แพทย์รามาฯ ชี้หลอดเลือดสมองผิดปกติ เจอเยอะขึ้น อายุลดอย่างมีนัย ‘บางคนแค่ 40’

แพทย์รามาฯ ชี้หลอดเลือดสมองผิดปกติ เจอเยอะขึ้น อายุลดอย่างมีนัย ‘บางคนแค่ 40’

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ เครือมติชน ร่วมกับองค์กรและหน่วยงานพันธมิตรสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนจัดงาน Thailand Healthcare 2024 “เกษียณสโมสร” จัดเต็ม 6 โซนเด่น 4 ไฮไลต์เพื่อสุขภาพ เพื่อฉลองครบรอบปีที่ 16 งานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 ของประเทศ ระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายน

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ 10.00 น. ยังคงมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม “Thailand Healthcare 2024 เกษียณสโมสร” เดินทางมาที่จุดลงทะเบียนตรวจสุขภาพฟรีรอบเช้ากันอย่างคึกคักแม้จะเป็นวันที่สองของงาน โดยประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ทั้งนี้ภายในงานมีเจ้าหน้าที่คอยประชาสัมพันธ์ และแจก โบชัว แผนผังสถานที่การจัดงานภายในงาน ให้แก่ผู้มาร่วมงานอีกด้วย

เวลา 15.00 น. เริ่มกิจกรรมเวทีเสวนา Health Talk : ตีบ ตัน แตก ภาวะฉุกเฉินสุดอันตราย “โรคหลอดเลือดสมอง” โดย รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

Advertisement

รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธกล่าวว่า ภาวะหลอดเลือดสมองผิดปกติเป็นความผิดปกติในท่อที่เป็นหลอดเลือดไปเลี้ยงสมอง เนื่องจากสมองเป็นปลายทางต้องการเลือดดีๆ จากหัวใจประมาณ 20% ไปเลี้ยงสมอง อย่างที่ทราบระบบท่อมันอาจจะมีความผิดปกติได้ อาจจะตันหรือแตกได้ ฉะนั้น หัวใจหลักของภาวะหลอดเลือดสมองผิดปกติจะมีอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ

กลุ่มแรกคือกลุ่มตีบตัน ตีบเป็นลักษณะของการตันอยู่ข้างในจากการมีลิ่มเลือดไปอุด หรือหลอดเลือดมันมีผนังหนาขึ้น ตันคือมีก้อนเข้าไปอุด ผลที่ออกมาคล้ายกันคือไม่มีเลือดไปเลี้ยงสมองทำให้เกิดสภาวะสมองขาดเลือด อีกกลุ่มคือแตก เป็นลักษณะของมีการฉีกขาดของหลอดเลือด ทำให้เลือดออกมานอกหลอดเลือดไปท่วมสมอง

Advertisement

“ภาวะนี้ทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตจากโรค ทั่วโลกเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงแค่มะเร็งเท่านั้น ที่สำคัญคือภาวะนี้ไม่มีสัญญาณเตือนก่อน บางคนอาจจะพูดว่ามันมีอาการปวดหัวอะไรมาก่อน พวกนั้นอาจจะเกิดจากการที่มีความดันโลหิตสูง หรือการผิดปกติของเกลือแร่ในเลือดมาก่อนทำให้มีอาการ แต่ถ้าเป็นภาวะของหลอดเลือดสมองผิดปกติจริงๆ เราจะไม่รู้ตัวเลย” รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธกล่าว

รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธกล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบันยังมีวิธีการที่จะตรวจกันอยู่ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นงานวิจัยเป็นการตรวจหาสารบางอย่างในเลือด เพื่อจะพยากรณ์ความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นของภาวะหลอดเลือดในสมอง แต่ความแม่นยำและโอกาสในการตรวจยังไม่ง่าย และมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ภาวะหลอดเลือดในสมองผิดปกติทำให้ตั้งแต่ครอบครัวไปจนถึงระดับประเทศเสียหาย เพราะผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงาน หรือดูแลตัวเองได้ ขณะเดียวกันอัตราการเสียชีวิตของปี 2566 มีผู้ป่วยถึง 3 แสนราย และมี 10% เสียชีวิตถึงแม้อายุจะอยู่ในวัยสูงอายุ แต่ในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดในสมองผิดปกติอายุเริ่มลดลง ซึ่งพบบางคนอายุเพียง 40 ปีก็เจอแล้ว

