจะเห็นภาพรวมคร่าวๆ ของการเลือกตั้งรัฐสภาฝรั่งเศสในครั้งนี้ ที่อาจเรียกได้ว่าน่าสนใจและมีความสำคัญมากที่สุดครั้งหนึ่งของฝรั่งเศส เราคงต้องติดตามต่อไปว่าสุดท้ายแล้วการเดิมพันครั้งใหญ่ของมาครงจะเป็นบันไดสำคัญหรือเป็นการขุดหลุมฝังอนาคตทางการเมืองของตนเองกันแน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image