ทั่วโลกเผชิญคลื่นความร้อน จ่อทำลายสถิติรอบ 2 พันปี นิวเดลี 35.2 องศาฯตอนตี 1

AP

ทั่วโลกเผชิญคลื่นความร้อน จ่อทำลายสถิติรอบ 2 พันปี นิวเดลี 35.2 องศาฯตอนตี 1

คลื่นความร้อนกำลังคร่าชีวิตผู้คนในทั้ง 4 ทวีปทั่วโลก ในห้วงเวลาที่ซีกโลกเหนือได้ก้าวเข้าสู่วันแรกของฤดูร้อนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ความร้อนพุ่งทำลายสถิติอีกครั้ง และอาจแซงหน้าปี 2023 ที่ผ่านมาที่รั้งแชมป์ฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดในรอบ 2,000 ปี

อุณหภูมิที่บันทึกไว้ได้ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาเป็นสัญญาณเตือนภัยว่า อาจมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยหรือหลายพันคนทั่วทั้งเอเชียและยุโรป

ที่อินเดีย หอดูดาวซัฟดาร์จุงรายงานว่า อุณหภูมิในกรุงนิวเดลีในค่ำคืนวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา สูงถึง 35.2 องศาเซลเซียสในเวลาตี 1 ซึ่งถือว่าเป็นคืนที่ร้อนที่สุดในรอบอย่างน้อย 55 ปี

Advertisement

ตามข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดียวระบุว่า กรุงนิวเดลีเผชิญกับอุณหภูมิร้อนกว่า 40 องศาเซลเซียสติดต่อกันนาน 38 วัน นับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระบุว่า มีผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโรคลมแดดมากกว่า 4 หมื่นคน และเสียชีวิตอย่างน้อย 110 ราย ระหว่างวันที่ 1-18 มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกของอินเดียมีรายงานการเกิดคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปกติ

โดยปกติแล้วอุณหภูมิจะลดลงในช่วงกลางคืน แต่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้อุณหภูมิในช่วงค่ำคืนพุ่งสูงขึ้น และในหลายส่วนของโลก กลางคืนจะร้อนเร็วกว่ากลางวัน

ในซาอุดีอาระเบีย ตัวเลขผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ในนครเมกกะในสัปดาห์นี้พุ่งใกล้แตะ 1 พันราย ด้วยอุณหภูมิที่สูงกว่า 51 องศาเซลเซียส ขณะที่ประเทศรอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนยังต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่ร้อนอบอ้าวต่อไป ที่ส่งผลให้เกิดไฟป่าในโปรตุเกสจนถึงกรีซ และตามแนวชายฝั่งทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา

Advertisement

นักอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในเซอร์เบียอุณหภูมิจะในสัปดาห์นี้จะอยู่ที่ราว 40 องศาเซลเซียส เพราะลมร้อนจากแอฟริกาเหนือพัดผ่านคาบสมุทรบอลข่าน จนต้องมีการประกาศเตือนภัยถึงผลกระทบต่อสุขภาพในระดับสีแดง และแนะนำประชาชนอย่าออกไปอยู่กลางแจ้ง

เช่นเดียวกับมอนเตเนโกร ที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เตือนให้ประชาชนอยู่ในที่ร่มจนถึงช่วงก่อนเย็น ขณะที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากมายหลายหมื่นคนมาท่องเที่ยวเพื่อหาความสดชื่นริมหาดตามชายฝั่งทะเลเอเดรียติก

ยุโรปก็ต้องเผชิญกับข่าวนักท่องเที่ยวเสียชีวิตและสูญหายจำนวนมากท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว ล่าสุดตำรวจพบชายชาวอเมริกันวัย 55 ปี เสียชีวิตบนเกาะมาทราของกรีซ ซึ่งถือเป็นนักท่องเที่ยวรายที่ 3 ในรอบสัปดาห์

คลื่นความร้อนยังปกคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ทางตะวันออกของสหรัฐติดต่อกันเป็นวันที่ 4 หลังเกิดปรากฏการณ์โดมความร้อนที่ความกดอากาศสูงกำลังแรงได้กักมวลอากาศร้อนเอาไว้ และสกัดไม่ให้มวลอากาศเย็นเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวจนทำให้อุณหภูมิเหนือพื้นดินสูง

ตามรายละเอียดของระบบบูรณาการข้อมูลสุขภาพอันเนื่องมาจากความร้อนแห่งชาติชี้ว่า ชาวอเมริกันเกือบ 100 ล้านคน อยู่ภายใต้คำแนะนำให้ระมัดระวังและต้องเผชิญกับคำเตือนเรื่องอากาศที่ร้อนจัดในวันแรกของฤดูร้อน มีการเตือนภัยความร้อนในหลายรัฐ อาทิ เมืองฟีนิกซ์ในรัฐแอริโซนา ที่อุณหภูมิสูงถึง 45.5 องศาเซลเซียส

หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศของสหภาพยุโรประบุว่า คลื่นความร้อนเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 12 เดือน จนทำให้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นคลื่นความร้อนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกันปีต่อปี

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกของสหประชาชาติระบุว่า มีโอกาสสูงถึง 86% ที่ 1 ใน 5 ปีข้างหน้าอุณหภูมิโลกจะร้อนกว่าปี 2023 ที่ครองแชมป์อากาศร้อนในปัจจุบัน

แม้ว่าอุณหภูมิโลกโดยรวมจะสูงขึ้นเกือบ 1.3 องศาเซลเซียสก่อนระดับยุคอุตสาหกรรม แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังกระตุ้นให้เกิดอุณภูมิสูงสุดที่รุนแรงมากขึ้น และจะยิ่งทำให้เกิดคลื่นความร้อนบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น และคงอยู่นานขึ้นตามไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image