คอลัมน์ไฮไลต์โลก : เผยโฉมผู้สมัครชิงเก้าอี้ปธน.อิหร่าน สายแข็งพรึบ!

6 ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่าน ในระหว่างการเปิดศึกดีเบตทางโทรทัศน์ ที่สตูดิโอในกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน (รอยเตอร์)

คอลัมน์ไฮไลต์โลก : เผยโฉมผู้สมัครชิงเก้าอี้ปธน.อิหร่าน สายแข็งพรึบ!

การเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านที่ต้องกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ มีขึ้นหลังการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ ประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี ในอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ตอนนี้มีการเปิดตัวผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์กลั่นกรองจากสภาผู้พิทักษ์ (Guardian Council) ที่กำกับดูแลการเลือกตั้งของอิหร่านออกมาแล้ว ส่วนใหญ่ล้วนเป็นกลุ่มอิสลามิกหัวแข็งที่มีหลักคิดไปในทางเดียวกับ “อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี” ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน

ผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์เข้ามามีรวม 6 คน ได้แก่ “ซาอิด จาลิลี” อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและหัวหน้าทีมเจรจาด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน เป็นหนึ่งในตัวเต็งที่ว่ากันว่าเป็นตัวเลือกที่หมายตาของผู้นำสูงสุดอิหร่าน แต่หลายคนมองว่า จาลิลี เป็นคนที่มีแนวคิดอิสลามหัวรุนแรงและไม่ได้มีประสบการณ์ด้านการบริหาร

Advertisement

โมฮัมหมัดบาเกอร์ คาลิบัฟ” ประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน เป็นอีกหนึ่งผู้สมัครที่ถูกมองว่ามีโอกาสลุ้นมากอีกราย คาลิบัฟ จัดเป็นคนวงในคณะผู้ปกครองอิหร่านและเป็นผู้มีประสบการณ์โชกโชนทั้งจากการเคยเป็นอดีตนายพลในกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและนายกเทศมนตรีเตหะราน

อาลีเรซา ซาคานี” นักการเมืองหัวอนุรักษนิยม ปัจจุบันเป็นนายกเทศมนตรีเตหะราน เขาเคยประกาศตัวลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีมาแล้วถึง 2 ครั้งในปี 2556 และปี 2560 แต่ถูกสภาผู้พิทักษ์ตัดสิทธิไปทั้งสองครั้ง

ยังมี “อามีร์ฮอสเซน กาซิซาเดห์ ฮาเชมี” รองประธานาธิบดีอิหร่าน และ “มอสตาฟา ปูร์โมฮัมมาดี” อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงมหาดไทย ที่จัดเป็นนักการเมืองกลุ่มหัวแข็งอีกเช่นกัน

Advertisement

รายสุดท้ายเป็นผู้สมัครหนึ่งเดียวที่ไม่ใช่สายแข็ง “มาซูด เปเซชเคียน” ส.ส.เขตทาบริซในจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันออก เป็นนักการเมืองหัวปฏิรูปผู้ยึดหลักคิดสายกลาง เป็นม้านอกสายตาที่ถูกมองว่ามีโอกาสจะเข้าวิน หากมีผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงต่ำมากๆ โดยเปเซชเคียนอาจพิชิตเสียงโหวตของผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ที่ยังลังเลและไม่เอาสายแข็ง ที่เล็งเห็นว่าการเทเสียงให้ เปเซชเคียน จะเท่ากับเป็นการโหวตต้านกลุ่มหัวแข็งนั่นเอง

คนอิหร่านคงต้องรอลุ้นว่า ท้ายที่สุดม้าศึกตัวไหนจะเข้าวิน แต่เชื่อขนมกินได้ ถึงอย่างไรยังคงต้องอยู่ใต้เงาอำนาจของผู้นำสูงสุดอิหร่านอยู่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image