ชัชชาติ ลั่นอีก 2 ปี เปลี่ยนพรึบ รถขยะอีวี เสก 500 ป้ายรถเมล์ดิจิทัล สร้างรพ.เพิ่ม 4 แห่ง

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กทม. แถลงข่าวในโอกาสการครบรอบ 2 ปีของการทำงาน ภายใต้ชื่องาน “2 ปี ทำงาน ‘เปลี่ยน ปรับ’ ยกระดับเมืองน่าอยู่” พร้อมทั้งแสดงวิสัยทัศน์การทำงานในอีก 2 ปีข้างหน้า

นายชัชชาติกล่าวว่า 2 ปีมาแล้ว ยังสนุกกับการทำงาน วันนี้มารายงานให้ประชาชนฟังว่าทำงานอะไรไปแล้วบ้าง เดิมกรุงเทพฯ เป็นเมืองเที่ยวสนุก แต่มีประสิทธิภาพต่ำ ความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆอย่างมีคุณภาพ โดยมีต้นทุนและทรัพยากรที่เหมาะสม เช่น การเดินทางในราคาถูก ได้คุณภาพการเรียนที่ดี คีย์หลักคือคำว่า ประสิทธิภาพ หัวใจของเราคือเพิ่มประสิทธิภาพของเมืองให้ดีขึ้น นำมาซึ่งความน่าอยู่ต่างๆ สุดท้ายความน่าขยับขึ้น เมืองน่าจะดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น

ส่วนสิ่งที่ปรับปรุงมีอีกมหาศาล เพราะยังมีเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมผักชีโรยหน้า ยังมีกลุ่มผู้มีอิทธิพล กลุ่มผลประโยชน์ที่ฝังตัวมานาน เราก็ต้องไม่กลัวและเดินหน้าต่อ นอกจากนี้ยังมีปัญหาฝาท่อไม่เรียบ ปัญหาการจราจร ปัญหาการจัดระเบียบสายไฟฟ้าสายสื่อสาร และปัญหาถนนพระราม 2 หน้าที่เราไม่มีอำนาจดำเนินการ แต่ต้องไปบูรณาการ สำหรับสิ่งที่ กทม.ต้องทำให้ดีขึ้นคือ การปรับวัฒนธรรมการทำงาน บูรณาการข้ามหน่วยงาน และแก้กฎระเบียบที่ล้าหลัง

Advertisement

“ยอมรับว่าสองปีที่ผ่านมายังมีสิ่งที่เราทำไม่ดี ต้องตั้งหน้าตั้งตาปรับปรุงให้ดีขึ้น เราพยายามทำงานให้เต็มที่ อยากให้พวกเราทุกคนเหนื่อยน้อยลงกับการที่อยู่ในเมืองนี้ อยากเพิ่มประสิทธิภาพเมืองนี้ให้ดีขึ้น ให้ทุกคนมีความสุข และใช้ชีวิตในเมืองนี้ให้ดีทั้งครอบครัว” นายชัชชาติกล่าว

อีกทั้งนายชัชชาติได้กล่าวถึงเรื่องราวประทับใจ ในการดำรงตำแหน่งครบรอบ 2 ปีว่า มีหลายเรื่องที่ประทับใจ บังเอิญไปเจอเด็กคนหนึ่ง เป็นเด็กอินเตอร์พูดไทยไม่ได้ แม่เขาถามว่ารู้จักเราหรือไม่ “Bangkok Governor” ลูกก็ไม่เข้าใจ ตนจึงบอกว่าผมไม่ใช่ Governor ตนคือ Servant คือคนรับใช้ หน้าที่เราไม่ใช่ Governor แต่คือคนที่รับใช้ประชาชน เป็นหัวใจที่ทำให้เราต้องลงพื้นที่

