แพทย์เปิด 3 โรคฝันร้ายผู้สูงวัย ไขปมวัคซีนไข้เลือดออก พัฒนาเป็น 10 ปี เตือนภัยเงียบ ‘มะเร็งปากมดลูก’

แพทย์เปิด 3 โรคฝันร้ายผู้สูงวัย ไขปมวัคซีนไข้เลือดออก พัฒนาเป็น 10 ปี เตือนภัยเงียบ ‘มะเร็งปากมดลูก’

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ เครือมติชน ร่วมกับองค์กรและหน่วยงานพันธมิตรสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน จัดงาน Thailand Healthcare 2024 ‘เกษียณสโมสร’

จัดเต็ม 6 โซนเด่น 4 ไฮไลต์เพื่อสุขภาพ เพื่อฉลองครบรอบปีที่ 16 งานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 ของประเทศ ระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายนนี้ โดยวันนี้เป็นวันแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศทั่วไป มีผู้เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง กระทั่งเมื่อเวลา 15.00 น. เข้าสู่กิจกรรม Health Talk หัวข้อ ‘โรคติดเชื้อที่พบบ่อยในครอบครัว และการปกป้องครอบครัวด้วยวัคซีน’ โดย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

Advertisement

พญ.สุดา พันธุ์รินทร์ อายุรแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันคลินิก ผู้เชี่ยวชาญนายแพทย์ระดับ 9 สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ที่นำโดยยุงลาย ซึ่งโรคไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ เมื่อเราติดเชื้อสายพันธุ์ที่ 1 ไปแล้ว ยังเหลืออีก 3 สายพันธุ์ที่สามารถติดได้อีก กล่าวคือ สามารถเป็นซ้ำได้ โดยทั่วไปส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อซ้ำอาการจะหนักกว่าครั้งแรก เป็นเรื่องกลไกของภูมิคุ้มกัน เมื่อเราติดสายพันธุ์ที่ 1 แล้วหายแล้ว ระยะแรก มีภูมิคุ้มกันสูงมาก และจะข้ามไปป้องกันสายพันธุ์ที่เหลือ (2, 3, 4) ได้ แต่พอเวลาผ่านไปราว 6 เดือน-1 ปี ภูมิคุ้มกันค่อยๆ ลดลง ทำให้เกิดโอกาสติดสายพันธุ์ที่เหลือได้ ประกอบกับแอนติบอดีที่อยู่ในตัวจะทำให้ติดเชื้อสายพันธุ์ที่เหลือเข้าเซลล์ได้ง่ายขึ้น

เพราะฉะนั้น การติดเชื้อไข้เลือดออกในครั้งแรกอาการแรกอาจจะยังไม่รุนแรง พบอาการปวดหัว เป็นไข้ เบื่ออาหาร เหมือนไวรัสปกติ แต่หากติดเชื้อและมีอาการรุนแรงจะเกิดอาการช็อก เกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกได้ ”ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีโอกาสติดสายพันธุ์ที่เหลือได้ จากการศึกษาที่โรงพยาบาลเด็กที่ทางทีมเคยตรวจ นำบุคลากรทางแพทย์ อายุช่วง 20-60 ปีมาหลายร้อยคน ส่วนใหญ่ไม่เคยเป็น แต่พอเจาะเลือด พบว่า 90% ติดครบทั้ง 4 สายพันธุ์แล้ว แต่ไม่รู้ตัว คือต่อให้พวกเราเคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้ว แต่ไม่แน่ว่าจะเป็นซ้ำเมื่อไหร่“ พญ.สุดากล่าว

พญ.สุดา พันธุ์รินทร์ อายุรแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันคลินิก ผู้เชี่ยวชาญนายแพทย์ระดับ 9 สถานเสาวภา สภากาชาดไทย

พญ.สุดากล่าวต่อว่า ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่จะพบโรคไข้เลือดออกแค่ในเด็ก แต่ปัจจุบันแนวโน้มเริ่มพบในผู้ใหญ่มากขึ้น และปีนี้มีผู้เสียชีวิตอายุ 90 กว่า จะเห็นได้ว่าโรคไข้เลือดออกกำลังขยายวงกว้าง และที่สำคัญโรคนี้ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอาการจะรุนแรงหรือไม่

Advertisement

“เราไม่สามารถเจาะเลือดแล้วบอกว่าอาการรุนแรงหรือไม่ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง 4-5 วัน แต่จะน่ากลัววันที่ไข้ลง อาการผู้ป่วยดีขึ้น ทานได้ จะไม่มีปัญหา แต่หากซึม ความดันต่ำ ช็อก จะเกิดปัญหาขึ้นได้ เพราะฉะนั้นความน่ากลัวจะอยู่ตรงนี้” พญ.สุดากล่าว

