เปิด 13 สวัสดิการ ‘ผู้สูงอายุ’ ที่ทุกคนต้องรู้ ทั้งยืมเงินไร้ดอกเบี้ย-ทุนปรับปรุงบ้าน 4 หมื่นบาท

เปิด 13 สวัสดิการ ‘ผู้สูงอายุ’ ที่ทุกคนต้องรู้ ทั้งยืมเงินไร้ดอกเบี้ย-ทุนปรับปรุงบ้าน 4 หมื่นบาท

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ เครือมติชน ร่วมกับองค์กรและหน่วยงานพันธมิตรสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนจัดงาน Thailand Healthcare 2024 ‘เกษียณสโมสร’ ชวนตรวจสุขภาพฟรี 30 โรงพยาบาลชั้นนำ จัดเต็ม 6 โซนเด่น 4 ไฮไลต์เพื่อสุขภาพ เพื่อฉลองครบรอบปีที่ 16 งานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 ของประเทศ ระหว่างวันที่ 27 – 30 มิถุนายนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศทั่วไป มีผู้เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง กระทั่งเมื่อเวลา 11.10 น. เข้าสู่กิจกรรม Special Talk หัวข้อ ‘สิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้สูงวัยต้องรู้’ โดย กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

Advertisement

น.ส.กอบกุล กวั่งซ้วน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กล่าวว่า สถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีประชากรทั้งประเทศรวม 65 ล้านคน แต่มีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ซึ่งถือเป็นผู้สูงอายุมากกว่า 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดดังนั้นไทยจึงเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสมบูรณ์ แต่จากการคาดการณ์พบว่า ในปีพ.ศ.2576 ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด ที่มีอัตราผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 28 ของประชากร ขณะที่จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง เฉลี่ยปีละ 500,000 คน ส่งผลให้มีวัยแรงงานน้อยลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ในอนาคตไทยจะพบผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน แต่มีเด็กเกิดใหม่เพียงครึ่งเดียว ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนคนวัยแรงงานที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ ปัจจุบันคือคนวัยแรงงาน 3 คน จะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และในอนาคตถ้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดก็จะเหลือคนทำงาน 2 คนดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก

น.ส.กอบกุล กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าผู้สูงอายุในไทยกว่าร้อยละ 97 เป็นกลุ่ม Active aging คือผู้ที่ยังสามารถออกมาทำกิจกรรมต่างๆ และขับเคลื่อนสังคมได้ ส่วนอีกร้อยละ 2 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน และร้อยละ 1 เป็นกลุ่มติดเตียง อย่างไรก็ตาม การที่ผู้สูงอายุจะมีชีวิตที่ยืนยาวต้องประกอบด้วยการมีสุขภาพที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม มีความปลอดภัย มีเงินออมเพื่อการเกษียณซึ่งเรื่องนี้จะต้องเตรียมตัวตั้งแต่เด็ก จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญโดยการให้เด็กรู้จักการออม เพื่อสำรองเงินไว้ใช้จนถึงอายุ 70 – 80 ปี และผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต

Advertisement

น.ส.กอบกุล กล่าวว่า ขณะที่สิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุพ.ศ 2564 ในมาตรา 11 ได้กำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริมและการสนับสนุนในด้านต่างๆ รวม 13 เรื่อง ซึ่งแต่ละข้อก็จะมีเงื่อนไขภายใต้ระเบียบต่างๆ ดังนี้ เรื่องที่ 1 การบริการทางการแพทย์เพื่อให้มีช่องทางเฉพาะ อำนวยความสะดวกให้รวดเร็วให้ผู้สูงอายุ เรื่องที่ 2 การศึกษา การศาสนาและข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต เพื่อให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง จึงมีการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ที่มีประมาณ 2,000 แห่งทั่วประเทศ เรื่องที่ 3 การประกอบอาชีพและฝึกอาชีพที่เหมาะสม ทางกรมกิจการผู้สูงอายุ มีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานในการสร้างอาชีพให้ผู้สูงอายุ เพื่อให้คนเกษียณได้ใช้ประสบการณ์ทำงานต่อ โดยมีความร่วมมือจากเอกชนด้วย ซึ่งทางบริษัทจะต้องออกแบบการทำงานให้เหมาะสมกับสุขภาพและความสามารถของผู้สูงอายุ