“เพราะประชาชนคือเจ้านายเรา เราไม่ใช่คนที่มาปกครอง แต่เรามารับใช้ประชาชนมากกว่า เหตุการณ์นี้จึงเป็นเหตุการณ์ที่เตือนตนเอง เราไม่ใช่คนใหญ่โต แต่เป็นคนที่รับใช้ประชาชน” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อทำให้กรุงเทพฯ มีอากาศสะอาด นอกเหนือจากดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องแล้ว จากนี้จะมีการเปลี่ยนรถบริการของ กทม. ไม่ว่าจะเป็น รถเก็บขยะ รถบรรทุกน้ำ รถสุขาเคลื่อนที่ รถบรรทุก 6 ล้อ จากรถที่ใช้พลังงานดีเซลมาเป็นรถพลังงานไฟฟ้าแทน ทั้งนี้จากการคำนวณรถขยะขนาด 5 ตัน สามารถลดค่าเช่าลงเหลือ 2,240 บาท/คัน/วัน จาก 2,800 บาท/คัน/วัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 200 ตัน/ปี จาก 2,256 ตัน/ปี ลดการปล่อย PM2.5 เหลือเป็นศูนย์ จาก 22 กก./ปี และลดต้นทุนพลังงานเหลือ 455 บาท/เที่ยว จาก 1,300 บาท/เที่ยว โดยมีแผนรับมอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในปี 67 จำนวน 615 คัน ปี 68 จำนวน 392 คัน และปี 69 อีก 657 คัน

“นอกจากนี้ยังเร่งรัดการก่อสร้างโรงเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าอ่อนนุช-หนองแขม เพื่อลดการฝังกลบ และลดต้นทุนการจัดการขยะ โดยคาดว่าจะเปิดในปี 69 ซึ่งจะประหยัดเงินค่าจัดการขยะได้ 172,462,500 บาท/ปี” นายจักกพันธุ์กล่าว

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ในช่วง 2 ปี จากนี้ คนกรุงเทพฯ จะเดินทางสะดวกขึ้น ด้วยบริการป้ายรถเมล์ดิจิทัล 500 ป้าย การปรับปรุงศาลารถเมล์ 300 หลัง และการติดตั้งจอดิจิทัลในศาลาที่พักผู้โดยสารอีก 200 หลัง เพิ่มตัวเลือกการเดินทาง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อ (Last Mile) ด้วยการเดินทางที่หลากหลาย เช่น รถตุ๊ก ๆ ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า จักรยาน Shuttle Bus และการเดินเท้าที่สะดวกปลอดภัย มีหลังคาคลุม เป็นต้น

ด้านการจราจรจะคล่องตัวขึ้น โดยการอัปเกรดสัญญาณไฟจราจรทั่วกรุงเทพฯ ให้เป็น Adaptive Signaling ปรับสัญญาณไฟให้สอดคล้องกับปริมาณจราจร 541 ทางแยก พร้อมทั้งมอนิเตอร์เมือง สังเกต และสั่งการผ่าน Command Center ทั้งในเรื่องการติดตั้ง CCTV ไฟส่องสว่าง เซ็นเซอร์วัดระดับน้ำท่วมขังบนถนน โดยส่งข้อมูลมาที่ Open Digital Platform

“ส่วนการขอใบอนุญาตการก่อสร้างออนไลน์จะมีความครอบคลุมอาคารทุกประเภท ตั้งแต่ขนาดเล็ก ต่ำกว่า 2000 ตร.ม. ขนาดใหญ่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป อาคารขนาดใหญ่พิเศษ 10,000 ตร.ม.ขึ้นไป ไปจนถึงอาคารสูง ตั้งแต่ 23 ม. ขึ้นไป และสามารถติดตามสถานะโครงการผ่านออนไลน์ได้” นายวิศณุกล่าว

ด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การยกระดับการบริการด้านสาธารณสุขของคนกรุงเทพฯ ในช่วง 2 ปีหลังนี้ จะการผลักดันโรงพยาบาลเดิม 3 แห่ง และเพิ่มโรงพยาบาลใหม่ในสังกัด กทม. อีก 4 แห่ง เพื่อขยายเตียงดูแลคนกรุงเทพฯ ให้ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น อีก 1,272 เตียง โดยจะเพิ่มที่โรงพยาบาลกลาง อีก 150 เตียง โรงพยาบาลบางนาเพิ่ม 324 เตียง โรงพยาบาลคลองสามวา เพิ่ม 268 เตียง ส่วนโรงพยาบาลแห่งที่จะเปิดใหม่ ได้แก่ โรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี ขนาด 150 เตียง โรงพยาบาลดดอนเมือง ขนาด 200 เตียง โรงพยาบาลสายไหม ขนาด 120 เตียง และโรงพยาบาลทุ่งครุ ขนาด 60 เตียง ขณะเดียวกันยังพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขให้เข้าถึงง่าย กระจายทั่วกรุงเทพฯ โดยก่อสร้างอาคารใหม่ 21 แห่ง และปรับปรุงใหม่อีก 31 แห่ง ในช่วง 2 ปีต่อจากนี้

