คุกคามทางเพศ โจทย์ใหญ่ที่ต้องก้าวข้าม คืนความปลอดภัยให้กับสังคม

คุกคามทางเพศ โจทย์ใหญ่ที่ต้องก้าวข้าม คืนความปลอดภัยให้กับสังคม

กางสถิติข่าวการคุกคามทางเพศในปี 2564 จากหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ พบข่าวข่มขืนมากเป็นอันดับหนึ่ง และถูกกระทำโดยคนรู้จักคุ้นเคยเป็นส่วนมาก รองลงมาคือการกระทำโดยคนแปลกหน้า แต่ที่ชอกช้ำกว่านั้นคือมีเหยื่ออายุน้อยที่สุดเพียง 4 ขวบ ถูกกระทำโดยพ่อแท้ ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจ ที่แม้กระทั่งคนใน ‘ครอบครัว’ ก็ไม่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้แต่กลับยิ่งทวีความหวาดระแวงกว่าปกติที่มีมากอยู่แล้ว ให้มากยิ่งกว่าเดิม

ที่น่าใจหายยิ่งกว่า ไม่ใช่แค่ตัวเลขสถิติ หากแต่เป็นกระแสของสังคมที่มีแนวโน้มว่าผู้กระทำการคุกคามทางเพศ กลับกลายเป็น ‘คนมีหน้ามีตาทางสังคม’ มากยิ่งขึ้น อาทิ อาชีพครู แม้กระทั่ง ‘นักการเมือง’ โดยช่วงหลังมานี้จะเห็นข่าวการคุกคามทางเพศที่มีผู้กระทำเป็นนักการเมืองผุดขึ้นมาให้เห็นเต็มฟีด โดยล่าสุดกรณี 2 ส.ส. พรรคก้าวไกล จากปากคำให้การของเหยื่อระบุว่า ทั้งคู่มีการคุกคามทางเพศ หนักสุดถึงขั้น ‘ขอมีเพศสัมพันธ์’ ซึ่งประเด็นการคุกคามทางเพศจาก ส.ส.พรรคก้าวไกลนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว และดูเหมือนจะเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง ที่ตัวพรรคเองสลัดไม่เคยหลุดได้เลยสักครั้ง

‘มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล’ ร่วมกับ 4 องค์กร กะเทาะเปลือก เปลื้องทัศนะ ถกปัญหา กลางวงเสวนาในหัวข้อ ‘คุกคามทางเพศ กับนักการเมือง ผู้นำ และอำนาจ’ โดย ‘ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท’ ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า กรณีมีร้องเรียนการคุกคามทางเพศโดยผู้มีตำแหน่งทางการเมืองหลายกรณีต่อเนื่องกันในช่วงนี้ สะท้อนว่าสำนึกเรื่องความเป็นธรรมทางเพศของคนในสังคมจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนแปลงไป

Advertisement

จากเดิมผู้เสียหายไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวและดำเนินการใดๆ เพราะความอับอายและเกรงกลัวอิทธิพลของผู้กระทำ ทำให้คนที่ทำผิดลอยนวล และมีแนวโน้มจะไปคุกคามเหยื่อรายอื่นอีก แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่มีสำนึกเรื่องการปกป้องสิทธิตัวเองมากขึ้น ไม่ยอมรับการคุกคามทางเพศ และไม่ยอมนิ่งเงียบอีกต่อไป แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีคนอีกส่วนหนึ่งที่คิดว่า พฤติกรรมคุกคามทางเพศเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องหมาหยอกไก่ ใคร ๆ ก็ทำกัน ไม่ผิดอะไร พอคนสองกลุ่มนี้มาเจอกัน ปัญหามันก็ปะทุขึ้น ยิ่งเป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนมอบความไว้วางใจ ยิ่งต้องถูกตรวจสอบโดยสาธารณะ จะถือเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ได้

Advertisement
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท

“จริง ๆ ปัญหาการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในทุกวงการ พรรคการเมืองอื่นก็มีกรณีแบบนี้ แต่เป็นข่าวบ้าง ไม่เป็นข่าวบ้าง ในกรณีพรรคก้าวไกล พรรคเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ และพรรคเคยแสดงจุดยืนว่าไม่ยอมรับเรื่องแบบนี้ พอเกิดเรื่องขึ้น คนที่ประสบเหตุเขาก็เห็นเป็นช่องทางที่จะร้องเรียน ถ้าร้องเรียนแล้วรู้สึกว่าไม่ได้รับการตอบสนองที่ดี ก็อาจหันไปเรียกร้องความเป็นธรรมผ่านช่องทางอื่น อย่างโซเชียลมีเดีย ก็จะทำให้ภาพของพรรคยิ่งดูแย่ลง ดังนั้น พรรคก้าวไกล รวมทั้งพรรคการเมืองทุกพรรค บรรดาผู้นำและองค์กรหน่วยงานต่าง ๆ ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต้องเร่งสร้างกลไกตอบสนองต่อปัญหาการคุกคามทางเพศอย่างมีประสิทธิภาพ ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของผู้เสียหาย รวดเร็วและเป็นธรรม และต้องทำงานเชิงป้องกันเพื่อให้คนรับรู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนที่เป็นปัญหา ไม่ควรทำ และสร้างสำนึกใหม่เรื่องการเคารพซึ่งกัน และกันควบคู่ไปด้วย”

