รีบเช็กก่อนสาย! เตือนภัย ‘ไวรัสตับอักเสบบี’ เสี่ยงมะเร็ง 100 เท่า ติดทางเลือด-เพศสัมพันธ์

หมอเตือนภัยเงียบ ‘ไวรัสตับอักเสบบี’ เสี่ยง 100 เท่า ลุกลามเป็น ‘มะเร็งตับ’ โรคร้ายยืน 1 ซ่อนแอบตั้งแต่เกิด ติดทางเลือด-เพศสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ เครือมติชน ร่วมกับองค์กรและหน่วยงานพันธมิตรสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนจัดงาน Thailand Healthcare 2024 ‘เกษียณสโมสร’ ชวนตรวจสุขภาพฟรี 30 โรงพยาบาลชั้นนำ จัดเต็ม 6 โซนเด่น 4 ไฮไลต์เพื่อสุขภาพ เพื่อฉลองครบรอบปีที่ 16 งานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 ของประเทศ ระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศตั้งแต่ 10.00 น. ประชาชนผู้สนใจ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้สูงวัย หลั่งใหลมาต่อคิอตรวจสุขภาพ ในกิจกรรม ‘Thailand Healthcare 2024 เกษียณสโมสร’ โดยลงทะเบียนตรวจสุขภาพฟรี รอบเช้ากันอย่างเนืองแน่น ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด โดยจุดที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ได้แก่ จุดตรวจโรคจากโรงพยาบาลชั้นนำกว่า 30 โรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสภาพการเงิน, เมืองสุภาพ, ผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆ ตลอดจนบูธหนังสือ ‘สำนักพิมพ์มติชน’ ที่จำหน่ายในราคาพิเศษ

Advertisement

เวลา 12.45 น. มีการเสวนา Health Talk : ‘ไวรัสตับอักเสบบี ภัยร้ายก่อมะเร็งตับ’ โดย นพ.วรวัฒน์ แสงวิภาสนภาพร แพทย์เฉพาะทาง สาขาอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ท่ามกลางประชาชนทั้งสูงวัยและเยาวชน ร่วมรับฟังเนืองแน่นหน้าเวที

นพ.วรวัฒน์กล่าวว่า ไวรัสตับอักเสบบี จากข้อมูลล่าสุด ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ตอนนี้พบว่า มะเร็งตับ เป็นมะเร็งอันดับ 1 ในผู้ชายแล้ว ณ ตอนนี้ ในบ้านเรามะเร็งตับส่วนใหญ่ มากจากไวรัสตับอักเสบบี เราเชื่อว่าในประชากรคนไทย จะติดเชื้อ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ของประชาทั้งหมด ตีง่ายๆ คือประมาณ 3.5 ล้านคนขึ้นไป ซึ่งเยอะมาก

แต่ถ้าเรารู้ตัวก่อน ป้องกันก่อน จะไม่มีการดำเนินการของตัวโรค กลายก็ไปสู่โรคมะเร็งตับอีกต่อไป หลักๆ คือเรายังไม่ค่อยรู้ หรือเข้าใจผิด เกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

Advertisement

นพ.วรวัฒน์เผยว่า ไวตับอักเสบในบ้านเรา มี 5 แบบ คือไวรัสตับอักเสบ A B C D แต่ที่จะเกิดเป็นมะเร็งตับได้เยอะและเรื้อรัง คือ B และ C ซึ่งในไวรัสตับอักเสบ B เพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับ ประมาณ 100 เท่า แต่ถ้า C จะอยู่ที่ 20 เท่า

โดยปกติจะมีการติดเชื้อ 2 รูปแบบ คือแบบฉับพลัน กับเรื้อรัง ซึ่งที่เป็นปัญหาอย่างมากในสาธารณสุข คือติดเชื้อแบบเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุหลักประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ติดจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์

