ผงะ! โรงงานอิฐในกัมพูชาใช้ขยะจากแหล่งผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ดังเป็นเชื้อเพลิงเตาเผา ทำคนงานป่วย

REUTERS

ผงะ! พบโรงงานอิฐในกัมพูชาใช้ขยะจากแหล่งผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ดังมาเป็นเชื้อเพลิงเตาเผา ทำคนงานป่วย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า The Cambodian League for the Promotion and Defense of Human Rights หรือ LICADHO เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ระบุว่า ขยะจากแบรนด์สินค้าระดับโลกอย่างน้อย 19 แบรนด์ ซึ่งรวมทั้ง Adidas และ Walmart ถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเตาเผา ในโรงงานอิฐหลายแห่งในกัมพูชา และส่งผลทำให้คนงานบางคนล้มป่วย

Waste from international clothing brands is stored before being used to fuel kilns at a brick factory on the outskirts of Phnom Penh
Cambodian League for the Promotion and Defense of Human Rights/Handout via REUTERS

รายงานของ LICADHO ที่มาจากการสำรวจโรงงานอิฐ 21 แห่งในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา รวมทั้งที่จังหวัดกันดาล ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน และการสัมภาษณ์พนักงานทั้งที่เป็นอดีตและปัจจุบันของโรงงาน พบว่า ขยะของโรงงานสิ่งทอ ทั้งผ้า พลาสติก ยางและวัสดุอื่นๆ จากแบรนด์ต่างๆ ถูกนำไปเผาตามโรงงานต่างๆ 7 แห่ง โดยโรงงานเหล่านี้นำขยะจากสิ่งทอมาเผาเพื่อประหยัดต้นทุนการซื้อเชื้อเพลิงอื่นๆ

Waste from international clothing brands is stored before being used to fuel kilns at a brick factory on the outskirts of Phnom Penh
Cambodian League for the Promotion and Defense of Human Rights/Handout via REUTERS

รายงานระบุด้วยว่า คนงานหลายคนที่บอกว่าขยะจากสิ่งทอเหล่านี้ทำให้เกิดอาการเวียนหัวและมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ ขณะที่คนงานอีกคนบอกว่า เธอมีอาการป่วยระหว่างการตั้งครรภ์

Advertisement

รอยเตอร์รายงานว่า จากผลการศึกษาของโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) เมื่อปี 2020 ระบุว่า การเผาไหม้ของขยะจากสิ่งทอจะปล่อยสารพิษสู่มนุษย์ได้ หากไม่มีการบริหารจัดการกระบวนการเผาไหม้อย่างระมัดระวัง และเถ้าถ่านที่ถูกปล่อยออกมา จะมีปริมาณสารพิษที่สูง ซึ่งสารพิษเหล่านี้ อย่างเช่น ไดออกซิน ที่เป็นต้นเหตุของมะเร็ง

Waste from international clothing brands is stored before being used to fuel kilns at a brick factory on the outskirts of Phnom Penh
Cambodian League for the Promotion and Defense of Human Rights/Handout via REUTERS

สำหรับแบรนด์เนม ที่ LICADHO ระบุว่า เป็นเจ้าของขยะที่ถูกนำไปเป็นเชื้อเพลิงเตาเผา ได้แก่ Adidas, C&A, Cropp และ Sinsay ของ LPP, Disney, Gap, Old Navy, Athleta, Karbon, Kiabi, Lululemon Athletica, Lidl Stiftung & Co’s Lupilu, Walmart’s No Boundaries, Primark, Reebok, Sweaty Betty, Tilley Endurables, Under Armour และ Venus Fashion

ขณะที่ Adidas ซึ่งมีโรงงานถึง 16 แห่งในกัมพูชา แจ้งว่า ได้เริ่มการสอบสวนว่ามีขยะถูกนำออกจากเส้นทางการกำจัดไปยังโรงงานอิฐตามรายงานหรือไม่

Advertisement
Waste from international clothing brands is stored before being used to fuel kilns at a brick factory on the outskirts of Phnom Penh
Cambodian League for the Promotion and Defense of Human Rights/Handout via REUTERS

โดย Adidas ระบุว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของกัมพูชา คือขยะจากสิ่งทอทั้งหมดจะต้องถูกทำลายทิ้ง หรืออาจจะถูกนำไปแปรรูปเป็นพลังงานในโรงงานแปรรูปขยะเป็นพลังงาน ที่มีการควบคุมอย่างเต็มที่และการควบคุมคุณภาพอากาศ

นอกจากนี้ อีกหลายแบรนด์แจ้งเช่นกันว่า กำลังสอบสวนเรื่องดังกล่าวอยู่ เช่น Lidl, LPP, Primark, C&A และ Tilley Endurables ส่วนแบรนด์อื่นๆ ยังไม่มีการตอบมายังรอยเตอร์แต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image