พญ.สุดากล่าวว่า สำหรับวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกทำได้ดังนี้ 1.จัดการแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายด้วย 3 วิธีเก็บ คือ เก็บน้ำ เก็บบ้าน เก็บขยะ กำจัดลูกน้ำยุงลายที่เป็นน้ำขัง ใส่ทรายอะเบท และ 2.ป้องกันยุงกัด อยู่ในที่ที่มีมุ้งลวด ทายากันยุง เป็นมาตรการรู้ดี ทำกันมาเป็น 10 ปี แต่ไม่ได้ลดจำนวนผู้ป่วยลง นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึงประมาณกลางเดือนมิถุนายน มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเกือบ 37,000 คน หรืออาจจะแตะแสนรายก็ได้ และเสียชีวิต 39 คน เพราะเข้าหน้าฝน และอีก 1 มาตรการขององค์กรอนามัยโลกที่ช่วยได้คือ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ลดความรุนแรงของโรค


พญ.สุดากล่าวว่า วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกพยายามพัฒนาเป็น 10 ปี ล่าสุดประเทศไทยมีวัคซีนนี้ใช้แล้ว เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ มีอยู่ 2 แบบ แบบที่ 1 คือ ใช้ไวรัสไข้เหลืองเป็นแกนกลาง ฉีดครั้งละ 1 เข็ม 3 ครั้ง ระยะห่างแต่ละเข็ม 6 เดือน และต้องฉีดคนที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาแล้ว มีประสิทธิภาพในการป้องกัน 80% ส่วนวัคซีนแบบที่ 2 ฉีดครั้งละ 1 เข็ม ฉีดเพียงแค่ 2 ครั้ง ระยะห่างแต่ละเข็ม 3 เดือน สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 4-60 ปี ฉีดได้ทั้งคนที่เคยเป็นและยังไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน และมีประสิทธิภาพป้องกันโรคไข้เลือดออก 80%

“เมื่อฉีดครบแล้ว 2 เข็ม ป้องกันได้ขั้นต่ำ 5 ปีที่สามารถป้องกันได้ดี และอาจจะนานกว่านั้น ฉีดได้เพียงอายุ 4-60 ปี ไม่ต้องกระตุ้นและไม่ต้องฉีดทุกปี ส่วนผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะเจ็บบริเวณที่ฉีด มีอาการปวด บวม แดง 1 วัน อาจจะเป็นไข้ได้บ้าง หรือเกิดผดผื่นได้น้อย” พญ.สุดากล่าว

พญ.สุดากล่าวว่า ส่วนโรคที่เป็นฝันร้ายของผู้สูงวัย อันดับ 1 คือ โรคงูสวัด ส่วนใหญ่หลายๆ บ้านมีผู้ป่วย โรคนี้ทำให้เกิดผดผื่น ปวดเจ็บแสบร้อนตามเส้นประสาท หน้าเบี้ยวและอาจจะเกิดผดผื่นขึ้นได้ทั้งตัว เข้าตาและทำให้ตาบอด อันดับ 2 โรคท็อปฮิตอย่างติดเชื้อในกระแสเลือด และมีวัคซีนป้องกันเชื้อ ‘นิวโมคอคคัส’ อันดับ 3 ไข้หวัดใหญ่ เป็นปัญหาในผู้สูงอายุ และโรคระบาดโควิด สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานจำนวนยอดผู้ป่วยโควิดเฉลี่ยอยู่ที่ 1,800-2,000 คนต่อสัปดาห์ เสียชีวิต 12 คน และ 11 ใน 12 คนดังกล่าวอายุเกิน 72 ปี ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโรคที่เป็นเป็นฝันร้ายของผู้สูงวัย

พญ.สุดากล่าวว่า ส่วนวัคซีน mRNA ยังไม่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง และโรคมะเร็งลุกลาม ตรงกันข้ามผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือกลุ่มได้รับเคมีบำบัด เป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจจะเกิดรุนแรงหากติดโควิด ต้องพิจารณาการฉีดวัคซีนและป้องกันขึ้นด้วย ส่วนภัยเงียบสำหรับผู้หญิง คือ มะเร็งปากมดลูก สาเหตุเกินกว่า 90% เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV เมื่อติดแล้วจะไม่มีอาการ สามารถถ่ายทอดผ่านทางเพศสัมพันธ์ ติดอยู่กับอวัยวะเพศ ช่องปาก และลำคอ ใช้เวลา 10 ปี ค่อยๆ ทำให้เซลล์เปลี่ยนเชื้อไปเป็นมะเร็ง

