อายุรแพทย์ ชวนปรับมายด์เซต เลี่ยงหวาน-มัน ป้องกัน ‘ไขมันพอกตับ’ ชี้ลดเสี่ยงมะเร็งแรงก์1

อายุรแพทย์ ชวนปรับมายด์เซต เลี่ยงหวาน-มัน ป้องกัน ‘ไขมันพอกตับ’ ชี้ลดเสี่ยงมะเร็งแรงก์ 1

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ เครือมติชน ร่วมกับองค์กรและหน่วยงานพันธมิตรสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนจัดงาน Thailand Healthcare 2024 ‘เกษียณสโมสร’ ชวนตรวจสุขภาพฟรี 30 โรงพยาบาลชั้นนำ จัดเต็ม 6 โซนเด่น 4 ไฮไลต์เพื่อสุขภาพ เพื่อฉลองครบรอบปีที่ 16 งานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 ของประเทศ ระหว่างวันที่ 27 – 30 มิถุนายนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศตั้งแต่ 10.00 น. ประชาชนผู้สนใจ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้สูงวัย หลั่งใหลมาต่อคิวตรวจสุขภาพ ในกิจกรรม “Thailand Healthcare 2024 เกษียณสโมสร” โดยลงทะเบียนตรวจสุขภาพฟรี รอบเช้ากันอย่างเนืองแน่น ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด โดยจุดที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ได้แก่ จุดตรวจโรคจากโรงพยาบาลชั้นนำกว่า 30 โรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสภาพการเงิน, เมืองสุภาพ, ผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆ ตลอดจนบูธหนังสือ “สำนักพิมพ์มติชน” ที่จำหน่ายในราคาพิเศษ

เวลา 17.15 น. เริ่มกิจกรรมHealth Talk หัวข้อ “เคล็ดลับตับดี…ห่างไกลไขมันพอกตับ” โดย นพ.ธราธิป ประคองวงษ์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน

Advertisement

ในตอนหนึ่ง นพ.ธราธิปกล่าวว่า ตับของเราทำหน้าที่หลายอย่างมาก ตั้งแต่กำจัดสารพิษออกจากร่างกาย เช่น กินยาพาราเซตามอลเยอะเกินไป ดื่มเครื่องดื่มแอลกอลฮอล์ ก็จะกำจัดสารพิษออกไป หรือ เวลาเรารับประทานไขมันเข้าไป ตับก็ดูดซึมไขมันมาผลิตเป็นน้ำดี ซึ่งก็ทำหน้าที่ย่อยไขมัน และทำให้อุจจาระของเราเป็นสีเหลืองด้วย

“นอกจากนั้น พอเรารับประทานอาหารเข้าไป ก็จะสกัดพวกวิตามิน หรือ เก็บไว้ในตับ เช่น วิตามิน A, วิตามินB, วิตามิน C, วิตามิน B12 และพวกสารบางอย่างพวกเหล็ก และ ทองแดง ที่จำเป็นของร่างกายด้วย” นพ.ธราธิปเผย

นพ.ธราธิปกล่าวว่า หน้าที่ของตับยังผลิตฮอร์โมนผลิตสาร Amino Acid ซึ่งจะเป็นสารตั้งต้นของการผลิตฮอร์โมนต่างๆ เช่น ไทรอยด์ฮอร์โมน หรือ ฮอร์โมนที่ช่วยสังเคราะห์วิตามิน D

Advertisement

“หน้าที่ของตับยังช่วยเรื่องการแข็งตัวของเลือด เรื่องจากตังสามารถผลิตโปรตีนบางอย่างที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือดได้ ฉะนั้นถ้าคนที่ป่วยเป็นตับแข็ง การแข็งตัวของเลือดเขาก็จะไม่ดี คือ เลือดออกแล้วก็หยุดยาก รวมถึงการผลิตอาหารต่างๆและสะสมพลังงานในร่างกายของเรา ซึ่งถ้าสะสมเยอะเกินไปก็จะทำให้เกิดโรคไขมันเกาะตับได้” นพ.ธราธิปชี้

เมื่อถามถึงโรคเกี่ยวกับตับมีอะไรบ้าง?

