Life@Sciences : การผลักดันมาตรการรองรับ CBAM สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมไทย

Life@Sciences : การผลักดันมาตรการรองรับ CBAM สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมไทย

สหภาพยุโรป หรือ EU (European Union) พยายามผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในกลุ่มประเทศสมาชิก รวมทั้งป้องกันปัญหา การรั่วไหลของคาร์บอน (carbon leakage) ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศนอก EU ที่มีกฎระเบียบด้านคาร์บอนที่เข้มงวดน้อยกว่า

ในการนี้ EU จึงออกมาตรการ ปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Cross Border Adjustment Mechanism: CBAM) เพื่อกำหนดราคาคาร์บอน หรือคิดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดเก็บเงินภาคบังคับสำหรับสินค้านำเข้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573)

อุตสาหกรรมเป้าหมายระยะแรกมี 6 กลุ่ม ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า ไฮโดรเจน และอะลูมิเนียม ทั้งนี้นิยามให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นำมาคำนวณราคา CBAM เรียกรวมกันว่า ค่าคาร์บอนที่แฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์ (Embedded Emissions)

เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ปรับตัว จึงกำหนดระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการออกเป็น 2 ช่วงดังนี้

Advertisement

ระยะเปลี่ยนผ่าน หรือ Transitional Phase (1 ตุลาคม ค.ศ.2023-31 ธันวาคม ค.ศ.2025) ผู้นำเข้าสินค้าเป้าหมายจะต้องรายงาน CBAM Report เป็นรายไตรมาส ข้อมูลที่รายงานคือ ปริมาณสินค้านำเข้าทั้งหมดในปีที่ผ่านมาและปริมาณ Embedded Emissions ของสินค้าที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ของ CBAM ทั้งนี้ผู้นำเข้ายังไม่ต้องซื้อ CBAM certificate ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้

ระยะบังคับใช้มาตรการ หรือ Post Transitional Phase (1 มกราคม ค.ศ.2026 เป็นต้นไป) ผู้นำเข้าจะต้องรายงาน CBAM Declaration ข้อมูลที่รายงานคือ ปริมาณการนำเข้า Embedded Emissions ที่ได้รับการรับรองโดยผู้ทวนสอบที่ได้รับอนุญาต และซื้อ CBAM certificate ประกอบการนำเข้า รวมทั้งมีค่า Free allowance ซึ่งจะทยอยลดลงตั้งแต่ ค.ศ.2025 จนถึง ค.ศ.2030 จากนั้นจะต้องจ่ายเต็มราคา

กรณีประเทศไทย ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาภาคเอกชนได้ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบของฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเป็นผู้ออกเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์อันสื่อถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจปรับใช้กับการประเมิน Embedded Emissions ของ CBAM ได้เบื้องต้น แต่ในการดำเนินการจริงนั้นควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้าน CBAM

Advertisement

กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม และอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)ในการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับมาตรการ CBAM จนสำเร็จเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแรกของประเทศ อีกทั้งยังนำผลจากโครงการไปต่อยอดและวิเคราะห์เพื่อหาแง่มุมที่ต้องปรับปรุง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ตลอดจนผลักดันอุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นสังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต

สนใจติดต่อสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) อีเมล์ [email protected] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่: https://www.mtec.or.th/post-knowledges/89631/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image