น.ส.กอบกุล กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ กองทุนผู้สูงอายุ ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป กู้ยืมเงินโดยไม่มีดอกเบี้ย โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ให้บริการกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ สำหรับรายบุคคล วงเงินไม่เกิน 30,000 บาท รายกลุ่มที่ไม่น้อยกว่า 5 คน วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท และ 2.สนับสนุนเงินอุดหนุนโครงการให้ชมรม องค์กรและเครือข่ายด้านผู้สูงอายุ โครงการขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ขนาดกลางไม่เกิน 300,000 บาท และขนาดใหญ่วงเงินเกิน 300,000 บาทขึ้นไป ซึ่งสามารถไปขอใช้บริการได้ ถ้าเป็นกรุงเทพมหานคร ติดต่อที่กองทุนผู้สูงอายุ บริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี และในต่างจังหวัด ติดต่อได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทุกจังหวัด

น.ส.กอบกุล กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 4 การพัฒนาตนเองและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม การรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่ายหรือชุมชน เรื่องที่ 5 การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในอาคารสถานที่ ยานพาหนะหรือบริการสาธารณะอื่นๆ ซึ่งส่วนนี้ผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจนสามารถขอรับการบริการปรับสภาพสิ่งแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกได้ เช่น ปรับปรุงบ้าน โดยรัฐบาลมีงบประมาณให้ในการปรับปรุงหลังละไม่เกิน 40,000 บาท เพื่อซื้ออุปกรณ์ในการซ่อมแซมและปรับปรุงบ้านเช่นเดียวกับผู้พิการ ซึ่งใครที่พบเห็นสามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขคือ ผู้สูงอายุจะต้องมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่ หรือถ้าเป็นการอาศัยอยู่ในบ้านญาติ สามารถให้เจ้าของกรรมสิทธิ์อนุญาตดำเนินการได้ เรื่องที่ 6 การช่วยเหลือด้านค่าโดยสารยานพาหนะตามความเหมาะสม

น.ส.กอบกุล กล่าวว่า เรื่องที่ 7 การยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวของรัฐ นอกจากนั้นยังได้รับความสนับสนุนจากภาคเอกชนในสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งที่ให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าชมได้ฟรี เรื่องที่ 8 การจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันยังเป็นการจ่ายตามขั้นบันไดตามอายุ อายุ60 – 69 ปี 600 บาท/เดือน อายุ70 – 79 ปี 700 บาท/เดือน อายุ 80 – 89 ปี 800 บาท/เดือน และ อายุ90 ปีขึ้นไป 1,000 บาท/เดือน ส่วนนโยบายจ่าย 1,000 บาทถ้วนหน้า ยังอยู่ในส่วนของการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

น.ส.กอบกุล กล่าวว่า เรื่องที่ 9 การสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณี จำนวน 3,000 บาทโดยต้องเป็นผู้สูงอายุที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น เรื่องที่ 10 การจัดที่พักอาศัย อาหารและเครื่องนุ่งห่มให้ตามความเป็นจําเป็นอย่างทั่วถึง เรื่องที่ 11 การให้คำแนะนํา ปรึกษาดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางคดี หรือในทางการแก้ไขปัญหาครอบครัว เรื่องที่ 12 การช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรมหรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกทอดทิ้ง และเรื่องที่ 13 เรื่องอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการประกาศ

ทั้งนี้ ผู้สนใจเดินทางร่วมได้อย่างสะดวกด้วยรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ลงสถานีสามย่าน ทางออก 2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image