“การติดเชื้อจะเกิดขณะคุณแม่กำลังคลอด เพราะเลือดจะสัมผัสกันทำให้ได้รับเชื้อเข้าไป ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กยังไม่มีการสร้างภูมิต้านทาน เพราะฉะนั้น เชื้อจะไปฝังในเซลล์ตับของเรา มันจะเอาดีเอ็นเอของมันไปแฝงในดีเอ็นเอของเรา ไวรัสตับอักเสบบี คือประเภทเรื้อรัง และกลายได้มากสุดคือเป็นมะเร็งตับ” นพ.วรวัฒน์ชี้

นพ.วรวัฒน์ระบุว่า ส่วนแบบฉบับพลัน คือรับเชื้อตอนโต รับได้ตั้งแต่การมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือสัมผัสสารคัดหลั่ง ซึ่งต้องเป็นเลือด น้ำลาย ถ้าไม่มีแผลในช่องปากจะไม่มีโอกาสติดเชื้อ แต่ส่วนใหญ่เป็นเพศสัมพันธ์ กับเลือด คือ 2 ปัจจัยหลัก

“ถ้าได้รับเชื้อตอนโต ร่างกายเรามีภูมิประมาณนึงแล้วจะมีการกำจัดเชื้อได้ บางคนอาจจะมีภาวะดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้อง แต่ในความโชคร้ายก็มีความโชคดี การติดเชื้อตอนโต เรามีโอกาสหายขาดได้ โอกาสเป็นมะเร็งตับจะน้อยกว่า ถ้าไม่ได้ติดเชื้อแบบเรื้อรัง” นพ.วรวัฒน์ระบุ

เมื่อถามถึงวิธีการสังเกตตัวเอง ว่าเราเป็น 1 ในกลุ่มเสี่ยงของไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่ ?

นพ.วรวัฒน์เผยว่า น้อยมากที่เราจะรู้ตัวว่าติดหรือไม่ ถ้ารอจนมีอาการ บางทีสายเกินไป บางคนเข้าใจว่าคุณเป็น ‘พาหะไวรัสตับอักเสบบี’ คุณไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องรักษา คัดกรอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด

“เราเลยแนะนำว่า ถ้าเราต้องค้นหาความเสี่ยงให้เจอ ต่อให้ไม่มีอาการ เช่น เราอาจจะถามคนในครอบครัวตัวเองว่ามีใครเป็นมะเร็งตับหรือเปล่า ค้นหาความเสี่ยง ว่ามีไวรัสตับอักเสบบี ซ่อนตัวในครอบครัวเราหรือไม่ หรือสอง ถ้าทำงานสัมผัสสารคัดหลั่ง เซ็กส์เวิร์กเกอร์ หรือคนที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน อาจจะต้องเช็กเรื่อยๆ” นพ.วรวัฒน์เผย

ทั้งนี้ วิธีสังเกตอาการคือ หากมีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้อง อาจเป็นไวรัสตับอักเสบบีที่เสี่ยงค่อนข้างสูงแล้ว ดังนั้น เราไม่ควรจะรอจนถึงวันที่ตับทำงานไม่ไหว ควรไปประเมินก่อน

“ถ้าเรารอถึงจุดนั้น ตัวโรคกระจาย มันสายเกิดไป วิธีรักษาคือ ‘รู้ก่อน ผ่าตัดได้ หายขาด’ ในปัจจุบันเราเจอคนไข้ก้อนใหญ่ ผ่าตัดไม่ได้ค่อนข้างเยอะ อัตราการอยู่รอดในช่วง 5 ปี ก็จะน้อยลงไป ถ้าเรารู้ก่อน ก้อนเล็กๆ ผ่าตัดหายขาดได้ ไวรัสตับอักเสบบี เป็นภัยเงียบโดยที่เราไม่รู้เลยว่าติดเชื้อหรือเปล่า เราต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง เพื่อค้นหาตัวโรคต่อไป” นพ.วรวัฒน์กล่าว

