กรมวิทยาศาสตร์ฯ เผยผลเฝ้าระวังสายพันธุ์ ‘ไข้หวัดใหญ่’ ในไทย ยันวัคซีนป้องกันได้

กรมวิทยาศาสตร์ฯ เผยผลเฝ้าระวังสายพันธุ์ ‘ไข้หวัดใหญ่’ ในไทย ยันวัคซีนป้องกันได้

วันนี้ (20 มิถุนายน 2567) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข   (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ว่า ในเขตซีกโลกเหนือระบาดมากในช่วงฤดูหนาว ส่วนซีกโลกใต้ระบาดมากในฤดูฝน โดยสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบัน ทั่วโลกพบไข้หวัดใหญ่ ชนิด A(H3N2) ไข้หวัดใหญ่ ชนิด A (H1N1) pdm09 และไข้หวัดใหญ่ ชนิด B (Victoria Lineage) เป็นสาเหตุของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ผลการวิเคราะห์สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และตรวจจำแนกสายพันธุ์ โดยการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมในปัจจุบันจากทั่วโลก พบว่า

Advertisement

-ไข้หวัดใหญ่ ชนิด A (H3N2) มีสัดส่วน ร้อยละ 43 เป็น clade 3C.2a1b.2a.2a.3a.1 คิดเป็น ร้อยละ 67.5

-ไข้หวัดใหญ่ ชนิด A (H1N1) pdm09 มีสัดส่วน ร้อยละ 29 เป็น clade 6B.1A.5a.2a คิดเป็น ร้อยละ 86.21

-ไข้หวัดใหญ่ ชนิด B (Victoria Lineage) มีสัดส่วน ร้อยละ 26 เป็น Victoria clade VIA.3a.2 คิดเป็น ร้อยละ 100

Advertisement

สำหรับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย พบว่า ไข้หวัดใหญ่ ชนิด A (H3N2) มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 38.90 รองลงมา คือ ไข้หวัดใหญ่ ชนิด B (Victoria Lineage) มีสัดส่วน ร้อยละ 37.26 และไข้หวัดใหญ่ ชนิด A (H1N1) pdm09 มีสัดส่วน ร้อยละ 23.84

นพ.ยงยศกล่าวว่า จากการวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย (วันที่ 1 ตุลาคม 2566-พฤษภาคม 2567) ด้วยการประยุกต์ใช้เทคนิค Whole genome sequencing วิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมทั้งจีโนม และประเมินความสอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ พบว่า ส่วนใหญ่มีความสอดคล้องกับสายพันธุ์ในวัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดในขณะนี้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

-ไข้หวัดใหญ่ ชนิด A (H1N1) pdm09 สายพันธุ์ 6B.1A.5a.2a มีสัดส่วน ร้อยละ 93.06 ซึ่งพบเป็นสายพันธุ์หลัก มีความสอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ A/Sydney/5/2021 (H1N1) pdm09-like virus ที่กลุ่มเป้าหมายตามแนวทาง สธ.ได้รับเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 โดยเป็นสายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อ้างอิงจากวัคซีน สำหรับประเทศทางซีกโลกใต้

-ไข้หวัดใหญ่ ชนิด A (H3N2) สายพันธุ์ 3C.2a1b.2a.2a.3a.1 มีสัดส่วน ร้อยละ 100 ซึ่งสอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปี 2567 ชนิด egg-based A/Thailand/8/2022 (H3N2)-like virus

-ไข้หวัดใหญ่ ชนิด B จัดอยู่ในกลุ่ม (Victoria Lineage) clade V1A.3a.2 คิดเป็น ร้อยละ 99.61 สอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทั้งแบบ quadrivalent และ trivalent สำหรับสายพันธุ์ B/Yamagata lineage ไม่พบในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา

สำหรับผลการวิเคราะห์ตำแหน่งการกลายพันธุ์บนยีน Neuraminidase (NA) ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทย ช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 35 ตัวอย่าง (อ้างอิงข้อมูลตำแหน่งการกลายพันธุ์จากองค์การอนามัยโลก ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ไม่พบยีนบ่งชี้การดื้อยา)

“ทั้งนี้ การเฝ้าระวังโรคและการติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่มีความสำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องเฝ้าระวัง อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบอุบัติการณ์แนวโน้มการระบาดใหญ่ การกลายพันธุ์ และการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ต่างไปจากเดิม เพื่อวางมาตรการการควบคุมและป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสมและทันเหตุการณ์ และวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย ยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดในขณะนี้ ขอให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี ควบคู่กับการดูแลป้องกันตนเอง ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานาน หากสงสัยว่ามีอาการป่วย แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง” นพ.ยงยศกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image