ปลัดสธ. เผย ‘ไข้เลือดออก’ ป่วยสะสม 4.6 หมื่นคน เสียชีวิตแล้ว 41 คน คาด ส.ค.นี้ เข้าช่วงขาลง

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ว่า กรมควบคุมโรคได้อัพเดทสถานการณ์อยู่ตลอด ช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงพีค คือ ช่วงที่มีการป่วยสูงสุดของการระบาด ตนกำลังจับตาดูว่าจะพีคมากน้อยอย่างไร ซึ่งตามธรรมชาติเมื่อการระบาดพ้นช่วงพีคแล้ว ผู้ป่วยจะค่อยๆ ลดลงเป็นช่วงขาลง ขณะเดียวกัน ธรรมชาติของโรคไข้เลือดออก มักจะค่อยๆ ลดลงในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. ที่เป็นช่วงขาลง

“เท่าที่จับตาดูพบว่ารูปแบบการระบาดเปลี่ยนไป จากเดิมที่เราจะพบผู้ป่วยมากในวอร์ดเด็ก แต่ปีนี้วอร์ดเด็กไม่มาก แต่พบว่าผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น อาจเพราะสาเหตุเด็กเกิดน้อยลง ทำให้กลุ่มเป้าหมายการติดเชื้อน้อยลง” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามว่าช่วงหยุดยาวคนไปเที่ยวต่างจังหวัดมากขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงขึ้นหรือไม่ จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการคัดกรองหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) เป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนั้น ทางกรมควบคุมโรค ได้เฝ้าระวังตามระบบโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ประชาชนมีส่วนสำคัญในการช่วยกำจัดแหล่งกำเนิดลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะในชุมชน จึงอยากเน้นย้ำให้มีการดูแลจุดเสี่ยงต่อการเพาะพันธุ์ของยุงลาย เช่น แจกัน กระถางรองต้นไม้ และจุดที่มีน้ำขัง

“หากมีอาการไม่สบาย เป็นไข้ ก็ขอให้ไปพบแพทย์ ถ้าไปพบครั้งแรกไม่หาย ก็ยังต้องไปพบเป็นครั้งที่ 2 เพื่อตรวจให้ละเอียดอีกครั้ง และอย่าไปซื้อยาแอสไพรินมารับประทานเอง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ที่ปีนี้เป็นไข้เลือดออกมากกว่าเด็กชัดเจน” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

ขณะเดียวกัน นายอภิญญา นิรมิตสันติพงศ์ รองผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ไข้เลือดอออก ล่าสุดแนวโน้มผู้ป่วยยังคงสูงอยู่ที่สัปดาห์ละประมาณ 4,000-5,000 ราย จำนวนผู้ป่วยยังไม่ลดลง โดยพบผู้ป่วยกระจายอยู่ในทั่วประเทศ ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังถึงสถานการณ์ไข้เลือดออกเป็นรายสัปดาห์ และต้องจับตาดูแนวโน้มในเดือน ส.ค.

“ข้อมูลล่าสุด ประจำสัปดาห์การระบาดที่ 29 ข้อมูลถึงวันที่ 26 ก.ค.2566 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมอยู่ที่ 46,855 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 5,328 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย อัตราการป่วยอยู่ที่ร้อยละ 70.80 ส่วนเสียชีวิตสะสม อยู่ที่ 41 ราย อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 0.09 แต่หากดูเฉพาะเดือนก.ค. มีผู้ป่วยจำนวน 12,525 ราย ซึ่งถือว่าสูงกว่าปีที่แล้วถึง 1.7 เท่า” นายอภิญญา กล่าว

นายอภิญญา กล่าวต่อว่า โดยผู้ป่วยไข้เลือดออกอายุมากสุด 98 ปี สำหรับช่วงอายุที่ ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุดอันดับ 1 ในช่วงอายุ 5 -14 ปี รองลงมา 15 -24 ปี โดยพบว่าในช่วง วัยทำงาน 25-34 ปีแนวโน้มผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในช่วงอายุนี้พบอัตราป่วยตายมากที่สุด อยู่ที่ 14 ราย

Advertisement

สำหรับผลการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย พบว่ายังเกินเกณฑ์มาตรฐานอยู่ในหลายพื้นที่ โดยผลการส่งตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการ พบว่า ร้อยละ 38.2 เป็นเชื้อไวรัส
เดงกี 1 รองลงมาร้อยละ 26.5 เป็นเชื้อไวรัสเดงกี 3 และร้อยละ 20.6 เป็นเดงกี 2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image