อิหร่านจัดเลือกตั้งรอบสอง ไร้ผู้ชนะเด็ดขาด สายปฏิรูปนำสายแข็ง ลุ้นชิงเก้าอี้ปธน.

นายมาซูด เปเซซเคียน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตทาบริซ ในจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันออก ผู้เป็นนักการเมืองหัวปฏิรูปยึดหลักสายกลาง (ขวา) และนายซาอิด จาลิลี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและหัวหน้าทีมเจรจาด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน ผู้มีแนวคิดอิสลามหัวรุนแรง (ซ้าย) ทั้งสองเป็นผู้สมัคร 2 คนที่ผ่านเข้าไปในเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านรอบที่ 2 (เอเอฟพี)

อิหร่านจัดเลือกตั้งรอบสอง ไร้ผู้ชนะเด็ดขาด สายปฏิรูปนำสายแข็ง ลุ้นชิงเก้าอี้ปธน.

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า อิหร่านเตรียมที่จะมีการจัดเลือกตั้งรอบสอง ในวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม เพื่อหาประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่ หลังไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนโหวตมากกว่า 50% ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน

โฆษกหน่วยงานการเลือกตั้งของอิหร่านได้กล่าวเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนว่า การเลือกตั้งรอบสองเพื่อหาประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่จะเป็นการท้าชิงกันระหว่างนายมาซูด เปเซซเคียน อดีตแพทย์ผ่าตัดหัวใจที่ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตทาบริซ ในจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันออก ผู้เป็นนักการเมืองหัวปฏิรูปยึดหลักสายกลางที่เป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวจากทั้งหมด 4 คนที่ไม่ใช่สายแข็ง ได้รับคะแนนโหวตไปมากกว่า 10,400,000 คะแนน และนายซาอิด จาลิลี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและหัวหน้าทีมเจรจาด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน ผู้มีแนวคิดอิสลามหัวรุนแรง ที่มีคะแนนโหวตมากกว่า 9,400,000 คะแนน โดยทั้งสองเป็นผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 2 อันดับแรก

อิหร่านมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาแล้ว 13 ครั้งนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี 1979 แต่มีการเลือกตั้งในปี 2005 เพียงครั้งเดียวที่มีการจัดเลือกตั้งรอบสอง

Advertisement

การเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านครั้งนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 61 ล้านคน แต่มีผู้ออกมาใช้สิทธิเพียง 24,500,000 คิดเป็นสัดส่วนเพียง 40% ถือเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้ใช้สิทธิน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อิหร่าน

ตามกำหนดเดิม อิหร่านจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2025 แต่ถูกเลื่อนให้เร็วขึ้นหลังการเสียชีวิตของประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซีจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อเดือนพฤษภาคม ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านจะไม่ทำให้นโยบายหลักๆ ในด้านโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านหรือการสนับสนุนกองกำลังต่างๆ ในตะวันออกกลางเปลี่ยนแปลงไป เพราะอำนาจทางการเมืองส่วนใหญ่จะอยู่ที่อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน แต่ตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่านจะทำหน้าที่ดูแลการดำเนินงานของรัฐบาลและอาจมีอิทธิพลต่อทิศทางนโยบายของประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image