นพ.มนูญ ยัน งูสวัด ‘มันไม่ใช่โรคเล่น ๆ ‘ พรรณนาเห็นภาพสุดทรมาน แต่ป้องกันได้ด้วย ‘วัคซีน’

นพ.มนูญ ยัน งูสวัด ‘มันไม่ใช่โรคเล่นๆ’ พรรณนาเห็นภาพสุดทรมาน แต่ป้องกันได้ด้วย ‘วัคซีน’

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ เครือมติชน ร่วมกับองค์กรและหน่วยงานพันธมิตรสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนจัดงาน Thailand Healthcare 2024 ‘เกษียณสโมสร’
จัดเต็ม 6 โซนเด่น 4 ไฮไลต์เพื่อสุขภาพ เพื่อฉลองครบรอบปีที่ 16 งานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 ของประเทศ ระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายนนี้ โดยวันนี้เป็นวันแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศทั่วไป มีผู้เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง กระทั่งเมื่อเวลา 15.00 น. เข้าสู่กิจกรรม Health Talk หัวข้อ ‘โรคติดเชื้อที่พบบ่อยในครอบครัว และการปกป้องครอบครัวด้วยวัคซีน’ โดย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ อายุรแพทย์ทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กล่าวว่า ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวหลายๆ โรค มีคนไข้ในการดูแลคนหนึ่งอายุ 85 ปี เคยเป็นวัณโรคและเป็นหลอดลมโป่งพอง พอติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เข้าไป ปรากฏว่าระบบหายใจล้มเหลว ต้องเข้าไอซียูนอนเป็นเวลา 5 เดือน เสียค่าใช้จ่ายมหาศาล หากคนนี้ถ้าได้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนที่จะติดเชื้อคงไม่ป่วยหนักขนาดนี้

Advertisement

“อย่างที่รู้ว่าคนสูงอายุเมื่อแก่ขึ้นทุกอย่างก็เสื่อม เวลาติดเชื้อมันอันตรายมาก ฉะนั้นอย่าเข้าใจผิดว่าไข้หวัดใหญ่เป็นไข้หวัดเล็กๆ เป็นแล้วเดี๋ยวก็หาย โดยเฉพาะคนสูงอายุที่มีโรคประจำตัว มันอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ฉะนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันมันคุ้มค่ามากกว่า” นพ.มนูญกล่าว

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่าโรคใดเป็นโรคฝันร้ายของผู้สูงวัย?

Advertisement

นพ.มนูญตอบว่า โรคงูสวัดซึ่งเกิดจากเชื้ออีสุกอีใสในวัยเด็ก ซึ่งเชื้อตัวนี้มันไม่ได้หายไปจากตัวเรา มันไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทที่รับความรู้สึกมันอยู่กับเราตลอดไป รอว่าเมื่อไรที่ร่างกายเราอ่อนแอมันจะโผล่ออกมา ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน และหลังจากนั้น 2 วันจะเห็นตุ่มใสๆ เรียงกันเป็นแนว โดยจะค่อยๆ แตกและแห้งไปเอง ปัญหาสำคัญคือพอหลังจากหายแล้วบางคนเจ็บปวดบริเวณเส้นประสาทเป็นเดือนเป็นปี เจ็บแบบทรมานมาก มันรบกวนคุณภาพชีวิตของคนที่ป่วย ถึงแม้จะกินยาก็ช่วยได้นิดหน่อย

“เรื่องที่ว่าถ้างูสวัดพันรอบตัวแล้วตายไม่จริงแน่นอน เพราะเส้นประสาทของเรามันจะพันมาถึงกึ่งกลางของตัวเราเท่านั้นเอง และเดี๋ยวมันก็จะหายเองและเราก็มียากินด้วย ฉะนั้นเรื่องที่ว่าพันรอบตัวแล้วเสียชีวิตไม่เป็นความจริงแน่นอน” นพ.มนูญกล่าว

