บริษัทไทย เข้าแทนที่สิงคโปร์ เป็นธนาคาร-แหล่งสั่งซื้ออาวุธ ให้กองทัพพม่าทำสงคราม

บริษัทจดทะเบียนในไทย เข้าแทนที่บริษัทสิงค์โปร์ นำหน้าส่งอาวุธให้กองทัพพม่าทำสงคราม

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติได้เปิดเผยว่า ถึงแม้ความพยายามในการโดดเดี่ยวรัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมา ที่ดูเหมือนจะช่วยบั่นทอนความสามารถในการซื้ออุปกรณ์ทางทหารจากต่างประเทศของกองทัพเมียนมาได้ก็จริง ถึงอย่างนั้นกองทัพเมียนมายังคงสามารถเข้าถึงเงินทุนและอาวุธสำหรับทำสงครามกับกองกำลังกบฏและกลุ่มชาติพันธุ์ได้อยู่ดี

รายงานโดย ทอม แอนดรูว์ เจ้าหน้าที่พิเศษของสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา พบว่า ยอดของอาวุธ อุปกรณ์สำหรับการผลิต เสบียง และวัสดุอื่นๆ ที่นำเข้าโดยรัฐบาลทหารนั้นมีมูลค่า 253 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9,343 ล้านบาท ในช่วงปีจนถึงเดือนมีนาคม 2024 โดยถือน้อยกว่ายอดของปีก่อนหน้าถึงราวๆ 1 ใน 3 ทั้งนี้เนื่องมาจากความพยายามของรัฐบาลสิงคโปร์ในการป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆ ในประเทศ ช่วยเหลือรัฐบาลเผด็จการทหารได้

แอนดรูว์ให้กล่าวว่า ความคืบหน้าของสถานการณ์ แสดงให้เห็นว่าการคว่ำบาตรและความพยายามระหว่างประเทศอื่นๆ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการส่งกำลังบำรุงของคณะรัฐประหาร ส่งผลให้ความสามารถของกองทัพเมียนมาที่จะทำสงครามนั้นลดลง

Advertisement

“การที่พวกเขากำลังโจมตีหมู่บ้านเหล่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงอาวุธและวัสดุที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ” แอนดรูว์กล่าว

ทางแอนดรูว์ ได้พิจารณายอดการจัดซื้อโดยหน่วยงานที่ควบคุมโดยกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลทหารเมียนมา ระบุว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างทางทหารมูลค่า 630 ล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 2022 ถึง 2024 โดยการส่งออกจากสิงคโปร์ ลดลงจากมากกว่า 110 ล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณ 2022 เหลือเพียงมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์

Advertisement

อย่างไรก็ตามรายงานยังระบุอีกว่า เพื่อนบ้านของเมียนมาอย่างไทย ก็ได้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวได้บางส่วน โดยบริษัทที่จดทะเบียนในไทยได้ทำการถ่ายโอนอาวุธ และวัสดุที่เกี่ยวข้อง มูลค่า 120 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4,431 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2023 เมื่อเทียบกับ 60 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2,215 ล้านบาท ในปีงบประมาณก่อนหน้า

“มีตัวอย่างที่ชัดเจนเกิดขึ้นในปี 2023 บริษัทที่จดทะเบียนในไทย กลายเป็นแหล่งอะไหล่ของเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 และ Mi-35 ที่ก่อนหน้านี้เป็นทางบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์เป็นคนจัดหาให้”

ทั้งนี้ ในรายงานของยูเอ็นระบุอีกว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา มูลค่ากว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อสิ้นสุดเดือนมีนาคม พ.ศ.2566 แต่ได้เพิ่มเป็นมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีถัดมา

โดยเฮลิคอปเตอร์เหล่านี้ ใช้ในการขนส่งทหาร และทำการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายที่เป็นพลเรือน เช่น การสังหารหมู่ที่ หมู่บ้านปะซีจี้ จังหวัดกั่นบะลู สะกาย ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ เมืองที่ใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศ ไปทางทิศตะวันตกราว 148 กิโลเมตร เมื่อเดือนเมษายนปี 2023 ที่ผ่านมา โดยในการโจมตีมีผู้เสียชีวิตประมาณ 170 คน รวมถึงเป็นเด็กถึง 40 คน

อย่างไรก็ตามทางกองทัพเมียนมาได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของการโจมตีที่โหดร้ายต่อพลเรือน โดยอธิบายว่ากองทัพกำลังต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย เจ้าหน้าที่กองทัพเมียนมาชี้ผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตร ได้ส่งผลให้แผนของกองทัพในการคืนประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตยนั้นช้าลง

โดยสถานการณ์ในเมียนมาตกอยู่ในความวุ่นวาย นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2021 ซึ่งได้เป็นการจุดชนวนให้เกิดการคว่ำบาตรทางการเงินครั้งใหญ่ ที่บังคับใช้กับทหาร ธนาคาร และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมาโดยบรรดาชาติตะวันตก

ตลอดกว่าสามปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านการรัฐประหารได้พัฒนาไปสู่สงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบในขณะที่ทหารสูญเสียการควบคุมพื้นเขตแดนของตนจำนวนมาก โดยกองทัพเมียนมาได้ถูกกล่าวหาว่าทำการโจมตีทางอากาศต่อพลเรือนและกลุ่มคนที่ทางรัฐบาลทหารเรียกว่าผู้ก่อการร้าย

ทั้งนี้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้กล่าวกับทางสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า จุดยืนของประเทศไทยคือจะไม่เข้าข้างฝ่ายใด และจะแสดงความกังวลและเป็นห่วงต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมียนมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image