นพ.ธราธิป กล่าวว่า มีหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งถ้ามักเจอในคนไทยส่วนใหญ่ คือ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสตับอักเสบเอ แต่ที่อยากเน้นย้ำคือไวรัสตับอักเสบบี เพราะคนไทยบางส่วนจะอพยพมาจากเมืองจีน คนไข้ในกลุ่มนี้บางครั้งก็จะมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีซ่อนอยู่ ตอนวัยหนุ่มสาวไม่มีอาการ แต่จะมีอาการช่วงวัยกลางคน แล้วก็ไม่ได้สนใจมัน แต่มันเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของโรคมะเร็งตับในประเทศไทย

“ถ้าใครเป็นไวรัสตับอักเสบบีอยู่ อย่างน้อย 3 เดือน หรือ 6 เดือน ก็ควรไปพบแพทย์ เช็กเลือดเราไม่ดี คุณหมอก็จะเริ่มพิจารณาการให้ยา ซึ่งมีความสำคัญเพราะว่า ถ้าค่าตับยังสูงขึ้นจากไวรัสตับอักเสบบี ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้ มันจะกลายเป็นตับแข็งตอนอายุเยอะ บางคน 40 ปี เป็นมะเร็งตับจากไวรัสตับอักเสบบีก็มี หรือ บางคนเคยเช็กอัพเรื่องอื่น เบาหวาน หัวใจ ทุก3เดือน แต่ไม่เคยเช็กเรื่องไวรัสตับอักเสบบีและตับ พอมันมีอาการตอนมันเป็นเยอะ มันจะรักษายาก แต่ถ้าเรารู้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการจะรักษาได้ง่ายมาก” นพ.ธราธิปเผย

นพ.ธราธิปกล่าวว่า ปัจจุบันพวกอาหารเสริม หรือ สมุนไพรบางชนิด มันไม่สามารถขจัดออกจากตับได้ พวกนี้จะทำให้เกิดค่าตับขึ้น หรือ ตาเหลืองเกิดขึ้นได้เหมือนกัน เราจะต้องระมัดระวังในการรับประทานเช่นกัน

นพ.ธราธิปกล่าวอีกว่า โรคอื่นที่เกิดขึ้น คือ พวกไขมันพอกตับ มันเกิดจากการที่เราทานอาหารพวกน้ำตาล หรือ คาร์โบไฮเดรตที่ค่อนข้างสูง รวมถึงอาหารมันด้วย ก็เป็นโรคที่ปัจจุบันมาแรงและเจอได้บ่อย

“สุดท้ายระบบเกี่ยวกับท่อน้ำดี เช่น นิ่ว มันเกิดจากการที่เรากินไขมันเข้าไปเยอะ ไขมันตกตะกอนในถุงน้ำดี ก็หลุดมาอุดตรงท่อน้ำดี ทำให้เกิดถุงน้ำดีอักเสบ แล้วก็พวกมะเร็งต่างๆ ทั้งมะเร็งเนื้อตับ มะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งประเทศไทยเจอมะเร็งตับเป็นอับดับ 3 เจอได้บ่อยมาก หรือ มะเร็งท่อน้ำดีในไทยโดยเฉพาะภาคอีสาน เจอมะเร็งท่อน้ำดีเยอะที่สุด น่าจะเกิดจากการกินปลาน้ำจืดดิบๆ เช่น ปลาร้า ดังนั้นเรากินอาหารปกติก็เพียงพอแล้ว” นพ.ธราธิประบุ

