ปลัด มท. ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อน โคก หนอง นา ที่จังหวัดอุตรดิตถ์

ปลัด มท. ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อน โคก หนอง นา พื้นที่หมู่ 6 ตำบลด่านแม่คำมัน อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เน้นย้ำ ช่วยกันสร้างการรับรู้ขยายผลการทำสิ่งที่ดีตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อร่วมกันทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน เวลา 13.30 น. ที่ แปลงโคก หนอง นา หมู่ที่ 6 ตำบลด่านแม่คำมัน อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โดยได้รับเมตตาจาก พระครูผาสุกธรรมประจักษ์ เจ้าอาวาสวัดใหม่เจริญสุข ร่วมให้การต้อนรับ โดยมี อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมลงพื้นที่ โดยนายภูริวัจน์ โชตินพรัตน์ นายอำเภอลับแล พร้อมด้วย นายสมหวัง เอี่ยมงิ้วงาม ประธานเครือข่ายโคก หนอง นา จังหวัดอุตรดิตถ์ นายวิเศษ – นางวรรณา เพียซ้าย เจ้าของแปลง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน และภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา จังหวัดอุตรดิตถ์ กว่า 100 คน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยียนพี่น้องภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา จังหวัดอุตรดิตถ์ ภายหลังจากที่เมื่อครั้งตนดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 29 ได้ผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” โดยน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงมีความมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งจากการพบปะพูดคุยกับพี่วิเศษ – พี่วรรณา เพียซ้าย เจ้าของแปลงโคก หนอง นา แห่งนี้ ทำให้ได้ทราบว่า ในสมัยก่อนพื้นที่แห่งนี้มีการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ด้วยการปลูกอ้อย และมีการเผาไร่อ้อยทุกปี ส่งผลกระทบทำให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 เพิ่มเติมจากสถานการณ์ที่หนักอยู่แล้ว กระทั่งต่อมา พี่วิเศษ – พี่วรรณา เพียซ้าย ได้เข้าร่วมอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ที่กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนได้รับงบประมาณจากรัฐบาลขับเคลื่อน จึงได้นำแนวคิดและวิธีการจากการอบรม มาเริ่มออกแบบพื้นที่ ขุดหนอง มีหลุมขนมครก ทำให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิด โอบล้อมบริเวณบ้านพักอาศัย จนถึงวันนี้ผ่านมา 3 ปี พี่วิเศษ – พี่วรรณา เพียซ้าย ก็ได้รับรู้รับทราบและสัมผัสได้ถึงคำว่า “ความสุขที่ยั่งยืน” จากการน้อมนำพระราชดำริสู่การปฏิบัติด้วยตนเอง เช่นเดียวกับพี่น้องภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา ทั่วประเทศ

Advertisement

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริทั้งปวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังปรากฎในพระปฐมบรมราชโองการ 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป ซึ่งต่อมา ได้พระราชทานพระราชดำรัส 30 มิถุนายน 2563 อันเป็นการขยายความพระปฐมบรมราชโองการ ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยทรงเป้าหมายในการ “ครองแผ่นดินโดยธรรม” นั้น ก็เพื่อ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ซึ่งพวกเราทุกคน ทุกหมู่เหล่า ต้องช่วยกันสนองพระราชดำริของพระองค์ท่าน ในการแก้ไขในสิ่งผิด โดยเริ่มตั้งแต่เรื่องแรกที่สำคัญ คือ “วิถีชีวิตคนไทย” ที่สมัยก่อน บ้านใกล้เรือนเคียง สมาชิกในหมู่บ้าน/ชุมชน เมื่อเจอกันก็ช่วยเหลือ ยิ้ม ไหว้ สวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน มีงานบวช งานแต่งงาน ก็จะมาลงแขกลงขันช่วยกันทำอาหาร ทำขนม บ้านไหนทำกล้วยบวชชี ก็จะแจกทุกครัวเรือน ได้รับประทานกันทั้งหมู่บ้าน พอบ้านไหนมีพืชผักสวนครัว ก็จะเอาไปแบ่งปันกัน บ้านไหนเก็บทุเรียนมาได้ก็แบ่งปันกัน สอดคล้องกับพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ททมาโน ปิโย โหติ : ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก” นำมาถึงความสนิทสนมรักใคร่ น้ำจิตน้ำใจในหมู่บ้าน ควบคู่กับวัตรปฏิบัติที่เป็นหลักชัยของพุทธศาสนิกชน คือการเข้าวัด ทำบุญ สวดมนต์ไหว้พระ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดความยั่งยืนได้ เราต้องส่งเสริมให้ลูกหลานได้สวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน ทั้งบทบูชาพระรัตนตรัย บูชาคุณบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตปฏิบัติของคนไทยตั้งแต่ในอดีต ทำให้เราอยู่ใกล้ชิดกับพระ เป็นคนมีคุณธรรมจริยธรรม มีใจบุญสุนทาน พูดจาไพเราะอ่อนหวาน ไม่พูดหยาบ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งหากเราทำให้ลูกหลานได้เห็น เมื่อเขาเห็นเป็นประจำ เขาก็จะถูกซึมซับ กล่อมเกลา หล่อหลอมจนคุ้นชิน กระทั่งทำตามในที่สุด และชีวิตของลูกหลานก็จะมีแต่ความเป็นสิริมงคลตลอดชีวิต เหล่านี้คือการแก้ไขในสิ่งผิด ที่เป็นเรื่องส่วนตัว” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