เป็นปม ‘ใหญ่’ ของพรรคก้าวไกล ที่ถ้าหากไม่สามารถแก้ปมที่ชื่อว่าคุกคามทางเพศนี้ได้ ความเชื่อมั่นของประชาชนก็อาจจะลดน้อยถอยลง

บนกรอบความคิดเสรีทางเพศระหว่างหญิง และชาย ที่ถูกสังคมขีดกั้นมาตั้งแต่อดีต จะเห็นว่าในอดีตเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ ‘พูดยาก’ และไม่มีใคร ‘กล้าพูด’ ประหนึ่งสังคมถูกปิดปาก และผู้ชายมักจะสามารถพูดเรื่องเพศได้เสรีกว่าผู้หญิง แม้กระทั่งสำนวนสุภาษิตที่แสนจะคุ้นหูอย่าง ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่, สวยแต่รูปจูบไม่หอม หรือประโยคสุดคลาสสิก ‘เป็นผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว’ ที่ผู้หญิงหลายคนอาจจะได้ยินคำสอนนี้จนชาหู แต่ทว่าสำนวนที่กล่าวถึงผู้ชายในลักษณะเดียวกันกลับไม่มี หรือหากมี ก็มีน้อย แต่ที่น่าขันกว่านั้นคือ สุภาษิตสอนหญิง ถูกเขียนขึ้นโดย ‘ผู้ชาย’ เพื่อสอน ‘ผู้หญิง’ ที่เนื้อหามีความโบราณ คร่ำครึ และแม้กาลเวลาจะผันเปลี่ยนไปกี่ยุคสมัย น่าแปลกที่ทัศนติของคนที่มีต่อเรื่องเพศยังคงเหมือนในตำราโบราณนี้ไม่ผิดเพี้ยน ในทางกลับกัน สุภาษิตสอนชาย ไม่ยักจะเคยเห็น

‘ธารารัตน์ ปัญญา’ นักกิจกรรมทางการเมืองและความเสมอภาคระหว่างเพศ กล่าวว่า “หากย้อนกลับไปในอดีต การพูดเรื่องเพศยังคงไม่เปิดกว้าง ใช้คำว่า ถูกปิดปากเงียบ คงจะไม่ผิด จากกระแสม็อบปี 63 ที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่มีความสนใจในประเด็นเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น มีการหยิบยกเรื่องของเจนเดอร์เข้ามาในขบวนใหญ่ด้วย มีการพูดถึงเรื่องการคุกคามทางเพศ แม้จะรู้สึกว่ามีคนตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น แต่ยังคงไม่มีแนวปฏิบัติเหมือนเดิม คือไม่มีมาตรการในการจัดการเหมือนเดิม อาจจะดีกว่าเมื่อก่อนที่กล้าพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะ ถ้าองค์กรหรือพรรคการเมืองใด ๆ ถ้าคิดจะแก้ปัญหาจริง ๆ มันทำได้ และเราต้องมานั่งคุยกันว่าเราจะแก้ไขกันอย่างไร” ธารารัตน์กล่าว

ธารารัตน์ ปัญญา

‘ดร.ชเนตตี ทินนาม’ อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า ผู้เสียหายเกิดจากการกระทำซ้ำของสังคม และวัฒนธรรม ทำให้ผู้เสียหายรู้สึกสูญเสียความเป็นมนุษย์ ซึ่งแตกต่างกับคดีลักทรัพย์ ที่ในอนาคตอาจจะเลิกลักขโมย การคืนกลับสู่สังคมอาจจะให้อภัยกันได้ แต่ผู้เสียหายจากคดีทางเพศ การกลับสู่สังคมมันจะถูกตีตราซ้ำ รังแกซ้ำ
“สิ่งที่เพศหญิงแบกรับมาเป็นเวลานานคือ ‘ผู้หญิงจะด่างพร้อยในเรื่องเพศไม่ได้’ ซึ่งนี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงคิดว่าความเป็นมุษย์ถูกทำลายพังยับเยิน ในกรณีที่ถูกคุกคามทางเพศ พอไม่เหลือความเป็นมนุษย์แล้วการนับถือตัวเองก็จะลดลง ถ้าหากกู้กลับมาไม่ได้ก็จะเกิดอาการซึมเศร้าตลอดชีวิต จนนำไปสู่หนทางการฆ่าตัวตายในอนาคต” มาถึงตรงนี้ฟังแล้วก็ยิ่งช้ำ

ดร.ชเนตตี ทินนาม

กับเรื่องนี้ ‘จรีย์ ศรีสวัสดิ์’ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เสริมว่า ถึงเวลาที่เราควรให้ความสำคัญกับการเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของกันและกัน ทั้งในครอบครัว โรงเรียน องค์กรการเมือง เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ หยุดใช้อำนาจเหนือ และไม่มองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นต้องมีทางเลือกที่เหมาะสมแก่ผู้เสียหาย ไม่กล่าวโทษผู้เสียหาย มีระบบให้คำปรึกษาที่ชัดเจน เป็นมิตร ลดความหวาดกลัว ฟื้นฟูอารมณ์จิตใจ ที่สำคัญการเมืองทุกระดับต้องมีการกำหนดจริยธรรมทางเพศให้ชัดเจน และมีระบบการตรวจสอบเข้มข้น ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะไม่ใช้อำนาจเอาเปรียบทางเพศหรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อผู้อื่น

จรีย์ ศรีสวัสดิ์

เป็นปัญหา และเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องก้าวข้าม ขจัดปมที่ชื่อคุกคามทางเพศ คืนความปลอดภัยให้กับสังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image