เมื่อถามถึงโรคไขมันพอกตับ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

นพ.ธราธิปกล่าวว่า ตามจริงแล้วเนื้อตับปกติมีสีแดงคล้ำๆนิดหน่อย ถ้าเอาชิ้นเนื้อไปตรวจดูก็จะลักษณะเซลล์ตับ เล็กๆ แต่ถ้าเรากินอาหารหวานและมันมากเกินไป ตัวตับมันก็จะขนายขนาดขึ้น
อาจจะใหญ่ขึ้นเล็กน้อย ไม่ได้ขนาดถึงกับใหญ่ขึ้นมากจนคลำได้ แต่พอเอาเนื้อตับมาตรวจดูจะเจอจุดขาวๆที่แทรกขึ้นมา คือ ไขมัน สะสมอยู่ในตับ และไม่สามารถขจัดไปได้ อันนี้ก็เป็นกลไกสำคัญที่ไขมันเกาะตับ

“การวินิจฉัยว่าเป็นไขมันเกาะตับ จะดูจากไขมันที่มากกว่า 5-10 เปอร์เซ็นต์ บางครั้งเราจะเห็นสีคล้ำขึ้นมา มันเป็นโรคเกี่ยวกับไขมันที่เกิดขึ้น จากสาเหตุที่คนเข้าใจว่าเป็นเพราะอาหารมันเป็นหลัก แต่ตามจริงแล้วเป็นแค่ส่วนน้อย

ทุกอย่างมันเริ่มต้นที่น้ำตาลกลูโคส มันไม่ใช่แค่น้ำตาลอย่างเดียว มันรวมถึงการที่เรากินแป้ง เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว มันบด เฟรนช์ฟรายส์ ขนมหวานต่างๆ สุดท้ายมันจะผ่านกระบวนการย่อยมาเป็นกลูโคส แล้วพอเรากินน้ำตาลมา อินซูลินที่จะหลั่งออกมาจะกระตุ้นกระบวนการที่เรียกว่า ‘Lypogenesis’ หรือ กระบวนการสังเคราะห์ไขมัน สุดท้ายมันจะเป็น free fatty acids รวมกันเป็นไขมันตัวนี้ ก็จะทำให้เกิดโรคไขมันต่างๆ เช่น อ้วนเบาหวาน ผลเลือดที่ไม่ดี อยากให้ปรับมายด์เซ็ตว่า ไขมันมันเกาะตับส่วนใหญ่ เกิดจากอาหารหวานและคาร์โบไฮเดรตที่เยอะเกินไป” นพ.ธราธิประบุ

เมื่อถามถึงกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไขมันพอกตับ?

นพ.ธราธิปกล่าวว่า ไขมันเกาะตับมันจะมาเงียบๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว กลุ่มแรก คือ คนไข้ที่น้ำหนักตัวเยอะ ดัชนีมวลกายเกิน 23 ขึ้นไป อันนี้เป็นความเสี่ยงมาก ถ้าใครรู้สึกว่าตัวเองอ้วนให้ไปทดสอบดู ถ้ารู้สึกว่าเริ่มใส่กางเกงตัวเดิมไม่ได้ ต้องไปเช็กเรื่อยๆ ไปทำไฟโบรสแกน หรือ คุยกับคุณหมอว่ามีไขมันเกาะตับหรือเปล่า

“กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ไม่ได้อ้วนแต่ผลเลือดแย่ ซึ่งมักจะมีพุง มักเรียกว่า อ้วนลงพุง สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารของหวาน และคาโบไฮเดรตมากเกินไป มักจะเกิดขึ้นในผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่า 80 เซ็นติเมตร หรือ ผู้ชายรอบเอวมากกว่า 90 เซ็นติเมตร ซึ่งอ้วนลงพุงมันมักจะมาพร้อมกับเพื่อนเขา คือ ภาวะความดันโลหิตสูงเล็กน้อย น้ำตาลในเลือดสูงแต่ยังไม่เป็นเบาหวาน ผลเลือดแย่” นพ.ธราธิปกล่าว