นพ.วรวัฒน์กล่าวว่า ต้องบอกว่าปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข และโรงเรียนแพทย์ ให้ความสำคัญกับเรื่องไวรัสตับอักเสบบี ค่อนข้างมาก เพราะคนไข้กลุ่มนี้น่าสงสาร อวัยวะอื่นๆ จะล้มตาย ไต ตับ หัวใจ จะทำงานไม่ดีตามไปด้วย เหมือนโดมิโน่ ที่ล้มไปเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ต้องบอกว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เป็นต้นไป ไทยกำหนดให้ วัคซีนไซรัสตับอักเสบบี คือวัคซีนพื้นฐาน ยกเว้นคุณแม่ไม่พาไปฉีด หรือมีการวางแผนการตั้งครรภ์ไม่เหมาะสม จึงไม่ได้รับวัคซีนอย่างเหมาะสม

ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา โอกาสติดไวรัสตับอักเสบบีน้อยลงตามลำดับ แต่ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งการคัดกรองก็ง่ายมาก แค่ตรวจเลือดก็รู้ผลแล้ว

โดยปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าในวัยผู้ใหญ่ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรตรวจ เพื่อวางแผน แต่ถ้ายังไม่มีภูมิ ก็จะฉีดวัคซีน เหมือนกับมะเร็งปากมดลูก ที่ต้องฉีดวัคซีน มะเร็งลำไส้ใหญ่ ต้องคัดกรอง ถ้ายังไม่เคยตรวจต้องไปค้นประวัติในครอบครัว ถ้ามีควรรีบตรวจ

ทั้งนี้ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ มีการตรวจในโปรแกรมคัดกรองสุขภาพอยู่แล้ว ในบรรดาสถานคนที่ทำงาน จะมีการตรวจก่อนรับพนักงานอยู่แล้ว รวมถึงอุตสาหกรรม ร้านอาหาร ที่มีคนหมู่มาก ซึ่งวันนี้ที่ บูธ รพ.จุฬาภรณ์ ก็มีการตรวจด้วย เดินไปลงทะเบียนตรวจได้ฟรี

เมื่อถามว่า ถ้ารู้ว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบีหมายความว่า มีโอกาสพุ่งตรงที่จะเป็นมะเร็งตับเลยหรือไม่ ?

นพ.วรวัฒน์กล่าวว่า ต้องประเมินก่อนว่า มีภาวะตับแข็ง หรือมีมะเร็งไปแล้วหรือยัง ต้องทำอัลตราซาวด์ เช็กการทำงานของตับ ไต และจำนวนปริมาณไวรัสในเลือด ถ้ามากกว่า 2,000 IU/ML ถือว่ามีความเสี่ยง เราเลยต้องทำอัลตราซาวด์ทุก 6 เดือน

แล้วควรจะเริ่มทำอัลตราซาวด์ คัดกรองเมื่อไหร่ แนะนำอายุ 50 ปีขึ้นไป อัลตราซาวด์ ทำไปเรื่อยๆ ทุก 6 เดือนเพราะเราเสี่ยง 100 เท่าอยู่ในตัว ถ้าในผู้ชาย ควรจะเริ่มคัดกรองที่อายุ 40 ปี แต่ถ้าครอบครัวมีประวัติ ต้องรีบคัดกรองเลย ไม่สนอายุ

นพ.วรวัฒน์ชี้ว่า ปัจจัยส่วนใหญ่ คือสัมพันธ์ นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ ก็เป็นปัจจัยสำคัญ

“ใครที่ชอบทานบ่อยๆ อาจะต้องระมัดระวัง เป็นการเพิ่มความเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว อีกอันคือ ความอ้วน ไขมันพอกตับ เรามีข้อมูลมากขึ้น นำไปสู่มะเร็งตับได้เช่นกัน แต่ไม่เท่าไวรัสตับอักเสบบี จำไว้เลย 100 เท่า ดังนั้น เราต้องลดความเสียง ถ้ายังกินแอลกอฮอล์ ยังอ้วนอยู่ จะเกิดเป็นมะเร็งตับได้ไว ตั้งแต่อายุน้อยๆ” นพ.วรวัฒน์กล่าว

เมื่อถามถึงนวัตกรรมปัจจุบัน มีแนวทางรักษาอย่างไรบ้าง ?

