แบงค์ชาติเมียนมาซัด รายงาน UN ไม่ถูกต้อง กระทบผลประโยชน์ปชช.-สัมพันธ์ระหว่างประเทศ

AP

แบงค์ชาติเมียนมาซัด รายงาน UN ไม่ถูกต้อง กระทบผลประโยชน์ปชช.-สัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ธนาคารกลางเมียนมาออกมาปฏิเสธรายงานที่จัดทำขึ้นโดยนายทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) นำเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) เมื่อสัปดาห์ก่อนที่ระบุว่า รัฐบาลทหารเมมีนมายังคงสามารถเข้าถึงเงินและอาวุธในการทำสงครามกับกองกำลังต่อต้านรัฐประหาร โดยยืนยันว่า สถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางเมียนมาได้ปฏิบัตงานตามขั้นตอนที่กำหนด

ธนาคารกลางเมียนมาระบุในแถลงการณ์ที่มีการเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลทหารเมียนมาในวันที่ 29 มิถุนายน ว่า ธนาคารกลางแห่งเมียนมาขดคัดค้านอย่างรุนแรงต่อรายงานของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ รายงานดังกล่าวส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อผลประโยชน์ของพลเรือนเมียนมา และต่อความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับประเทศอื่นๆ

ธนาคารกลางของเมียนมายืนยันว่า ธนาคารในประเทศและในต่างประเทศที่ทำธุรกรรมกับเมียนมาผ่านมาตรฐานการตรวจสอบที่ครอบคลุมในการดำเนินความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการทำธุรกรรมทั้งหมด

Advertisement

“ธุรกรรมทางการเงินมีไว้เพื่อการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นและข้าวของขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับพลเรือนเมียนมาเท่านั้น อาทิ ยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การเกษตรและปศุสัตว์ ปุ๋ย น้ำมันเพื่อการบริโภค และเชื้อเพลิง” แถลงการณ์ของธนาคารกลางเมียนมาระบุ

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับในเรื่องดังกล่าว คือแถลงการณ์ในวันที่ 27 มิถุนายน ที่ยืนยันว่า สถาบันการเงินของไทยดำเนินการตรามหลักสากลเช่นเดียวกับศูนย์กลางทางการเงินอื่นๆ ขณะที่แถลงการณ์ในวันที่ 29 มิถุนายนได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย รวมถึงธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่ง ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยมีนโยบายชัดเจนในการไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและสรรพาวุธกับองค์กรทางทหารของเมียนมา รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกันและห้ามนำธุรกรรมทางการเงินของภาคธนาคารไปใช้ในการจัดซื้ออาวุธที่นำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยธุรกรรมที่เกี่ยวโยงกับเมียนมาตามที่ปรากฏในรายงาน เป็นการทำธุรกรรมเพื่อการชำระค่าอุปโภค บริโภค และพลังงาน

 

Advertisement

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำชับให้สถาบันการเงิน ปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของ Financial Action Task Force (FATF) รวมถึงมาตรการตามแนวปฏิบัติของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยสถาบันการเงินจะต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเข้มข้น

ทั้งนี้ รายงานของแอนดรูว์สอ้างว่า ธนาคารหลายแห่งในไทยได้กลายเป็นผู้ให้บริการหลักด้านการทำธุรกรรมทางการเงินแก่รัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งทำให้รัฐบาลทหารยังคงสามารถจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์มาใช้ในการทำสงครามปราบปรามกองกำลังที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่เคลื่อนไหวต่อสู้กับกองทัพเมียนมาได้ต่อไป แม้รัฐบาลทหารจะเผชิญการคว่ำบาตรจากนานาชาติก็ตาม

รายงานนี้ของผู้รายงานพิเศษยูเอ็นฯ ระบุว่าได้ติดตามว่ารัฐบาลทหารเมียนมา หรือที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า สภาบริหารแห่งรัฐ (เอสเอซี) สามารถจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่อไปได้อย่างไร โดยมีการเปลี่ยนผู้ให้บริการด้านการเงินและการจัดหายุทธภัณฑ์แหล่งใหม่ หลังจากแหล่งเดิมถูกขัดขวางจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และชาติอื่นๆ โดยบริษัทหลายแห่งในไทยได้เข้ามารับช่วงต่อในการอำนวยสะดวกทางด้านนี้ หลังบริษัทในสิงคโปร์ที่ทำธุรกิจกับรัฐบาลทหารเมียนมาถอนตัวไป

รายงานยังอ้างด้วยว่า รัฐบาลทหารยังคงร่วมกับเครือข่ายธนาคารระหว่างประเทศเพื่อรักษาและจัดหาอาวุธให้กับตนเองต่อไป แม้จะมีข่าวดีคือ รัฐบาลทหารถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ประจำปีของกองทัพเมียนมาผ่านระบบธนาคารอย่างเป็นทางการลดลง 1 ใน 3 จากปีงบประมาณสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2566 ถึงปีถัดมา จาก 377 ล้านดอลลาร์ เหลือ 253 ล้านดอลลาร์ แต่ข่าวร้ายก็คือรัฐบาลทหาร กำลังหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรและมาตรการอื่นๆ โดยการใช้ประโยชน์จากช่องว่างในระบบคว่ำบาตร การย้ายสถาบันทางการเงินและใช้ประโยชน์จากความล้มเหลวของชาติสมาชิกที่จะประสานงานและดำเนินการกันอย่างเต็มที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image