แพทย์ เผย “ผู้สูงอายุ” ส่วนใหญ่มีโรคไม่รู้ตัว ยกโรคฮิต “ไขมัน-ไตเสื่อม” แนะ ทุกช่วงวัยควรตรวจสุขภาพก่อนป่วย

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน นพ.วีรยุทธ ตะโนรี แพทย์เฉพาะทางด้านเวชปฎิบัติทั่วไป ศูนย์ตรวจสุขภาพ (Premium Check Up Center) โรงพยาบาล (รพ.) นวเวช กล่าวว่า สังคมทั่วโลกรวมถึงไทย เป็นสังคมผู้สูงอายุ เพราะการแพทย์และเทคโนโลยีดูแลสุขภาพที่ดีขึ้นมากกว่าอดีต ฉะนั้น คนสูงอายุทุกคนควรได้รับการดูแล ทั้งจากครอบครัว มีความรู้ด้านสุขภาพเพื่อดูแลตนเอง และการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ โดยผู้สูงอายุมักจะพบปัญหาสุขภาพจากความสึกหรอของร่างกาย รวมถึงโรคต่างๆ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.กลุ่มโรคที่ไม่มีอาการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรคกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases) หรือ NCDs เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในหลอดเลือดสูง ไตเสื่อม โดยถ้ายังเป็นน้อยๆ ก็จะไม่แสดงอาการออกมา มักจะพบโรคจากการตรวจสุขภาพ และ 2.กลุ่มโรคที่มีอาการ เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต ซึ่งจะเริ่มมีอาการแสดงออกชัดเจนแล้ว ผู้ป่วยจะมาหาหมอด้วยอาการต่างๆ ที่กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น โรคที่เกิดในผู้สูงอายุอาจเกิดขึ้นได้โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว อย่างผู้ป่วยรายหนึ่งอายุ 60 ปีกว่าๆ มาตรวจสุขภาพประจำปี พบว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติเล็กน้อย ประกอบกับผู้ป่วยเองบอกว่ารู้สึกเหนื่อย แพทย์จึงให้ตรวจแบบละเอียด โดยให้ไปวิ่งสายพานวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ก็พบว่าผู้ป่วยเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ ต้องทำหัตถการรักษา ดังนั้นบางครั้งอาการเล็กน้อยเจ้าตัวอาจไม่รู้ตัว เป็นเหมือนภัยเงียบ

“การคัดกรองโรคด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี จึงมีความสำคัญกับทุกกลุ่มวัยไม่ใช่เฉพาะกับผู้สูงอายุ ซึ่งจริงๆ แล้วเราตรวจสุขภาพประจำปีโดยไม่รู้ตัว อย่างเด็กทารก เกิดมาต้องรับวัคซีนตามเกณฑ์ ก็มีการตรวจสุขภาพก่อน แต่การตรวจสุขภาพประจำปีก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงหลายๆ อย่างด้วย เช่น พ่อแม่มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคตับอักเสบบี โรคกรดยูริกสูง เหล่านี้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยไม่รู้ตัว ทำให้ร่างกายเราเสื่อมโดยไม่รู้ตัว อย่างผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นภาวะกรดยูริกอยู่มาเป็น 20 ปีโดยไม่รู้ตัว ซึ่งกรดยูริกจะมีผลต่อไต พอผู้ป่วยอายุ 40 ปีก็เป็นโรคไตเสื่อมเทียบเท่าคนอายุ 70 ปี ดังนั้น เราควรตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้รู้ความเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะคนที่คิดว่าตัวเองร่างกายแข็งแรงเลยไม่มาตรวจสุขภาพ พอมาเจอก็เพิ่งรู้ว่ามีโรคโดยไม่รู้ตัว” นพ.วีรยุทธกล่าว

นพ.วีรยุทธกล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่อายุน้อยๆ มาตรวจสุขภาพประจำปี ก็มักจะพบเรื่องไขมันในเลือดสูง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรม การใช้ชีวิต เช่น การกินอาหารฟาสต์ฟู้ด เนือยนิ่ง ซึ่งจะเห็นตัวเลขผู้ป่วยจากกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นชัดเจน อย่างไรก็ตาม ช่วงอายุที่ตรวจพบโรคมีความสำคัญต่อการรักษาอย่างมาก อย่างที่มักจะได้ยินคำว่า “ไม่ไปหาหมอดีกว่า ตรวจแล้วเดี๋ยวเจอโรค” จริงๆ แล้วการตรวจสุขภาพเพื่อให้เจอโรคเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่โรคจะรุนแรงก็จะน้อยลงชัดเจน เช่น โรคเบาหวาน หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานถาวรได้

เมื่อถามว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองยังทำงานได้ และไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน ควรดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง นพ.วีรยุทธกล่าวว่า ผู้สูงอายุคือคนที่มีประสบการณ์ มีความรู้ที่พร้อมถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง ดังนั้นจึงไม่ใช่การเป็นภาระของลูกหลาน แต่หากเราปล่อยให้ตัวเองมีโรคเจ็บป่วยก็ทำให้ครอบครัวต้องดูมากขึ้น หรือบางรายที่มีอาการเจ็บป่วยแต่ไม่ยอมบอกลูกหลาน สุดท้ายก็เกิดเป็นโรคมะเร็งขึ้น ก็ทำให้การรักษาซับซ้อนขึ้น ดังนั้น คำแนะนำที่ดีคือการไม่ป่วย จึงต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร ทำใจให้สงบ แต่ที่อยากเพิ่มขึ้นคือ การตรวจคัดกรองสุขภาพประจำปีในทุกเพศทุกวัย  ขณะเดียวกัน ผู้ดูแลผู้สูงอายุจำเป็นต้องสังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เริ่มพูดไม่ค่อยชัด หลงๆ ลืมๆ ต้องรีบมาพบแพทย์ก่อนที่อาการจะมากขึ้นแล้วค่อยมาหา เพราะอาจจะสายเกินไป

Advertisement

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image