นพ.มนูญกล่าวต่อไปว่า เวลาเป็นโรคนี้แล้วมันทรมานไม่ใช่เป็นแค่เฉพาะผิวหนังบางคนเป็นที่หน้าเข้าตา อาจทำให้ตาบอดหรือหน้าเบี้ยวได้ บางคนเสียงแหบเพราะสายเสียงเป็นอัมพาต บางคนเชื้อเข้าไปยังเยื่อหุ้มสมอง มันไม่ใช่แค่โรคเล่นๆ แต่ปัจจุบันเรามีวัคซีนป้องกัน ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อโผล่ออกมา โดยปัจจุบันมี 2 ชนิด ซึ่งชนิดแรกเป็นเชื้อที่เป็นแต่อ่อนฤทธิ์ ป้องกันโรคงูสวัดได้ 50% ป้องกันการปวดประสาทได้ประมาณ 60% พอเวลาผ่านไปประสิทธิภาพตรงนี้ก็จะลดลง ปัจจุบันเรามีวัคซีนแบบใหม่ที่ไม่ได้ใช้เชื้อเป็น ประสิทธิภาพดีขึ้นป้องกันการติดเชื้อได้กว่า 90% และอยู่ได้นานกว่า ฉะนั้นวัคซีนรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่ดีมาก

“สำหรับวัคซีนรุ่นแรกในอเมริกาเขาเลิกใช้ไปแล้ว เขาใช้รุ่นที่ 2 ในการฉีด 2 เข็มห่างกัน 2-6 เดือนให้กับคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งคนที่อายุน้อยกว่านั้นหากจะฉีดต้องมีความเสี่ยงเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง ซึ่งเมื่อได้ฉีดแล้วสามารถป้องกันได้ยาวๆ” นพ.มนูญกล่าว

เมื่อถามว่าสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ในมุมมองของแพทย์ยังมีความน่ากังวลอยู่หรือไม่?

นพ.มนูญกล่าวว่า โรคโควิด-19 ยังมีการระบาดต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงกรานต์ที่ผ่านมามีตัวเลขพุ่งขึ้นถึง 2-3 เท่า ปัญหาใหญ่คือผู้สูงอายุกลุ่ม 608 หรือกลุ่มที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เลยแม้แต่เข็มเดียว ซึ่งประเทศไทยมีคนกลุ่มนี้หลักหลายแสนคนและป้องกันตัวเองดีมากไม่ออกไปเจอใครเลย แต่ช่วงนี้คนกลุ่มนี้มาติดเชื้อกันเยอะมาก และส่วนใหญ่เชื้อจะลงปอดได้ มันจะรุนแรงกับคนกลุ่มนี้ แนะนำเลยว่าถ้ามีอาการให้รีบไปตรวจรักษา ปัจจุบันเรามียารักษา อย่าปล่อยให้มันลงปอดทำให้ระบบหายใจล้มเหลว

นพ.มนูญกล่าวต่อไปว่า หากเราเคยฉีดวัคซีนมาแล้วและเคยติดโรคไปแล้วจะทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง พอกลับมาติดอีกครั้งมันจะเบาบางลง จึงอยากจะฝากให้คนสูงวัยที่ไม่เคยฉีดให้ไปฉีดสักเข็มก็เพียงพอแล้ว

เมื่อถามว่าวัคซีนโควิด MRNA สามารถเปลี่ยนแปลง DNA ของเราได้หรือไม่?

นพ.มนูญกล่าวว่า ไม่จริง วัคซีน MRNA ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง DNA ของเราได้เพราะมันไม่ได้เข้าไปในนิวเคลียสของเรา และไม่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันแน่นอน แต่ถ้าเป็นวัคซีน astrazeneca อาจทำให้เกิดความเสี่ยงได้ซึ่งปัจจุบันได้เลิกผลิตไปแล้ว แต่ MRNA มีความเสี่ยงจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ในวัยรุ่นอายุ 20 ปีแต่พบได้น้อยมากๆ

“วัคซีนไม่ได้ป้องกันการเจ็บป่วย 100% แต่เป็นการฉีดเพื่อให้เราป่วยน้อยลง อย่าไปเชื่อคนที่ด้อยค่าวัคซีน เพราะการฉีดวัคซีนมันคุ้มค่ามีประสิทธิภาพป้องกันไม่ให้เราเสียชีวิตได้” นพ.มนูญกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image