นพ.วรวัฒน์กล่าวว่า ดีที่สุดคือไม่เป็น ถ้าเป็นก็ขอให้เป็นระยะต้นๆ แต่ถ้าเป็นระยะหลังๆ แล้ว จริงๆ ก็จะมีการใช้นวัตกรรม ฉีดไปที่ก้อนในตัว กับคุณหมอเอกซเรย์ ทำให้ก้อนนั้นฝ่อ หรือเล็กลง ถ้ามากไปกว่านั้นคือ ใช้เคมีบำบัด โดยรักษาไวรัสตับอักเสบบี ควบคู่กับมะเร็งตับ เพื่อให้ทำงานต่อไปได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

นพ.วรวัฒน์เผยว่า แนวโน้มปัจจุบัน มีคนมาตรวจเยอะขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง ดีกว่าเจอตอนเป็นมะเร็ง งบประมาณประเทศชาติ ใช้ไปกับคนไข้กลุ่มนี้มหาศาล ดังนั้น จะช่วยประหยัดงบประมาณได้ อีกประการคือ เราไม่อยากเห็นคนไข้ทรมาน จากการเป็นมะเร็งตับ เรารู้แล้วว่าแนวโน้มในประเทศเราจะน้อยลงเรื่อยๆ จากการมีนโยบาย ฉีดวัคซีน และคัดกรอง

เมื่อมีผู้สอบถามว่า การรับประทานอาหารร่วมกันบนโต๊ะ อย่างโต๊ะจีน ไม่ได้ใช้ช้อนกลาง ติดไวรัสตับอักเสบบีได้หรือไม่ ?

นพ.วรวัฒน์เผยว่า ไวรัสมีหลายชนิด ซึ่งไวรัสตับอักเสบบี ไม่ได้ติดทางน้ำลาย แต่เอ และอี ติดทางน้ำลายได้

“ปัจจัยหลัก คือการกินข้าวร่วมกัน อาจจะมีการปนเปื้อนอุจจาระ หรือน้ำลาย ดีที่สุดต้องใช้ช้อนกลาง เพราะมีโอกาสติดไวรัสตับอักเสบเอ และอี แต่เรื่องของน้ำลาย ถ้าปากไม่ได้มีแผล หรือเลือดออกในช่องปาก จะไม่ติด แต่ดีที่สุคคือใช้ช้อนกลาง” นพ.วรวัฒน์กล่าว

มีผู้แชร์ประสบการณ์ว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบี ฉีดวัคซีนเป็นเข็มที่ 2 จะป้องกันมะเร็งตับได้หรือไม่ ?

นพ.วรวัฒน์กล่าวว่า ถ้าเป็นแล้ว อาจจะต้องเช็กระดับภูมิในเลือดว่าเหมาะสมหรือไม่ ถ้ายังไม่มีภูมิ อาจจะฉีดได้ แต่ควรไปคัดกรอง เพราะวัคซีนจะไม่ใช่ปัจจัยหลัก สำหรับกลุ่มที่ติดไปแล้ว

โดยแนวทางการรักษา หลักๆ แล้ว มียา เพื่อกินลดความเสี่ยง ปริมาณไวรัสในเลือด และความอักเสบของตับลดลง ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งตับ จาก 100 เป็น 5-10 เท่า แค่กินยาต้านไวรัส

เมื่อมีผู้ถามว่าต้องรู้ผลก่อนใช่หรือไม่?

นพ.วรวัฒน์เผยว่า บางทีอาจจะมีภูมิซ่อนในตัว ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน เพราะนับเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อและหายขาดไปแล้ว

เมื่อถามว่า การฉีดวัคซีน ช่วยป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ ?