Advertisement

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ในแง่ส่วนรวมนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวคิดที่สำคัญที่ทำให้พวกเราเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ผ่านการพระราชทาน “โครงการจิตอาสาพระราชทาน” ที่มีคำขวัญว่า “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” โดยไม่ต้องคำนึงถึงเครื่องแบบ ไม่ต้องคำนึงถึงหมวกหรือผ้าพันคอ แต่ต้องมีใจ มีจิต ที่มุ่งมั่นปฏิบัติบำเพ็ญสาธารณประโยชน์โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เป็น “จิตอาสาด้วยหัวใจจริง” เช่น เมื่อเห็นขยะตกอยู่บนฟุตบาท เราก็ก้มลงไปเก็บใส่ถังขยะ เห็นถนนหนทางเป็นหลุมเป็นบ่อ รกรุงรัง เราก็ช่วยกันพัฒนา โดยไม่ต้องรองบประมาณของทางราชการ อะไรที่เป็นเรื่องส่วนรวม เราก็ทำโดยทันที โดยที่อาจจะไม่มีใครเห็น พร้อมทั้งพระราชทานหลักการทรงงาน 4 ร. คือ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงถอดบทเรียนจากโครงการพระราชดำริ 4,741 โครงการ ควบคู่การส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มคนทำดีเช่นเดียวกับเราทุกคน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งของระบบคุ้มบ้าน ให้มีคณะกรรมการคุ้มบ้าน ดูแลสมาชิกในคุ้ม พร้อมทั้งส่งเสริมองค์ความรู้เพื่อการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และคัดแยกขยะ ดูแลบ้านเรือนให้สะอาดสะอ้านไม่สกปรกรกรุงรัง มีบ่อน้ำตื้นประจำบ้าน เพื่อเป็นแหล่งน้ำใช้อุปโภคบริโภค

“ที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามด้วยพลังความร่วมไม้ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของพวกเราทุกคน ด้วยการ Change for Good อย่างแนบแน่น อันส่งผลให้เรามีความสุขใจ และเช่นเดียวกัน การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ถือเป็นการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดัง “ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง” คือ บันไดขั้นที่ 1-4 หรือเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น บันไดขั้นที่ 5-9 หรือเศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า โดยขั้นที่ 5-6 ทำบุญ ทำทาน รู้จักให้ รู้จักแบ่งปัน และขั้นที่ 7-9 สร้างความมั่นคง ด้วยการเก็บรักษา/แปรรูป รวมกลุ่มเครือข่าย และจำหน่าย อันจะนำมาเพื่อทำให้สังคมอยู่รอด ทำให้เรามีความสุขกาย สุขใจ จึงขอให้พวกเราทุกคนได้ช่วยกันสื่อสารสร้างการรับรู้ให้เป็นที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางว่า การสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อน้อมนำไปแล้วจะทำให้เกิดสิ่งที่ดีอย่างยั่งยืนกับชีวิตอย่างไร เพราะการทำตามพระองค์ท่าน ก็คือการทำตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งท้ายที่สุด ถ้าเราทำทั้ง 3 สิ่งที่ดี อันประกอบด้วย 1) แก้ไขในสิ่งผิด 2) สืบสานในพระราชปณิธาน 3) ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “มีความรู้คู่คุณธรรม” จะส่งผลให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