“นอกจากนี้ ยังเตรียมปรับปรุงสถานีดับเพลิง 13 แห่ง และสร้างใหม่อีก 3 แห่ง พร้อมทั้งยกะดับ Command Center เพิ่มประสิทธิภาพการติดตั้ง GPS ให้รถพยาบาล 80 คัน และรถดับเพลิง 250 คัน ติดตามสถานการณ์ผ่าน IOT กล้อง DVR และ Body Cam เพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจและสั่งการแบบเรียลไทม์ผ่านระบบข้อมูลทรัพยากรและห้อง War Room” น.ส.ทวิดากล่าว

ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า การพัฒนาคน คือการพัฒนาเมือง สิ่งที่ กทม. มุ่งมั่นในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้ คือ การยกระดับจากการศึกษา สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ซึ่งหมายถึง การดูแลตั้งแต่ระดับเด็กปฐมวัย การศึกษาภาคบังคับ และการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยการศึกษาปฐมวัยเป็นการดูแลเด็กก่อนวัยเรียน จาก 83,264 คน เพิ่มเป็น 100,000 คน ปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเริ่มรับเด็กเร็วขึ้นที่อายุ 1 ขวบครึ่ง เพิ่มชั้นอนุบาลสำหรับเด็ก 3 ขวบ โดยมีแผนขยายให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในปี 69 ปรับปรุงหลักสูตรสร้างพัฒนาสมวัยผ่านการเล่น (play-base-learning) พร้อมทั้งปรับปรุงกายภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้งห้องน้ำ สนามเด็กเล่น และห้องเรียนปลอดฝุ่น

นายศานนท์กล่าวว่า ส่วนการศึกษาภาคบังคับ จะเปลี่ยนหลักสูตรที่เน้นการคิดวิเคราะห์ นำความรู้ไปใช้บนหลักสูตรฐานสมรรถนะ (skill-base-learning) และพัฒนาห้องเรียนดิจิทัล สร้าง Active Learning สำหรับเด็ก ป.4 – ม.3 ทุกโรงเรียน โดยทุกห้องเรียนมีคอมพิวเตอร์ เป็นการต่อยอดจากที่ได้มีการนำร่องห้องเรียน Chromebook ในปีการศึกษาที่ผ่านมาพบว่ามีคะแนนเฉลี่ยมากกว่าห้องเรียนปกติ 28% ด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ จะเน้นที่การพัฒนาทักษะวิชาชีพที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน โดยดำเนินการร่วมกับสถานประกอบการ เช่น หลักสูตรขับรถสามล้อไฟฟ้า (Muvmi) หลักสูตรแม่บ้านการโรงแรม ซึ่งทำร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย และหลักสูตรตัดขนสุนัข ที่ทำร่วมกับโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ เป็นต้น

นอกจากนี้จะมีการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งช่วยสอดส่อง แจ้งปัญหาผ่าน Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) การตรวจสอบ Open Data ข้อมูลงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งร่วมทำ ร่วมนำเสนอ ผ่านสภาเด็กและเยาวชน สภาเมืองคนรุ่นใหม่ ประชาคมคนพิการ ย่านสร้างสรรค์ เทศกาล อีเวนต์ กิจกรรมดนตรีในสวน และอาสาสมัครเทคโนโลยีประจำชุมชน

“ยังมี e-participation แพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถร่วมสร้างกรุงเทพฯ เช่น แพลตฟอร์มการจองพื้นที่สาธารณะ และแพลตฟอร์ม Participatory Budgeting อีกด้วย ส่วนที่ให้อำนาจประชาชนตัดสินใจได้เอง ได้แก่ การผลักดันข้อบัญญัติกองทุนชุมชนเข้มแข็ง และข้อเสนอปรับแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีนี้เช่นกัน” นายศานนท์กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ทีมชัชชาติ แถลงยิบผลงาน 2 ปี ยัน ไม่ได้แก้แค่เส้นเลือดฝอย ย้ำเปลี่ยน ‘เชิงโครงสร้าง’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image