นพ.วรวัฒน์เผยว่า ป้องกันได้เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ บางที่บอกว่า ป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ไม่มีวิธีไหนดีเท่ากับการฉีดวัคซีนป้องกันอีกแล้ว นอกจากนี้ ถ้ามีปัจจัยเสี่ยง ต้องลดน้ำหนัก ให้เนื้อตับกลับมาสมบูรณ์มากขึ้น

โดยผู้ที่สอบถาม กล่าวกับคุณหมอว่า ‘อันนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุดเลยคุณหมอ’ ก่อนส่งเสียงหัวเราะ

เมื่อถามว่า เป็นแล้วใช้เวลารักษานานแค่ไหน ?

นพ.วรวัฒน์กล่าวว่า กินยานาน อาจจะ 10 ปีขึ้นไป แต่ถ้ากินยาเม็ดเดียว สามารถลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับไปได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเข้าใจ แต่ดีกว่าเราเป็นมะเร็ง ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิต ดังนั้น การวางแผนรักษาอาจจะไม่เท่ากันในแต่ละคน แต่ต้องกินยานาน เพราะเรารับเชื้อมาตั้งแต่เด็ก มันฝังตัวอยู่ในเซลล์ กว่าจะจัดการได้ต้องใช้เวลานาน ถ้ามีการกำจัดเชื้ออย่างเหมาะสม จะค่อยๆ หายไป

ถ้าเรากังวลว่ามีผังผืดจากอะไร ควรไปตรวจเพิ่ม เพราะยังมีโรคตับอีกหลายประเทศ ที่ซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง อาจจะต้องดูเป็นรายๆ ไป
ถ้าใครไม่เคยตรวจ แนะนำไปตรวจ ในประเทศที่มีความชุกของไวรัสตับอักเสบบีเยอะๆ ควรไปคัดกรอง ซึ่งค่าใช้จ่ายไม่สูง หากเป็นราชการเบิกได้ นอกจากนี้ ประกันสังคมก็สามารถเบิกได้ แต่มีอัตราการตรวจระบุอยู่

ถ้าใครกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่ ไปบูธ รพ.จุฬาภรณ์ก่อนได้เลยในวันนี้ มีบริการตรวจฟรี

จากนั้น มีเยาวชนรายหนึ่งสอบถามว่า วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี รวมอยู่ในวัคซีนที่ฉีดตอนเด็กหรือไม่ ?

นพ.วรวัฒน์เผยว่า วัคซีนรวมมีหลายประเภทมาก ต้องเช็กที่สมุดวัคซีน ถ้าหาไม่เจอ เช็กจากเลือดได้ว่าเรามีภูมิหรือยัง ถ้ามี คือเรารับวัคซีนแล้ว

“บางอย่างเราต้องค้นหาความเสี่ยง รู้ก่อน รักษาก่อน วันนี้มีผู้รู้มาเล่าให้ฟัง เราจะได้ป้องกันตัวเองได้มากขี้น เพราะรู้อะไรไม่สู้ ‘รู้งี้’ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เข้าสู่กระบวนการรักษาก่อนต่อให้เป็นภัยเงียบแต่ไหน ก็ป้องกัน จะได้มีความสุขกับการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ ปัจจุบันมีเทคโนโลยี เครื่องมือมากมาย ไม่ต้องกังวล วางแผนการรักษาได้” นพ.วรวัฒน์กล่าว


ทั้งนี้ ภายในงาน นอกจากการตรวจ สุขภาพฟรี จาก 30 โรงพยาบาลชั้นนำ ยังมี 30 เวทีเสวนาที่ดีที่สุดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ, ช้อปเพลินกับ 100 ร้านค้าเพื่อสุขภาพ, และ 6 กิจกรรมไฮไลต์ตลอดงาน, ฟรี 4 สมุนไพรชะลอวัย อภัยภูเบศร ไปจนถึงชาริตี้ ‘สอยดาวสุขใจ’ ที่รายได้มอบให้โรงพยาบาลเพื่อเป็นสาธารณกุศล

พบกันที่งาน ‘Thailand Healthcare 2024 เกษียณสโมสร’ วันนี้-30 มิถุนายนนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น. ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เดินทางสะดวกปลอดภัยด้วยรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ลงสถานีสามย่าน ทางออก 2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image