นพ.ธราธิปกล่าวว่า รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์มีส่วนด้วยเช่นกัน ของหวาน คาร์โบไฮเดรตเยอะ ของมันก็มีส่วน ซึ่งตามจริงแล้วยุคก่อน สมัยพ่อแม่เรากินน้ำพริกปลาทู ไม่มีเลย แต่ปัจจุบันตรวจคนไข้อายุ 24 ปี เป็นเบาหวานแล้ว

นพ.ธราธิปกล่าวต่อว่า กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มดื้ออินซูลิน ที่ตามปกติแล้วเรากินน้ำตาลเข้าไป จะมีอินซูลินลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่คนไข้กลุ่มนี้อินซูลินทำงานไม่ไหวแล้ว ร่างกายเอาน้ำตาลไม่ลง จนน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนเป็นภาวเบาหวาน ซึ่งทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามันจะไปจบที่ภาวะแทรกซ้อนของโรค เช่น ตามองไม่ชัเ ไตวาย แผลเรื้อรัง ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงเป็นโรคจากไขมันเกาะตับทั้งนั้น ดังนั้นเราบางอย่างให้มันดีขึ้น

เมื่อถามถึงสาเหตุของไขมันพอกตับ มีอะไรบ้าง?

นพ.ธราธิปกล่าวว่า ไขมันเกาะตับอาจจะเกิดจากอาหารที่รู้สึกว่าไม่ได้หวาน มันดูไม่มีพิษมีภัยต่อร่างกายเราเลย เช่น ไอศกรีม 1 แท่ง น้ำตาลตกประมาณ 7-8 ก้อน คุกกี้ 4 ชิ้น น้ำตาลตกประมาณ 8 ก้อน ช็อกโกแลต 2 ชิ้นเล็ก น้ำตาลประมาณ 4-5 ก้อน แต่ถ้าน้ำอัดลมเทียบน้ำตาล 14 ก้อน

“พวกนี้มันไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มันได้แต่ความอร่อย พวกนี้นานทีกินได้ แต่ใครที่บางทีพักเที่ยง พักเบรก กินสัก 1 ขวด รวมถึงเด็กๆด้วยที่กินช็อกโกแลตเยอะๆ อายุน้อยก็เจอเบาหวานได้ เดี๋ยวนี้อายุน้อยกว่า 15 ปี เจอเบาหวานได้บ่อย

ผมเคยมีคนไข้คนหนึ่งเป็นไขมันเกาะตับ ค่าตับสูงมาก ก็ซักประวัติว่าเขากินอะไร ทำไมเป็นไขมันเกาะตับ สรุปว่าเขาชอบกินชามนมไข่มุก วันละ 2 แก้ว ผมบอกคุณหยุดเลยนะ แล้วอีก3เดือนมาเจอกัน พบว่าแค่หยุดชานมไข่มุก น้ำหนักหายไปประมาณ 5 กิโลกรัม” นพ.ธราธิปกล่าว

เมื่อถามการแบ่งระยะของไขมันพอกตับ?

นพ.ธราธิปกล่าวว่า สีตับปกติจะมีสีแดงคล้ำๆ แต่ถ้าเป็นมีไขมันพอกตับ สีมันจะเหมือน ‘ฟัวกราส์‘ ที่เรากินกัน พอไขมันมันเยอะขึ้นมากไปแล้ว ร่างกายกำจัดออกไม่ได้ มันก็จะให้เซลล์เม็ดเลือดขาว พยายามกำจัดไขมันส่วนเกิน แต่ก็ทำลายเซลล์ตับไปด้วย จนเกิดพังผืดในตับ

นพ.ธราธิปกล่าวอีกว่า เวลาเซลล์ตับมันตาย มันจะกองรวมกันคล้ายสุสาน คือ พังผืด ซึ่งจะเป็นตัววัดสำคัญว่าไขมันเกาะตับมันจะรุนแรงขนาดไหน มีทั้งหมด 4 ระดับ ถ้าอยู่ระดับ 2 ขึ้นไป อันนี้ซีเรียสแล้ว คุณต้องตรวจชิ้นเนื้อตับ หรือ ไฟโบรสแกน (FibroScan) มันดูแค่ค่าตับอย่างเดียวไม่ได้ เช็กเลือดอย่างเดียวไม่ได้ พวกนี้ต้องไปสแกนดู หรือ เอาชิ้นเนื้อมาตรวจดูว่า ตับมันใกล้แข็งแล้วหรือยัง