“สมัยก่อนหากผู้ป่วยมีอายุ 30-40 ปีแล้วมาทำการรักษาภาวะหลอดเลือดในสมองผิดปกติที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ต้องหาสาเหตุว่ามันมีโรคตับ โรคไต โรคเลือดอะไรผิดปกติหรือเปล่า หรือใช้สารเสพติด ยาสมุนไพรบางชนิดหรือเปล่าแต่ในปัจจุบันเหมือนกับผู้สูงอายุเลย เอาจริงๆก็หาสาเหตุไม่เจอ” รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธ กล่าว

รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธกล่าวต่อไปว่า เราจะพบอุบัติการณ์ที่มีผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น อย่างในปี 60 มี 278 ราย แต่ 5 ปีต่อมาเพิ่มเป็น 300 กว่าราย อุบัติการณ์โรคสมองขาดเลือดก็มีเพิ่มขึ้นจากปี 60 มี 180 ราย อีก 5 ปีต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น 200 ราย และยังมีอุบัติการณ์โรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออก มีถึง 88.38 ต่อแสนประชากร อายุ 15 ปีขึ้นไป คือประชากรแสนคน 100 รายมีคนเป็นมากถึง 80 ราย ในปี 2565 ถือว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและอายุของผู้ป่วยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

“ถัดมาเนื่องจากในปัจจุบันการใช้ยาเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีเพื่อรักษาโรคต่างๆ จะใช้ยาละลายลิ่มเลือด อัตราการได้ยาจึงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สุดท้ายคืออัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองยังสูงที่ร้อยละ 10.92 โดยเฉพาะกลุ่มเลือดออกในสมองเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 27.58 ซึ่งรุนแรงมากกว่าภาวะขาดเลือดในสมอง” รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธกล่าว

รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธกล่าวว่า ถ้าเรารู้เร็วโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกลับมาหรือรักษาให้กลับมาใกล้เคียงเดิมมีมากขึ้น ซึ่งทางกระทรวงสาธารณะสุขได้รณรงค์โดยใช้คำว่า BEFAST หลักการคือ B : Balance ทรงตัวไม่ได้ เวียนศีรษะ E : Eyes ตามัวมองไม่เห็น เห็นภาพซ้อน F : Face ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว ด้านใดด้านหนึ่ง A : Arm แขนขาอ่อนแรง ด้านใดด้านหนึ่ง S : Speech ลิ้นแข็งพูดติดขัด พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก T : Time รีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดภายในเวลา 3ชั่วโมงครึ่ง โรคทางสมองมันจะมีอาการผิดปกติเป็นซีกใดซีกหนึ่งไม่เป็นทั้ง 2 ข้าง

“ตัวแปรสำคัญคือเวลาถ้าเราไปช้าโอกาสที่เราจะกู้สมองคืนกลับมายิ่งยาก ขนาดไปให้ทันยังมีความยากเลย ถ้าเราไปช้าเราก็จะเสียโอกาสไป หากเกิดสภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงสมองจากการอุดตันของลิ่มเลือด ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่จะล้วงจากหลอดเลือดเอาออกมาได้ โอกาสรอดและกลับมาเป็นปกติมีสูงมาก ซึ่งในทุกโรงพยาบาลในประเทศไทยมีระบบบริการเรื่องนี้โดยเฉพาะหากเกิดข้อสงสัยจะนำมาเข้ารับบริการตรวนี้โดยอัตโนมัติ อีกเรื่องคือภาวะเลือดออกในสมองที่แบบแรกคือทุกคนจะเข้าใจว่าคือเส้นเลือดฝอยแตก

ถ้าเส้นเลือดฝอยมันฉีกขาดมันไม่สามารถซ่อมได้ เพราะมันมีขนาดเล็กเท่าเส้นผม เก่งอย่างไรก็ทำไม่ได้และไม่มีเครื่องมือที่จะทำได้ เพราะเรามีจุดอ่อนทางกายวิภาคที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ต่อมาคือมีการโป่งพอง เป็นลูกโป่งออกมาจากผนังหลอดเลือดและไปชนกับเลือดก็ทำให้เลือดแตกออกมา แบบสุดท้ายคือมีการฉีกขาดของผนังหลอดเลือดและทำให้เลือดค่อยๆ เซาะเข้าไปในผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดการโป่งพอง นี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเลือดออกในสมอง” รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธกล่าว

รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธกล่าวต่อไปว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยง แบบที่ 1 เป็นจากร่างกายของเราเอง เช่น ตามอายุขัย หรือโรคประจำตัว แบบที่ 2 คือจากที่เราทำตัวเราเอง หลักๆ คือสูบบุหรี่ บุหรี่คือตัวร้ายทำให้หลอดเลือดของเราพังตั้งแต่หัวจรดเท้า ความยืดหยุ่นจะเสียไปเร็วมากโอกาสฉีกขาดโอกาสโป่งพองจะสูงมาก หรือเกิดจากยารักษาโรคที่ทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดเราแข็งจนไปอุดหลอดเลือด ต่อมาคือสารเสพติดก็ทำให้เกิดหลอดเลือดในสมองตันเช่นกัน

แบบสุดท้ายคือ สิ่งแวดล้อมเช่น PM2.5 เพราะมันทำหน้าที่เหมือนบุหรี่ แต่เรื่องนี้อาจจะพิสูจน์ยาก อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยและหลักฐานยืนยันว่าภาวะสิ่งแวดล้อมมีผลต่อหลอดเลือดในสมองเช่นกัน” รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธ กล่าว

สำหรับการวินิจฉัยและการรักษา รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธกล่าวว่า หลักๆ คือการไปพบแพทย์และการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือการ CT Scan เพราะในปัจจุบันการทำ CT Scan มีความรวดเร็ว ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 นาที ทำให้ไม่ต้องรอคิว และไม่มีความน่ากลัว แต่สำหรับ MRI Scan ยอมรับว่าบางคนอาจจะมีความกลัวที่แคบ บางคนฟังเสียงไม่ได้ หรือบางคนนอนนิ่งไม่ได้

ความสำคัญคือเวลา ที่จะเป็นตัวกำหนดความรุนแรงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราได้รับการตรวจวินิจฉัยที่เร็ว โอกาสที่จะรอดก็มีสูง แต่คำว่า ‘รอด’ ของผมไม่ได้หมายความว่าจะกลับมาเป็นปกติ 100% อาจจะมีความเสียหายบ้าง ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และตำแหน่งของสมองที่เสียหาย และขึ้นอยู่กับความรุนแรงของหลอดเลือดในสมอง ซึ่งมีโอกาสที่จะกลับมาลุกเดินปกติได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสพิการ หรือมีโอกาสเสียชีวิต” รศ.นท.ดร.นพ. สรยุทธกล่าว

รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธกล่าวด้วยว่า เรื่องของ การป้องกันและการเปลี่ยนพฤติกรรม 1 คือการติดหวาน เนื่องจากการทานหวานจะมีความรู้สึกผ่อนคลาย แต่ปรากฏว่าพอเราอายุมากขึ้น ถ้าเราทานหวานมากเกินไป แต่เราไม่สามารถเบิร์นมันออก เช่น เราทานน้ำตาล ทานแป้งเยอะ แต่ไม่ได้ไปออกกำลังกาย

“วิธีการออกกำลังกายของผมคือการจับชีพจร 130 ครั้ง/นาที ประมาณสัก 10 นาที จะสามารถเบิร์นออกได้ในระดับหนึ่งสำหรับในวัยผู้สูงอายุ แต่ต้องมีความระมัดระวัง เพราะแต่ละคนสภาพร่างกาย หรือโรคประจำตัวอาจจะไม่เหมือนกัน หากถามว่าอัตราการเบิร์นทำอย่างไรเพื่อให้ชีพจรเต้นสัก 130 สิ่งนั้นก็คือการเดินเร็ว และวิ่ง แต่เราต้องจับชีพจรด้วย และถ้าเราติดหวาน ผมไม่ได้บอกว่าให้ทุกคนห้ามกินน้ำตาล แต่ขอให้ลดลง หรือใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งก็ต้องระมัดระวัง

เนื่องจากในปัจจุบันมีการรายงานว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้นอันตราย ซึ่งยังไม่ได้สรุป 100% แต่สารให้ความหวานที่เป็นสมุนไพร อาทิ หญ้าหวาน อาจจะช่วยได้ แต่ว่าต้องระมัดระวัง เพราะมีรายงานว่าในหญ้าหวานอาจจะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด หรือไซลิทอล มีรายงานว่าทำให้หลอดเลือดอักเสบ