ด้านอาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ กล่าวว่า ขอให้พวกเราทุกคนได้ร่วมกันภาคภูมิใจว่า การเป็นพสกนิกรที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ด้วยการลงมือปฏิบัติตามแนวพระราชดำริมแนวพระดำริ จะทำให้เราทุกคน “รอดตาย” ดังที่ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย พยายามทำให้เราเห็นสิ่งที่สถิตอยู่เหนือจิตใจคนไทยทั้งชาติ คือ “พระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์” เพราะสถาบันเป็นของสูง ต้องเทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้า เหนือชีวิต เหนือจิตใจ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก็สอดคล้องกับคำสอนทางพระพุทธศาสนา และถ้าเราสังเกตเวลาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานในทุกที่ เมื่อแสงแฟลชกระทบพระเนตร พระองค์จะไม่กระพริบตาเลย เพราะทรงมีขันติมีโสรัจจะ สงบเสงี่ยม เป็นผู้ทรงมีสมาธิจิตสูง ดั่งพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา อาทิ ครูบาชุ่ม วัดบางมุ่ย ครูบาขันแก้ว วัดป่ายาง ลำพูน เวลาท่านอธิษฐานจิตปลุกเสกพระ ท่านจะลืมตาเสก ตรงข้ามกับพวกเราที่ต้องปิดตาเพื่อเป็นการสำรวมอายตนะ (ปิดจักษุทวาร) แต่คนที่สามารถลืมตาแล้วเพ่งได้นั้น เรียกได้ว่า “มีธรรมะชั้นสูง” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม คือ ทศพิธราชธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อที่ 10 คือ อวิโรธนะ หมายถึง ความเที่ยงธรรม อันสะท้อนว่า พระองค์ทรงไม่คลาดจากธรรม เพราะทรงเล็งเห็นว่า ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ “ครูกับศิษย์สำคัญเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ “หน้าที่”” ดังนั้น สังคมจำแนกด้วยหน้าที่ ธรรมะก็เช่นกัน พระพุทธเจ้าทรงสอนในเรื่องหน้าที่ เรามีหน้าที่เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก คนเป็นสมาชิกในหมู่บ้าน ใครเป็นผู้ใหญ่บ้านก็ต้องเป็นผู้นำ เราเป็นลูกหลานพระยาพิชัยแห่งเมืองอุตรดิตถ์ หน้าที่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ “หน้าที่ของความเป็นคนไทย” ชาติไทยจะศิวิไลซ์ได้ ถ้าเราเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เห็นแก่ชาติบ้านเมือง

นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ กล่าวว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ มีแปลงโคก หนอง นา ทั้งสิ้น 347 แปลง ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ 154 แปลง ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ 192 แปลง CLM ขนาด 15 ไร่ 1 แปลง ซึ่งจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ดำเนินกิจกรรมสำคัญ คือ 1) จัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายโคก หนอง นา ใน 9 อำเภอ จำนวน 9 เครือข่าย และระดับจังหวัด 1 เครือข่าย รวม 10 เครือข่าย 2) จัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ เดือนละ 1 ครั้ง 3) จัดกิจกรรมการเพาะกล้าไม้และกล้าพันธุ์ผัก เพื่อแบ่งปันให้พี่น้องประชาชนทั่วไป และ 4) มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เด็กนักเรียนและพี่น้องประชาชนผู้ที่สนใจมาศึกษาเรียนรู้ในฐานการเรียนรู้ของแต่ละแปลงโคก หนอง นา

นายสมหวัง เอี่ยมงิ้วงาม กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยที่มาเยี่ยมให้กำลังใจพวกเรา ให้มีกำลังกาย กำลังใจ ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปขยายผลสร้างการรับรู้และขยายผลหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่พี่น้องประชาชนทั่วไป ซึ่งเราจะดำเนินการขยายผลโดยบูรณาการกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ตามหลักบันได 9 ขั้น ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อย่างยั่งยืนตลอดไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image