Bangkok มาแล้ว! กทม.อวดสติ๊กเกอร์ใหม่ แยกปทุมวัน แทนของเดิมแปะมา 20 ปี

ภาพจากบัญชี X เพื่อนชัชชาติ

เสร็จแล้ว 1 ฝั่ง สติ๊กเกอร์ Bangkok แยกปทุมวัน แทนของเดิมแปะมา 20 ปี ‘ชัชชาติ’ ชวนถ่ายรูป

จากกรณีที่มีผู้เข้าใจผิดว่าสีที่เป็นคำว่า Bangkok บนคานรางรถไฟฟ้า จุดทางเชื่อมเหนือสกายวอล์กแยกปทุมวัน กรุงเทพฯ หลุดลอกบางส่วน กระทั่ง นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทม.กำลังทำความสะอาดเพื่อเตรียมติด “สติ๊กเกอร์ใหม่” อยู่ เนื่องจากของเดิมใช้งานมากว่า 20 ปีแล้ว มีความซีดจาง ไม่สวยงาม อีกทั้งซึมเข้าไปในเนื้อปูน เบื้องต้น กทม.จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พ.ค. เพื่อต้อนรับการเข้าสู่เทศกาล Pride Month ซึ่งสติ๊กเกอร์ใหม่ได้ดีไซน์ไว้เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ กทม.

ล่าสุด เช้าวันที่ 29 พฤษภาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยระหว่างไลฟ์ “Cityrun วันพุธ” ความว่า ขณะนี้ กทม.ติดสติ๊กเกอร์ใหม่เสร็จแล้ว 1 ด้าน คงเหลืออีก 1 ด้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการเสร็จสิ้นราวตี 3 ครึ่งที่ผ่านมา พร้อมเชิญชวนให้คนมาร่วมกันถ่ายรูปและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวว่า เมื่อวานมีดราม่านิดหน่อย จริงๆ มันเป็นสติ๊กเกอร์ของเก่า เมื่อวานแก้ได้แค่คำว่า kok (คงเหลือคำว่า Bang แต่ลอกคำว่า kok ออกได้แล้ว) คนเลยคิดว่าเป็นสีลอก เจ้าหน้าที่ติดตอนตี 1 ที่ผ่านมา เสร็จประมาณตี 3 ครึ่ง ทั้งนี้ จากที่เห็นไม่ใช่การทาสี แต่เป็นสติ๊กเกอร์

เมื่อถามถึงสโลแกน นายชัชชาติเผยว่า สโลแกนมันเชยเร็ว ถ้าติดไว้ เปลี่ยนผู้ว่าฯ แล้วไม่ชอบ ก็เอาแบบนี้แหละ กรุงเทพฯชัดๆ เลย มาถ่ายรูปกันได้

“มีคนแนะนำว่าอยากให้ทำตรงอโศกด้วย เดี๋ยวลุยต่อ แต่ตรงนี้เป็นจุดที่คนถ่ายรูปง่าย” นายชัชชาติระบุ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. ระบุทางเพจเฟซบุ๊ก นายศานนท์ หวังสร้างบุญ ถึงกรณีนี้ว่า ทีมมาทำต่อจากที่มาลอกไว้เมื่อคืน ผมอยู่รอจนจบไม่ไหวเพราะมีงานเช้า ใครผ่านไป Skywalk ปทุมวันนี้ช่วงเช้า ฝากไปดูตอนเสร็จแล้วกันครับ

ปล.อีกฝั่งนึงมาติดพรุ่งนี้ครับ เป็นคนละสี สีอะไรรอดูกัน

ขณะที่ กทม.เปิดเผยว่า สติ๊กเกอร์ใหม่ที่นำมาติดมีข้อความและดีไซน์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร โดยกราฟิกอัตลักษณ์ดังกล่าวมีที่มาจากตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร โดยนำ “วัชระ” อาวุธประจำกายของพระอินทร์ที่ใช้ปกป้องคุ้มครองกรุงเทพมหานคร มาครอบตัด (crop) ภาพ ให้เป็นลวดลายที่มีความเป็นนามธรรม

โทนสีของกราฟิกชุดนี้จะใช้ระบบสีรอง ซึ่งสะท้อนถึงความสุขของผู้คนและการผสมผสานระหว่างสิ่งใหม่กับวัฒนธรรมเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ส่วนระบบสีหลักจะเป็นสีเขียวมรกต เป็นสีที่ถูกนำมาใช้งานมากที่สุดในงานกราฟิกส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ

ภาพจากบัญชี X เพื่อนชัชชาติ
ภาพจากบัญชี X เพื่อนชัชชาติ
ภาพจากบัญชี X เพื่อนชัชชาติ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image