ในส่วนของซูคราโลส หรือสารให้ความหวานอื่นๆ คงต้องตามดู แต่อย่าทานเยอะ เอาแค่ให้พอสดชื่น นอกจากนี้ น้ำตาลไม่ขัดสีและน้ำผึ้งก็เป็นน้ำตาล ทำให้ระดับน้ำตาลสูง อีกทั้งยังทำให้หลอดเลือดอักเสบและภาวะหลอดเลือดในสมองผิดปกติ” รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธกล่าว

รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธกล่าวว่า เรื่องการสูบบุหรี่ ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องเลิก และสุดท้ายคือเรื่องแอลกอฮอล์
เคยมีรายงานวิจัยในสมัยก่อนการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ในปริมาณ 250-300 cc แต่ในปัจจุบันการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดมีผลเสียต่อหลอดเลือดสมองและหัวใจ

รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธกล่าวต่อไปว่า สำหรับ บทสรุปและข้อเสนอแนะ เรื่องที่ 1.เป็นเรื่องข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เรื่องของการอยากให้มีการรณรงค์ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะการคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง และภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ

เรื่องที่ 2 คือระบบ Fast track ต่างๆ ปัจจุบันในโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลมีเรียบร้อยแล้ว ขอเพียงแค่ให้เราบอกกับพยาบาลตรงนั้นว่าเรามีความสงสัย stroke หรือสงสัยในภาวะหลอดเลือดในสมองผิดปกติ ซึ่งเขาจะมี Fast track เลย และไม่มีการมาลังเลหรือรีรอ เพราะถ้าพลาดมันเป็นมาตรฐานของโรงพยาบาลที่จะตกเกณฑ์

เรื่องสุดท้าย คือเป็นเรื่องของนโยบายว่าการที่มีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลโรคหลอดเลือดสมองที่มากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลเข้าถึง มันก็จะลดอัตราการตาย ลดความพิการที่จะเกิดขึ้น และลดภาระให้กับสังคมและประเทศชาติ ที่สำคัญก็คือครอบครัวของคนไข้ด้วย

เมื่อถามถึงวิธีการที่จะทำให้ห่างไกลจากโรคนี้ รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธกล่าวว่า ในชีวิตประจำวัน ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการทานข้าวไม่ตรงเวลา และก็ไม่สามารถเลือกได้ ทำให้ต้องทานให้ทันเวลาก่อน แต่สิ่งที่ทำได้ คือเราควรที่จะพิจารณาและควรลงมือทำอย่างจริงจัง เช่น การไม่สูบบุหรี่ และดูแลโรคประจำตัวของตนเอง รวมไปถึงเรื่องการออกกำลังกาย

“อย่างน้อยเราควรทราบว่าเราควรควบคุมอาหารอย่างไร เราจะเบิร์นตอนไหน มีเวลาที่เราได้ใช้ร่างกายเราไปในเชิงสุขภาพบ้าง หรือการออกกำลังกายบ้าง ก็น่าจะเป็นประโยชน์ อีกทั้งยังป้องกันอย่างน้อยประมาณ 70-80% ซึ่งที่ยังไม่กล้าใช้ 90-100% เพราะมันยังมีปัจจัยอื่นที่เราคุมไม่ได้ เช่น พันธุกรรม ยาที่เราจะต้องทานอยู่ หรือภาวะเสื่อมของวัยผู้สูงอายุ

สุดท้ายก็ต้องเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ แต่อย่างน้อยให้เราดึงเวลาได้นานที่สุด ให้คนที่มีช่วงอายุวัยทำงาน ให้เขามีประโยชน์กับครอบครัวกับสังคมและประเทศ ก็จะทำให้เราห่างไกลจากโรคพวกนี้ไปได้ ส่วนเรื่องจิตใจก็ส่งผล ถ้าเกิดว่าเรามีความเครียด ร่างกายเราก็จะหลั่งสารที่เป็นสารอักเสบออกมา ก็จะมีผลต่อหลอดเลือดของเรา ดังนั้นควรที่จะมีการพักผ่อน” รศ.นท.ดร.นพ. สรยุทธกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image