พญ.สุดากล่าวว่า นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดมะเร็งช่องคลอด ทวารหนัก มะเร็งช่องปากและคอหอย และหูดหงอนไก่และหูดข้าวสุกในผู้หญิง แต่ก็สามารถเกิดในผู้ชายได้เช่นกัน เช่น มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและคอหอย หูดหงอนไก่และหูดข้าวสุก ซึ่งปีที่ผ่านมาเจอสูงมากขึ้นและติดต่อกันได้ และแพร่สู่ผู้หญิงต่อได้ เมื่อมีเพศสัมพันธ์ไปยังคู่นอน โดยทุกกลุ่มที่มีคู่นอนและยังมีเพศสัมพันธ์ ก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและสามารถติดเชื้อนี้ได้

“โดยทั่วไปผู้หญิงจะมีโปรแกรมตรวจ HPV และมีชุดทดสอบเองได้ มีการตรวจคัดกรองตรวจภายใน คัดกรองมะเร็ง และปัจจุบันก็มีวัคซีนป้องกัน HPV ซึ่งฉีดได้ทั้งผู้หญิง-ชาย ตั้งแต่ 9 ขวบขึ้นไป วัคซีนป้องกัน HPV ที่ดี ต้องฉีดตั้งแต่ก่อนติดเชื้อ ก่อนมีเพศสัมพันธ์ ก่อนแต่งงาน ดังนั้น จึงมีการให้ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ให้กับกลุ่มเด็กนักเรียนผู้หญิง ป.5 หรือได้ฉีดวัคซีน และฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี ฉีดเพียงแค่ 2 เข็ม ระยะห่างระหว่างเข็ม 6 เดือน-1 ปี หากอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ต้องฉีด 3 เข็ม ครั้งละ 1 เข็ม จำนวน 3 ครั้ง ในระยะเวลา 6 เดือน” พญ.สุดากล่าว


พญ.สุดากล่าวว่า ตราบใดที่ยังมีเพศสัมพันธ์ ยังมีโอกาสที่จะมีคู่ใหม่ ก็ยังเห็นผลอยู่ ถึงอายุมาก วัคซีนก็ยังมีประโยชน์อยู่หากมีเพศสัมพันธ์ หรือติดเชื้อ HPV แล้วก็ยังมีประโยชน์ แต่จะลดหลั่นกันไป ดีที่สุดคือฉีดตั้งแต่เด็ก ก่อนมีเพศสัมพันธ์ ก่อนแต่งงาน ก่อนรับเชื้อ

พญ.สุดากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ไม่สามารถทดแทนการตรวจภายใน หรือคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ ช่วยป้องกันได้แต่ไม่ 100% ขึ้นชื่อว่า ‘มะเร็ง’ ยังไม่มีอะไรที่สามารถเอาชนะได้ เพราะฉะนั้นถึงจะฉีดวัคซีนดีแค่ไหนถึงเวลาก็ต้องตรวจภายใน และมะเร็งปากมดลูก

“ยุคนี้เป็นเรื่องของคนทุกวัย วัคซีนหลายๆ ชนิดอาจจะฉีดเมื่อนานมาแล้ว เช่น วัคซีนป้องกันบาดทะยัก ต้องฉีดทุกๆ 10 ปี หรือโรคบางอย่างที่มีโอกาสเป็นมากขึ้นในช่วงวัย เช่น เชื้อ HPV เจอมากในกลุ่มหนุ่มสาว โรคงูสวัด ที่เจอมากในผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้น ทุกช่วงวัยก็จะมีความเสี่ยงต่างกัน วัคซีนก็จะมีหน้าที่ป้องกันโรคที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัย เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ปัจจุบันเราก้าวหน้ามากขี้น ปัจจุบันบันมีวัคซีนใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก วัคซีนป้องกันเชื้อ RSV ถือว่าวัคซีนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยการเสริมสร้างสุขภาพของเรา และไม่มีวัคซีนอะไรที่สามารถป้องกันโรคได้ 100% หลักๆ ในการให้วัคซีนคือเพื่อลดความรุนแรงของโรค และที่สำคัญเรายังคงต้องรักษาสุขภาพร่างกายตนเองให้แข็งแรง เราเป็นหมอให้กับตัวเองได้ดีที่สุด ดังนั้น การดูแลรักษาสุขภาพ การออกกำลังกาย สุขอนามัยส่วนบุคคลเป็นเรื่องสำคัญ และใช้วัคซีนเป็นอีกหนึ่งมาตรการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย“ พญ.สุดากล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image