“สุดท้ายถ้าเราไม่ทำอะไร ปล่อยตัวเองไปเรื่อยๆ พฤติกรรมเหมือนเดิม ไม่ออกกำลังกายเหมือนเดิม ก็จะเป็นตับแข็ง อันนี้อัลตราซาวด์ก็จะเห็น และสุดท้ายก็จะจบที่มะเร็ง เราก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ดังนั้นเราต้องมาตรวจดูก่อน แล้วจะได้จัดการตัวเองให้ถูกต้อง” นพ.ธราธิปชี้

เมื่อถามว่าโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน มีการตรวจอย่างไรบ้าง?

นพ.ธราธิปกล่าวว่า การตรวจสุขภาพตับมีหลายแบบ อันดับแรก คือ เรื่องของการเจาะเลือด เอาเลือดมาตรวจดูว่า เคยเป็นไวรัสตับอักเสบบีหรือยัง มีภูมิแล้วหรือยัง นอกจากนั้นตรวจว่าค่าตับเป็นอย่างไร ค่าน้ำดี ค่าความเหลือง ซึ่งการตรวจเลือดก็จะสามารถตรวจดูได้หลายค่า รวมถึงอัลตร้าซาวนด์ดูนิ่วในถุงน้ำดี ดูว่ามีก้อนในตับหรือเปล่า มันไม่ได้เจ็บเลย ก็จะสามารถดูได้ว่าจะเข้าสู่ภาวะตับแข็งหรือยัง ดังนั้นเริ่มต้นก็ตรวจเลือดและอัลตราซาวด์ดูก่อน

เมื่อถามถึงจุดเด่นนวัตกรรม ไฟโบรสแกน (FibroScan)?

นพ.ธราธิปกล่าวว่า เขาจะใช้การปล่อยคลื่นเสียงออกไป แล้วดูการสะท้อนกลับของคลื่นเสียง ถ้ามันโดนของแข็งมันจะสะท้อนกลับเร็ว แสดงว่าตับเริ่มแข็งแล้ว ถ้าสะท้อนช้าแสดงว่าตับยังดีอยู่ มันเป็นการคำนวณว่า ตับมีพังผืดแล้วหรือยัง ไม่ต้องผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ มันไม่เจ็บ ทำซ้ำได้ และราคาไม่แพง

“กลุ่มที่คนคิดว่าควรจะมาทำสแกนตรวจพังผืด คือ กลุ่มคนที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าเป็นโรคตับ ทานอาหารเสริมเป็นประจำ คนที่กินแอลกอฮอล์เยอะๆ กินเป็นอาจิณ ดื่ทที่บ้านบ่อยๆ บางทีพวกนี้เขาเป็นไม่รู้ตัว รวมถึงกลุ่มอ้วนลงพุง จะเสี่ยงโรคหัวใจและอัมพฤกษ์ติดเตียง โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคไขมันพอกตับแล้วต้องไปดู” นพ.ธราธิปชี้

นพ.ธราธิปกล่าวว่า สำหรับคนที่สนใจดูแลตับ สงสัยว่าตัวเองเป็นโรคตับ หรือ มีปัญหาเกี่ยวกับตับก็แนะนำให้มาเยี่ยมชมที่บูธของโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนดู

“เราจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความรู้และแนะนำ รวมถึงการตรวจไฟโบรสแกน (FibroScan) หรือ แพ็กเกตการตรวจสุขภาพตับที่คุ้มค่า คุ้มราคา ซึ่งจะทำให้คนให้ได้รับการตรวจที่คุ้มค่าและเหมาะสมได้” นพ.ธราธิปทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image